เสวนา “แต่ถึงรบไม่ขลาด”: เมื่อไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

ในวาระการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา จะครบ ๘๐ ปีในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะจัดงานเสวนาวิชาการเพื่อย้อนพินิจนโยบายต่างประเทศและการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในการพาไทยเข้าร่วมสงครามกับกองทัพแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ การดำเนินนโยบายและการตัดสินใจดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจพลวัตการเมืองภายใน และการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค ในช่วงเวลารอยต่อสำคัญยิ่งที่มีผลพลิกเปลี่ยนการจัดอำนาจระหว่างสมาชิกคณะราษฎรด้วยกัน ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งการพลิกความสำเร็จของการต่างประเทศไทยก่อนหน้านั้นไปสู่ความล้มเหลว ในระดับระหว่างประเทศ การเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้ไทย ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์กลายเป็นฐานที่มั่นสำหรับการทำสงครามของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในดินแดนอาณานิคมของตะวันตก และการก่อตัวของขบวนการประชาชาติต่อสู้กับประเทศเจ้าจักรวรรดิเพื่อเอกราช แม้ในเวลาต่อมา การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา จะถือว่าเป็น “โมฆสงคราม” แต่ก็ยังมีเหตุผลที่ควรแก่การติดตามการทำสงครามคราวนี้ กล่าวคือ พลังผลักดันพลวัตที่นำไปสู่การตัดสินใจนี้ และการตอบสนองที่สร้างพลวัตตามมาหลังจากการตัดสินใจทำสงคราม ยังเป็นเรื่องน่าย้อนพินิจเพื่อทำความเข้าใจสถานะสงครามที่ส่งผลต่อระบอบการเมืองและผลลัพธ์ทางการเมืองในระหว่างสงคราม  ดังมีข้อเสนอทางทฤษฎีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ว่าไม่เคยมีการรบสงครามระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่เปลี่ยนสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามมาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของคณะราษฎร และการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในสิบปีต่อมา จึงนับเป็นข้อแย้งสำคัญต่อข้อเสนอทางทฤษฎีเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี บุคคลร่วมสมัยในแวดวงการทูตและการต่างประเทศ ยังมีความเห็นไม่ตรงกับความเข้าใจของนักประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักในปัจจุบันในเรื่องระบอบการปกครองหลัง ๒๔๗๕ ที่ฝ่ายหลังเห็นว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยและยกย่องบทบาทของจอมพล ป . ในฐานะผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยคนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้  บทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งในการเมืองภายในคณะราษฎร และการเมืองภายในกับการต่างประเทศที่ส่งผลต่อรูปการณ์ของระบอบการปกครอง จึงเป็นประเด็นที่น่าเปิดเสวนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงกำหนดจัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “แต่ถึงรบไม่ขลาด”: เมื่อไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

วันที่ 25 มกราคม 2565 13.30 – 15.30 น.

วิทยากรร่วมเสวนา      

พันเอก ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ           อาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเจ้า

อาจารย์ ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล           คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ      คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์      คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ          

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีวินท์ สุพุทธิกุล    คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย