รายงานการวิจัย เรื่อง ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาเขตควบคุมมลพิษในเขตปริมณฑล

ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาเขตควบคุมมลพิษในเขตปริมณฑล
Potential of Local Authorities in Environmental Management: Case Studies of Pollution Control Areas in Bangkok Region         
         
          “นับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ที่ประกาศให้มีเขตควบคุมมลพิษ เพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับท้องที่ และมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศให้เขตพื้นที่ในหลายจังหวัดเป็นเขตควบคุมมลพิษโดยเฉพาะในเขตเมืองและชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตควบคุมมลพิษของจังหวัดในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อันได้แก่ ท้องที่เขตจังหวัดสมุทรปราการ ท้องที่เขตจังหวัดนนทบุรี ท้องที่เขตจังหวัดปทุมธานี ท้องที่เขตจังหวัดนครปฐม และท้องที่เขตจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการดำเนินการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการถ่ายโอนภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภารกิจดังกล่าว ยังคงมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นที่น่าสนใจว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่เช่นไร
         
           การวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นศึกษาถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ในฐานะที่เป็นเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษพื้นที่หนึ่ง เพื่อสามารถประเมินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมมลพิษ รวมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพในด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอแนะแนวทางการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้เป็นหลักประกันขั้นต้นว่าประชาชนในพื้นที่จะได้รับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐาน และเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่อื่น ๆ ที่ต่อเนื่องต่อไป
           
            ในการดำเนินการวิจัยผู้วิจัยได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากคณะผู้ช่วยวิจัยอันประกอบด้วย นาย วรัญญู เสนาสุ ช่วยเก็บข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก ค้นคว้าเอกสาร งานวิชาการและเรียบเรียงเนื้อหาในเบื้องต้น  นางสาวนิตยา โพธิ์นอก ช่วยพัฒนารูปแบบการนำเสนอและปรับปรุงเนื้อหาตามคำแนะนำของนักวิจัย  นางสาวสุนีย์ สละคต ช่วยจัดพิมพ์และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และประสานงานทั่วไป และ นักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ศึกษาจังหวัดต่างๆ ทำให้งานวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจต่อไป”
 
ผู้วิจัย    รองศาสตราจารย์ ดร.โสภารัตน์  จารุสมบัติ  
              คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์