แนะนำหนังสือน่าอ่าน โดย อ.ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)

#อยู่บ้านอ่านหนังสือ ใครอยู่บ้านแล้วเบื่อๆ เหงาๆ หยิบหนังสือมาอ่านกันได้นะคะ แถมช่วงนี้มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (จัดแบบออนไลน์) ตั้งแต่วันนี้- 5 เม.ย. เข้าไปช้อปกันได้เลยแบบไม่ต้องกลัวติดโรค
.
สำหรับวันนี้ เรามีหนังสือกึ่งวิชาการ 3 เล่มมาแนะนำ เขียนโดยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีลักษณะก้าวหน้า ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจการปฎิรูปสังคมในยุคแห่งความเหลื่อมล้ำและยุคที่สภาพภูมิอากาศเข้าขั้นวิกฤตแบบนี้
.
👉แนะนำโดย อ.ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)
.
🔷 Can the Welfare State Survive? (Gamble, Andrew. 2016)
ในหนังสือสั้นๆและอ่านง่ายเล่มนี้ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงปัญหาของรัฐสวัสดิการในประเทศตะวันตก เช่น ความกังวลว่าการมีรัฐสวัสดิการจะทำให้ประเทศไม่สามารถแข่งขันสู้ประเทศอื่นได้ภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ปัญหาจากการที่สัดส่วนของประชากรที่สูงอายุจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับวัยแรงงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับภาระทางงบประมาณของรัฐและแรงต้านทางการเมืองต่อการเก็บภาษีที่สูงขึ้น นอกจากนั้นผู้เขียนได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาและปฏิรูปการจัดสวัสดิการ และได้ให้เหตุผลว่าทำไมรัฐสวัสดิการนั้น ‘ควรจะ’ และ ‘สามารถ’ คงอยู่ต่อไปได้ หากมีความตั้งใจทางการเมืองเพียงพอในการปฏิรูป ซึ่งถึงแม้ว่าเนื้อหาในหนังสือจะเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศตะวันตก แต่ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย
.
🔶 The Case for the Green New Deal (Pettifor, Ann. 2019)
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความคิดเรื่อง Green New Deal ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างเพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งในปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ โดยหนังสือเล่มนี้ได้เปรียบเทียบข้อเสนอเชิงนโยบายแนว Green New Deal ของทั้งสองประเทศ และเสนอคำอธิบายว่าทำไมความไม่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมถึงฝังรากอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงกับความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวเคนส์และเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ ซึ่งผู้เขียนให้ภาพรวมได้อย่างน่าสนใจโดยไม่ใช้ภาษาเชิงเทคนิคจนเกินไป เหมาะกับผู้ที่สนใจเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศขั้นวิกฤตในมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์
.
🔷 How to Be an Anticapitalist in the Twenty-First Century (Wright, Erik Olin. 2019)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตของผู้เขียน ซึ่งพัฒนามาจากหนังสือวิชาการเล่มยาวของผู้เขียนชื่อ Envisioning Real Utopias โดยมีการปรับภาษาให้กระชับและอ่านง่ายมากขึ้น ส่วนแรกของหนังสือวิพากษ์ระบบทุนนิยมโดยยึดมั่นในหลักการต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมและยุติธรรม ประชาธิปไตยและเสรีภาพ ความเป็นชุมชนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ก่อนจะอธิบายถึงวิธีต่างๆในการต่อต้านระบบทุนนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยผู้เขียนสนับสนุนวิธีปฎิรูประบบทุนนิยมแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนั้นยังวิเคราะห์การปฏิรูประบบการเมืองควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายตัวแสดงทางการเมืองที่จะสนับสนุนการปฏิรูปเชิงก้าวหน้าที่น่าสนใจ
.
#stayhomesavelives#socialdistancing#เราจะผ่านมันไปด้วยกัน