หลัง 16 สิงหา:ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชกับโชคชะตาแห่งการรอดพ้นจากบริเตน

ก่อนอื่นเลยขอเรียนท่านผู้หลงเข้ามาอ่านว่าบทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของข้าพเจ้าที่ยังค้างคาไม่สำเร็จดีและยังหาทุนสนับสนุนอย่างเป็นทางการไม่ได้ แต่ข้อค้นพบหลายประการสอดคล้องกับเหตุการณ์และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนเพื่อที่จะเผยแพร่เนื้อหาให้ร่วมสมัย

แน่นอนว่าในวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีนั้นจะมีงานเสวนาหรือบทความข้อคิดทางประวัติศาสตร์สั้น ๆ เพื่อระลึกถึงคุณูปการของการประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้เป็นวันสันติภาพ หนึ่งในความรู้ความเข้าใจทั่วไปก็คือการที่ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ประกาศให้การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยได้กระทำต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ พร้อมยกดินแดนสี่รัฐมลายูที่ได้จากญี่ปุ่นคืน อีกทั้งยังตั้งใจจะร่วมมือในทุกประการกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประกาศดังกล่าวนั้นได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภา [1] เรื่องเล่าดังกล่าวหาได้มีความพิเศษแต่อย่างใดในการนำมาใช้พูดคุยถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของปรีดีในการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านตลอดระยะช่วงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นตลอดช่วงสงคราม

เป็นที่แน่ชัดว่าการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านใต้ดินนั้นมีส่วนช่วยในการให้ไทยในเวลานั้นมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม แต่นั่นมิได้หมายความว่าการประกาศสันติภาพวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้นจะช่วยให้ไทยรอดพ้นจากอิทธิพลของบริเตนใหญ่ในการเข้ามาควบคุมและสร้างข้อเรียกร้องหลายสิ่งอย่างต่อไทย อันที่จริงต้องกล่าวว่า การประกาศสันติภาพวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวอันสวยงาม เพราะหากพิจารณาจริง ๆ แล้วนั้น หมุดหมายที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การยกเลิกสถานะทางสงครามกับบริเตนใหญ่นั้นคือเอกสารลงนามในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ที่รู้จักกันในชื่อ “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” (Formal Agreement for the Termination of the State of War between Siam and Great Britain) กล่าวคือ จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 จวบจนถึง มกราคม พ.ศ. 2489 นั้นเป็นระยะเวลาเกือบสี่เดือนกว่าที่จะบรรลุข้อตกลงระหว่างสองชาติ คำถามคือหากว่าวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 มีผลอย่างที่เผลอคิดกันไปว่าช่วยให้ไทยรอดพ้นจากสงครามนั้น เราจะอธิบายช่วงระยะเวลาเกือบสี่เดือนที่ว่าอย่างไร

แน่นอนว่าการศึกษาประเด็นการเจรจาของไทยต่อบริเตนและสหรัฐอเมริกาหลังสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งมีงานจำนวนหนึ่งที่นำเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมาใช้ [2] ซึ่งงานหลายชิ้นล้วนมีข้อสรุปที่ไม่แตกต่างกันมากนักกล่าวคือ งานเหล่านั้นจะฉายภาพให้เห็นว่าท้ายที่สุดสหรัฐฯเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยให้ไทยรอดพ้นสงคราม กล่าวคือ งานลักษณะนี้ตั้งอยู่บนการอธิบายการทูตและการเจรจาต่อรองระหว่างสามชาติในช่วงการเจรจาหลังสงคราม แต่ทว่างานเหล่านี้อาจไม่ได้พูดถึงมุมมองภายในของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชอย่างมากพอในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งโชคชะตาที่มีส่วนช่วยให้ไทยรอดพ้นจากอิทธิพลของบริเตนใหญ่

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลงนั้น แน่นอนว่าไทย (จะขอเรียกว่าไทยแทนสยามแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียกหลังสงครามก็ตาม) ปรารถนาที่จะมีฐานะที่เป็นชาติที่ไม่ใช่ผู้แพ้สงครามดังเช่นญี่ปุ่นหรือเยอรมนี และยังประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย บริเตนใหญ่ปรารถนาที่จะครองอิทธิพลเหนือไทยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยหมายปองจะทำให้ไทยเป็นชาติแพ้สงคราม [3] ในขณะที่สหรัฐฯนั้นมุ่งที่จะจัดวางให้ไทยเป็นชาติที่มีเอกราชเพื่อที่จะตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง [4] เป็นที่ชัดเจนสามมหาอำนาจนี้มีจุดประสงค์ที่ต่างกัน มีทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกัน จุดประสงค์ของไทยและสหรัฐฯสอดคล้องกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ขัดแย้งกับบริเตนใหญ่ ส่วนบริเตนใหญ่เองก็มีเป้าหมายที่ไม่สู้จะไปด้วยกันได้ดีกับสหรัฐฯมากนัก ในบรรดาทั้งสามชาติ สหรัฐฯ มีเสียงหนักพอสมควรในขณะที่บริเตนมีน้ำหนักรองลงมา ในขณะที่ไทยนั้นค่อนข้างแผ่วเบาแม้ว่าปรีดีจะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

ในช่วงหลังวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่ไทยได้ประกาศสันติภาพนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นความล่าช้า ซึ่งเข้าทางตามแผนการของบริเตนอย่างเต็มประตู กล่าวคือ จากหลักฐานการบันทึกของบริเตนในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (สามวันก่อนที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม) นั้น พวกเขาได้รับการติดต่อจากปรีดีนับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2488 (ก่อนสงครามกับญี่ปุ่นสิ้นสุดลง) ปรีดีได้ส่งข้อความหาฝ่ายบริเตนเพื่อที่จะขอประกาศตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ยกเลิกข้อตกลงทุกประการที่ได้กระทำร่วมกับทางฝ่ายโตเกียวในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และออกประกาศให้การประกาศสงครามกับบริเตนและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ ซึ่งทางบริเตนเองนั้นได้แจ้งแก่ปรีดีว่าแนวทางดังกล่าวไม่เหมาะสมโดยบริเตนให้เหตุผลว่า “เร็วเกินไปและอาจเป็นที่น่าอับอายทางการทหาร” อย่างไรก็ดี สำหรับบริเตนนั้น การที่ไทยไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่และไม่ได้ดำเนินการประกาศปลดแอกชาติตนจากการร่วมขบวนการกับญี่ปุ่นก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้สงครามนั้น ย่อมเป็นผลดีต่อแผนการของบริเตนในการสร้างข้อเรียกร้องของสยาม เพราะนั่นสื่อนัยถึงความหมายสองประการ (1) ภาพลักษณ์ของไทยจะเป็นผู้ร่วมขบวนการของญี่ปุ่นและการประกาศสันติภาพหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้จะเหมือนว่าไทยกระทำไปเพราะสถานการณ์บังคับมากกว่ามีเจตจำนงค์ที่จะต่อต้านญี่ปุ่นแต่แรก (2) การประกาศปลดแอกตัวเองของไทยภายหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ย่อมหมายความว่าไทยเองนั้นไม่สามารถปลดแอกตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยมิได้รับการยินยอมจากทั้งบริเตนและสหรัฐอเมริกา [5]

ทั้งนี้ ทางบริเตนเองก็ทราบดีว่าฝ่ายสหรัฐอเมริกาไม่ประสงค์ที่จะลงโทษไทยโทษฐานที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่น และเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้สหรัฐอเมริกามาปกป้องไทยปกป้องอธิปไตรไทยจากบริเตน จึงวางแผนแนะนำปรีดีให้รีบประกาศสันติภาพภายหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเท่านั้นและในการประกาศสันติภาพนั้น ไทยต้องรีบส่งคนไปลงนามข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามกับบริเตนที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เพราะว่าบริเตนได้รับข่าวลือว่าว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่คืออัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งก็คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช [6] กล่าวคือ บริเตนเกรงว่า หากเสนีย์มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น รัฐบาลอเมริกาจะมีส่วนช่วยเหลือไทยได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ไทยได้ส่งคณะผู้แทนไทยไปเจรจาที่แคนดี ซึ่งร่วมเจรจากับทางบริเตนนำโดย Lord Louis Mountbatten และ Esler Dening คณะผู้แทนไทยนำโดย พลโทศักดิ์ เสนาณรงค์ และนายทวี ตะเวทิกุลได้เริ่มประชุมในวันที่ 3 กันยายน และได้รับ “ข้อเรียกร้อง 21 ข้อ” ซึ่งกล่าวกันว่าคล้ายกันกับข้อเรียกร้อง 21 ข้อที่ญี่ปุ่นเคยยื่นให้กับจีนในปี พ.ศ. 2458 กล่าวโดยสรุปคือข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นจะบังคับให้ไทยยุบองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ให้สัมพันธมิตรใช้ท่าเรือและเรือรบต่าง ๆ จะควบคุมสื่อในนามของสัมพันธมิตร ให้สัมพันธมิตรใช้สอยทรัพยากรต่าง ๆ ตามแต่จะเรียกร้อง [7] จากคำบอกเล่าของเนตร เขมะโยธินนั้น การที่จะลงนามยินยอมใน 21 ข้อ นั้น “ไม่ผิดอะไรกับการยอมเป็นทาสไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง” [8] แน่นอนว่า ข้อตกลงที่ผูกพันประเทศไทยขนาดนี้ คณะผู้แทนไทยไม่สามารถลงนามได้โดยปราศจากอำนาจจากทางรัฐบาล ดังนั้น คณะผู้แทนจึงได้ส่งข้อความทางโทรเลขเพื่อหารือรับมอบอำนาจจากรัฐบาลไทยในตอนนั้น ทั้งนี้ เนตรได้บันทึกต่อว่า “ท่านผู้สำเร็จราชการ ได้ส่งโทรเลขไปถึงแม่ทัพใหญ่แสดงความประสงค์และความหวังในเรื่องนี้แล้ว” [9] ซึ่งบันทึกของเนตรได้สอดคล้องกับเอกสารของบริเตนที่ได้ระบุไว้ว่า “ข้อความเมื่อคืนก่อนที่ได้รับนั้นชี้ให้เห็นว่าผู้สำเร็จราชการสยามและรัฐบาลพร้อมที่จะลงนามในสัญญาทางการทหารข้อสองด้วย โดยไม่ใช่เพียงการลงนามชั่วคราวหากแต่เป็นการลงนามถาวร” [10]

อย่างไรก็ดี เมื่อทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาทราบข่าว ก็ได้เข้าแทรกแซงและติดต่อทางบริเตนโดยตรง จึงทำให้ Mountbatten ได้ชะลอการลงนามในสัญญาทั้ง 21 ข้อเอาไว้ก่อนและขอให้ไทยลงนามในข้อที่สามารถลงได้เท่านั้นและจะไม่กระทบต่อสถานะอำนาจอธิปไตยของไทย [11]

จะเห็นได้ว่าปรีดีและพลพรรคมีแนวโน้มที่จะเห็นความตามบริเตนเพราะกังวลว่าหากขัดขืนหรือมากความอาจจะเผชิญกับเงื่อนไขที่ยากลำบากมากขึ้นกว่าที่จะได้ยกเลิกสถานะสงครามกับบริเตนเป็นแน่ ทั้งนี้ แม้ว่าข้อตกลงที่ได้ลงนามกันไปชั่วคราวนั้นจะยังไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอำนาจอธิปไตยใด ๆ แต่ข้อตกลงที่เกี่ยวพันกับการละเมิดอธิปไตยของไทยนั้นจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่แบ่งความคิดของผู้นำการเมืองไทยออกเป็นสองฝั่งจนกระทั่งข้อตกลงระหว่างสองชาติบรรลุผลในปี พ.ศ. 2489

เพื่อที่จะเจรจาในข้อตกลงอีกครั้งหนึ่งนั้น ทางบริเตนได้ตั้งให้ Dening เป็นผู้เจรจาหลัก ในขณะที่ฝ่ายไทยรอการกลับมารับตำแหน่งของเสนีย์ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ทั้งนี้ เมื่อเสนีย์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน ทางฝ่ายบริเตนรับรู้ได้ถึงความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยจะมีทีท่าประนีประนอมน้อยกว่าผู้นำจากฝั่งปรีดี ดังที่ Dening ได้เขียนเอาไว้ว่า “น่าจะมีหนูมากัดกินชาวสยาม…ท่าทีอันแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้นภายหลังที่เสนีย์ได้เดินทางกลับมา” [12]

ทั้งนี้ ก่อนที่จะบรรยายเรื่องราวต่อนั้น ขออนุญาตดึงผู้อ่านกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้นั้น เรายังจะเห็นถึงคุณูปการของการประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แบบเดิมหรือไม่ บริเตนมองไทยเป็นชาติที่ร่วมกันชนะสงครามด้วยหรือไม่หรือมองเป็นเพียงชาติที่พ่ายแพ้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่า การประกาศสันติภาพนั้นไม่ได้แปลว่าไทยรอดพ้นจากการปฏิบัติราวกับประเทศที่แพ้สงครามข้อเขียนของเสนีย์ให้รายละเอียดไว้อย่างดี เสนีย์เขียนเอาไว้ว่า “วันฉลองชัยชนะสงคราม ทหารอังกฤษเดินสวนสนามโดยมิได้เชื้อเชิญฝ่ายเราไปร่วมด้วยในกรุงเทพฯ ทหารแขกขับรถตามถนนหลวงอย่างรวดเร็วไม่เกรงใจ ผู้คนของเราถูกรถชนบาดเจ็บและถึงตายแทบไม่เว้นวัน…ม.ล. ตุ๋ย ปราโมช หลานชายข้าพเจ้าเองก็ถูกรถทหารทับตายไปคนหนึ่ง” [13] 

ในทำนองเดียวกันนั้นเอง ทหารอังกฤษยังปฏิบัติราวกับชาวไทยมิใช่ชาติอันศิวิไลซ์ ดังที่มีพฤติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับผู้หญิงไทยหลายครั้ง เสนีย์บันทึกเอาไว้ด้วยว่า “ทหารแขกที่อังกฤษนำเข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากนั้นได้ทำความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างสาหัส เที่ยวทำอนาจารฉุดผู้หญิงอย่างป่าเถื่อน แม้แต่บุตรสาวนายสงวน ตุลารักษ์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ก็ถูกทหารแขกไล่จับต้องหนีเข้าบ้าน…ครั้งหนึ่ง อุปทูตอังกฤษมาปรารภว่าผู้หญิงหากินในกรุงเทพฯ มีมากนัก และเป็นโรคกันแทบทุกคน เขามียาใหม่จะรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ขอให้รัฐบาลออกคำสั่งว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษเขาจะได้แต่งตั้งขึ้นชี้ตัวหญิงคนใดว่าเป็นโรค ก็ให้ตำรวจไทยจับตัวไปฉีดยา…ข้าพเจ้ารับสารภาพว่าคำขออันป่าเถื่อนของอังกฤษนี้ ทำให้ข้าพเจ้าโกรธจนพูดไม่ออก ถ้ามาชี้เอาลูกเมียใครเข้าจะว่าไง” [14]

จะเห็นว่าการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้นแทบไม่ช่วยอะไรมากนักเกี่ยวกับมุมมองของบริเตนที่มีต่อไทย ทั้งยังไม่นับรวมความพยายามของบริเตนที่ปรารถนาจะรวบรัดให้ไทยลงนามในข้อตกลงที่ตราขึ้นไว้ราวกับจะลงโทษไทย ในบันทึกของเสนีย์นั้น เมื่อเขาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้ตรวจดูข้อเรียกร้อง 21 ข้อแล้วเขามองว่า “เป็นสัญญาที่จะเซ็นด้วยไม่ได้ เพราะมีข้อผูกมัดจำกัดเอกราชของเราอยู่หลายประการ…การเขียนบังคับบงการไว้ดังนี้กระเทือนถึงเกียรติและเอกราชของเรามากเกินควรไป” [15] หลังจากที่เสนีย์เป็นนายกรัฐมนตรี ทางไทยก็ได้ส่งผู้แทนไปเจรจาที่แคนดีในรอบที่สองในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488 ในการเจรจาครั้งนี้ บริเตนได้แตกขยายข้อเรียกร้อง 21 ข้อให้กลายเป็น “สัญญา 51 ข้อ” ในข้อตกลงใหม่นี้เองที่เสนีย์แสดงออกถึงความกังวลใจที่จะลงนามเพราะมีข้อหนึ่ง ที่ระบุถึงเขตยกเว้นตามแต่สัมพันธมิตรกำหนด ซึ่งกองทัพสัมพันธมิตรจะมีอำนาจเหนือเขตแดนนั้น ๆ [16] เสนีย์ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ข้อนี้เองที่ทำให้เห็นว่า อังกฤษจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองในอารักขา ถ้าเขาชี้เอาเมืองหนึ่งเมืองใดที่ทหารเขาตั้งทำการเป็นเขตยกเว้น ก็พอจะเห็นความจำเป็นอยู่บ้าง แต่ไม่มีอะไรจะห้ามมิให้เขาชี้เมืองสำคัญ ๆ เป็นเขตยกเว้นทั่วไปทั่งหมด และที่กลืนไม่ลงก็คือ เมื่อชี้เข้าที่ไหนที่นั้นข้าราชการของเราจะต้องตกอยู่ในบังคับบัญชาเขาทั้งหมด ผลก็เท่ากับเป็นเมืองขึ้นเขาโดยตรง” [17] กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ทัศนะของเสนีย์กับทัศนะของปรีดีที่มีต่อการลงนามในข้อตกลงกับบริเตนนั้นค่อนข้างที่จะขัดแย้งกัน

ตลอดช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ่งที่เสนีย์พยายามหลีกเลี่ยงคือการลงนามในข้อตกลงที่จะผูกมัดและละเมิดอธิปไตยของไทย แน่นอนว่าเสนีย์เองก็มีความรู้ด้านกฎหมาย ดังนั้น เหตุแห่งความไม่ลดราวาศอกของเสนีย์นั้นจึงพอเข้าใจได้ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มชนชั้นนำนั้นเหมือนจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนั้นมองว่าควรรีบลงนามกับอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดยืนของเสนีย์นั้นคือการบ่ายเบี่ยงประวิงเวลารวมถึงเจรจาข้อตกลงให้เหมาะสมเพื่อที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของไทยจะได้ไม่ถูกละเมิด หนึ่งในข้อบันทึกของเสนีย์นั้นเขียนเอาไว้ว่า “ความจริง ม.จ. ศุภสวัสดิ์ได้เคยมาชักนำข้าพเจ้าไว้ก่อนแล้วว่าสัญญากับอังกฤษควรเซ็นกันเสียก่อน…เมื่อข้าพเจ้าไม่รับฟัง เจ้าไทยองค์นี้กลับตำหนิข้าพเจ้าว่ามีหัวไปทางอเมริกามากเกินไป…วันหนึ่งจึงได้ถือโอกาสพูดกับผู้สำเร็จราชการจริง ๆ ถึงเรื่องท่านชิ้น และแนะมิให้ผู้สำเร็จเชื่อให้ความไว้วางใจแก่เจ้าไทยในกองทัพอังกฤษผู้นี้เกินควรไป ผู้สำเร็จราชการตอบข้าพเจ้าว่า ที่คบกับท่านชิ้นก็เพียงแต่จะสืบความในจากอังกฤษ มิได้มีความมุ่งหมายอย่างอื่น” [18]

แนวทางการประวิงเวลาของเสนีย์ย่อมได้รับเสียงต่อต้านจากบุคคลต่าง ๆ ภายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเสนีย์ได้ระบุว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น นายทวี บุณยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม และนายสงวน ตุลารักษ์ได้เสนอขึ้นมาในที่ประชุมว่า “ควรยอมเซ็นกับเขาเสียโดยดี เพราะเกรงว่าถ้าดื้อดึงไปจนอังกฤษเกิดความไม่พอใจแล้ว อาจตกหนักแก่เรายิ่งขึ้นในขั้นปฏิบัติตามสัญญา” [19] อย่างไรก็ดี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 ไทยจำเป็นต้องตัดสินใจที่จะลงนามในข้อตกลงกับบริเตนในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงจัดประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12  และ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2488 โดยปรีดีก็ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วยในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เสนีย์ได้ระบุเอาไว้ว่าในที่ประชุมนั้น มีเพียงเสนีย์เท่านั้นที่ไม่ปรารถนาที่จะลงนามและยังมีรัฐมนตรีอีกสองท่านเท่านั้นที่ยืนกรานเห็นตามข้อเสนอของเสนีย์ ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีตัดสินใจเดินหน้าในลักษณะที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของตนนั้น เสนีย์จึงได้ติดต่อนักข่าวชาวอเมริกันเพื่อที่จะนัดแนะประโคมข่าวเกี่ยวกับความพยายามของบริเตนที่กดดันไทยมาโดยตลอด [20] หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เสนีย์เองก็ปล่อยมือจากการยื้อยุดประวิงเวลาในการลงนามในสัญญากับบริเตนแล้ว

เพื่อที่จะยืนยันว่าสิ่งที่เสนีย์เคยให้สัมภาษณ์กับ Jayanta Kumar Ray และในบันทึกของเจ้าตัวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้เขียนจึงขอพิจารณาหลักฐานชั้นต้น อาทิ รายงานประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ปรากฏเพื่อแสดงให้เห็นว่าความแตกต่างทางด้านความคิดเกี่ยวกับการลงนามภายในคณะรัฐมนตรีนั้นเกิดขึ้นจริงและถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการลงนามกับบริเตนไปก่อนและเสนีย์ที่หลีกเลี่ยงที่จะลงนามกับบริเตน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นไม่กี่วันก่อนที่จะต้องส่งผู้แทนไปลงนามกับบริเตนที่สิงคโปร์นั้นมีการถกเถียงหารือกันครั้งใหญ่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เพื่อที่จะแสดงให้เห็นบรรยากาศของการประชุมนั้น จึงขอคัดลอกความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมมา ณ ที่นี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีหลายท่านเสนอให้ลงนามกับบริเตน ซึ่งข้อความที่คัดลอกมาลงนั้นไม่ได้เป็นบทสนทนาที่ติดต่อกันแต่เน้นเฉพาะข้อความที่ยาวและแสดงถึงความคิดอ่านของผู้พูด [21]

เสนีย์ ปราโมช: “แต่ทางเสียเราก็มีหวังอยู่ว่าถ้าประวิงได้จนกว่าสภาฯ เปิดใหม่อาจจะมีอะไรแซกแซง หรืออเมริกาจะทำเป็นผลสำเร็จก็ไม่รู้ … เมื่ออย่างนี้ถ้าไม่ยอมเซ็นอาจจะทำให้ฐานะดีขึ้น เพราะเวลานี้ต่ำที่สุดแล้ว แต่ทางร้ายการไม่เซ็นก็มีเหมือนกัน คืออาจจะส่งทหารเพิ่มเข้ามาอีกหรือก่อความยุ่งยากอะไรยิ่งกว่านี้ อาจจะแกล้งก็ได้ ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน … ถ้าเรายินยอมเขาก็จะประนามว่าโง่ แล้วจะถกเถียงตลอดชาติว่านี่ยอมเซ็นสัญญาผูกมัดตัวเอง แล้วที่ห่วงที่สุดไม่รู้จะยุติแค่ไหน เป็นข้อที่วิตกเหลือเกิน[22]

ทวี บุณยเกตุ: “ปัญหาการเงินเรา clear ได้ ถ้าเราไม่เซ็นแล้วเขาส่งทหารเพิ่มเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นพูดตามจริงก็จ่ายอยู่แล้ว มีแต่จะหนักขึ้น ถ้าเซ็นแล้วอาจน้อยลง” [23]

ปรีดี พนมยงค์: “ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อน คือการเซ็นสัญญาก็ต้องพูดความจริงหมายความว่าผมเองเป็นทนาย ซึ่งเวลาจะพูดกับตา Bird ต่อหน้าฝรั่งผมก็ต้องเป็นทนายให้ นี่เราพูดกันอย่างจริงใจ อย่างว่าไข้ของเราเป็นอย่างไร อย่าเข้าใจว่าผมไปมีอะไร หรือไปโปรทางไหน ขอให้เข้าใจอย่างนั้น ทีนี้ในเรื่องนี้ก็มีอยู่ว่า ขอที่กระทบถึง sovereignty ของเราก็มีอย่างนี้ เขาอาจจะมาทำในบาง area หมายความว่ามาตกลงอีกที นั่นจะมีอาการแค่ไหน หรือต้อง comply [24]

พระสุทธิอรรถนฤมนตร์: “การเซ็น เราจะเซ็นโดยถือว่าเซ็นสัญญาไม่ยากเย็นเลยไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับเรื่องเสนอสภาฯแล้ว ไม่ใช่ตามที่สภาฯต้องการ ผมเห็นว่าเซ็นไม่ได้ ถ้าจะเซ็นก็ต้องเปลี่ยนฐานะให้เป็นว่า demand   หรือ ultimatum ก็แล้วแต่[25]

พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร: “…โดยเหตุนี้เองผมนึกว่าวันไหน ๆ จะยังให้ได้ดีกว่านี้ไม่ได้ ผมเองเห็นว่าควรจะยอม วิธีจะยอมควรให้เห็นว่าไม่ใช่ในทางเจรจา[26]

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นวันที่ต้องตัดสินใจนั้น ความเห็นก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนจากเดิมมากนัก โดยมีถ้อยความปรากฏดังต่อไปนี้

สงวน ตุลารักษ์: “เอาอย่างนี้เป็นอย่างไร พูดเรื่องจริงให้เป็นอย่างนี้ เราเซ็นนี้โดยที่เราไม่มีทาง แล้วเขาบอกว่าเป็น Minimum terms แล้วเราไม่มีทางต่อรอง เขาจะเอาอย่างไรช่างเขา เราไม่ต้องพูดกับเขาแล้วสภาฯเปิด ก็เสนอ เขาก็ชั่งใจดู แล้วต่อไปจะรบหรือสงบศึก ก็เรื่องของสภาฯ[27]

พระยานลราชสุวัจน์: “ผมเห็นว่าถ้าหากว่าเราเซ็นตามเหตุผลน่าจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เพราะเหตุว่าเขามีทีท่าจะทำกับเราข้างเดียว ถ้าหากว่าเราโอ้เอ้ไปก็มีลู่ทางอาจถูกบีบหนักขึ้น [28]

ดิเรก ชัยนาม: “ผมมีความเห็นแต่วานนี้แล้วว่า ตามที่คณะผู้แทนซึ่งอยู่ในที่ใกล้ชิดข้อเท็จจริงยังมีความเห็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า minimum terms ซึ่งเราพยายามทำอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เพื่อประโยชน์ของชาติด้วยกันแล้วคิดว่าเซ็นได้…[29]

ทวี ตะเวทิกุล: “เสียงที่ผมได้ยินมา รัฐบาลคิดถึงตัวเองจะต้องรับบาปเอง ถ้ารัฐบาลคิดถึงส่วนรวมเสียหน่อย ส่วนรวมประเทศชาติเรา รัฐบาลก็ควรเสียสละถึงแม้ว่ามีคนว่าขายชาติบ้าง เราก็พึ่งตัวเอง ถ้าเราคิดถึงครั้ง ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงยอมเขา ซึ่งถ้าเอามาประชุมอย่างนี้ก็เถียงกันมากมายเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครว่าท่าน กลับเห็นว่าที่ท่านเซ็นไปนั้นอาจจะหนักเป็นเบา[30]

จากที่ได้ไล่เรียงให้เห็นโดยคร่าว ท่านผู้อ่านคงพอเห็นภาพบ้างแล้วว่าใครเป็นใครบ้างและคิดอย่างไรเกี่ยวกับการตกลงบรรลุการเจรจากับบริเตน ในช่วงท้ายนั้น ทางคณะรัฐมนตรีรวมถึงเสนีย์จึงจำใจจะต้องส่งผู้แทนไปลงนามกับบริเตน ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2488 นั้น จู่ ๆ เสนีย์ก็ได้รับการติดต่อจากทางรัฐบาลอเมริกาว่าให้หยุดยั้งการลงนามเอาไว้ก่อน [31] ซึ่งอาจด้วยการต่อรองจากทางสหรัฐอเมริกา ทางบริเตนก็ได้ตัดข้อตกลงหลายข้อออก โดยเฉพาะข้อที่จะใช้ดินแดนไทยเป็นฐานที่มั่น แน่นอนว่าเรื่องความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาหาใช่เรื่องแปลกใหม่ประการใด แต่โชคชะตาที่สหรัฐอเมริกากระโจนเข้ามาช่วยทันท่วงทีดังที่เสนีย์เองก็กล่าวว่าเขานั้นมองว่าเป็น “ปาฏิหารย์” [32] จากบันทึกของเสนีย์ Dening เปลี่ยนท่าทีเป็นคนละคนและแทบจะสวมกอดผู้แทนไทยเป็นอย่างดี [33]  การเปลี่ยนท่าทีของบริเตนนั้นยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีของผู้มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยในขณะนั้นด้วย หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้กล่าวชมชาวอเมริกันอย่างตรงไปตรงมาว่า “นี่ขอขอบใจอเมริกาอย่างที่สุด ไม่รู้จะหาทางใดขอบใจ” [34]

ตามที่ได้เขียนมาอย่างยืดยาว ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่าการประกาศสันติภาพวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้นเป็นเพียงแต่ฉากหน้าของความน่ายินดีเท่านั้น แต่ฉากหลังของการเมืองระหว่างประเทศและกลเม็ดของการหาลู่ทางในการบรรลุข้อตกลงของฝ่ายไทยหลังจากวันดังกล่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน หากไตร่ตรองให้ดีแล้ว เราควรต้องขอบคุณสหรัฐอเมริกาอย่างจริงใจที่เข้ามาช่วยในเวลาคับขัน เพราะหากว่าปราศจากสหรัฐอเมริกา เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่นอกเหนือจากนี้ ตัวแสดงทางการเมืองในไทยอื่น ๆ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน

ความน่าสนใจที่ควรค่าแก่การทิ้งท้ายไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ในหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เป็นบันทึกเขียนโดยดิเรก ชัยนามนั้นกล่าวถึงแค่ว่า “คณะรัฐมนตรี…ได้พิจารณาทั้งทางได้ทางเสีย เห็นกันว่าผลได้ในการที่จะยอมลงนามมีมากกว่าที่จะไม่ยอมลงนาม” [35] น่าแปลกใจที่ว่าดิเรกเองนั้นก็ดำรงตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น และก็เข้าร่วมประชุมมีส่วนในการอภิบาลบ้านเมืองจนเขียนหนังสือออกมาความหนากว่า 800 หน้า แต่ดิเรกเองก็ไม่ได้กล่าวถึงความพยายามของเสนีย์ที่จะทัดทานการลงนามกับบริเตนเลยแม้แต่น้อยในช่วงเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2488 มิพักต้องพูดถึงว่าดิเรกเองก็ไม่ได้เล่าว่าตัวเองคิดอ่านประการอย่างไรเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อลงนามกับบริเตนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ข้าพเจ้าขอเรียนตามตรงว่าข้าพเจ้าเองก็ยังคงไม่ได้คำตอบเช่นเดียวกัน


อ้างอิง

[1] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: กลุ่ม “รัฐกิจเสรี”, 2517),  หน้าที่ 465-467.

[2] ดูงานของ Isorn Pocmontri, Negotiations between Britain and Siam on the Agreement for the Termination of their State of War, 1945: An Instance of Intervention by the United States in British Foreign Policy (Bangkok: Chulalongkorn University Social Research Institute); Songsri Foran, Thai-British-American Relations during World War II and the Immediate Postwar Period, 1940-1946 (Bangkok: Thai Khadi Research Institute, Thammasat University, 1981).

[3] Herbert A. Fine, “The Liquidation of World War II in Thailand,” Pacific Historical Review, Vol, 34, No. 1 (1965), 65-82.

[4] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (จากนี้เรียกว่า หจช), สร 0201.33/25  อเมริกาจะจัดตั้งระบบเศรษฐกิจภายหลังสงคราม (2482-2483).

[5] The National Archives, UK (TNA), FO371/46545, F5115/296/40. สามารถดูเนื้อความเอกสารได้จาก Capt. Sonsak Shusawat, Ending the State of War between Thailand and the United Kingdom: International Negotiations and Thai Domestic Politics, 1945-47 (Doctoral Thesis, School of Oriental and African Studies, 1999), 76. เนื้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า “If the Japanese surrender materialises, it will have overtaken our plans for Siam. It will also place the Siamese Regent in an awkward position since Siam will not have been enabled to play the part in her own liberation which has been anticipated. Technically she will still be at war with us.”

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ดูภาคผนวกในเอกสารที่ชื่อ “Proposed Military Agreement No.1” และ “Proposed Military Agreement No. 2” ของ Foran, Thai-British-American Relations during World War II and the Immediate Postwar Period, 1940-1946, 306-307. เอกสารสองฉบับนี้รวมกันเป็น 21 ข้อ ในฉบับแรกมีข้อตกลง 6 ข้อ ฉบับที่สองมี 15 ข้อ

[8] พลเอกเนตร เขมะโยธิน, งานใต้ดิน (กรุงเทพฯ: เฟื่องอักษร, 2510), น. 628.

[9] เรื่องเดียวกัน., น. 629. ในหน้าเดียวกันนั้น จะเห็นว่าเนตรได้บันทึกเอกสารโทรเลขที่ส่งไปที่แคนดีด้วยเช่นกัน โดยมีข้อหนึ่งระบุว่า “ฉะนั้น จึงขอมอบอำนาจให้แก่ท่านที่จะลงนามโดยไม่ต้องแก้ไขข้อตกลงทางทหารรวมทั้งหมด ๒๑ ข้อ และภาคผนวกตามร่างเดิม”

[10] TNA, FO371/46549, F6561/296/40.

[11] ดูข้อที่ไทยลงได้ใน กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปี พุทธศักราช 2483 ถึง 2495 (กรุงเทพฯ: แผนกโพสต์บุคส์, 2537), น. 200-201.

[12] TNA, FO371/46550, F7209/296/40.

[13] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, บันทึกและบทความเกี่ยวกับสถานะสงครามโลกครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน, 2510), น. 42.

[14] เรื่องเดียวกัน., น. 43.

[15] เรื่องเดียวกัน., น. 16.

[16] ข้อตกลง 11 (E) ใน Military Annex ดูได้จากภาคผนวกใน Pocmontri, Negotiations between Britain and Siam on the Agreement for the Termination of their State of War, 1945, น. 167. ต้นฉบับได้ระบุว่า “Except in any areas which may be placed, by agreement between the Siamese Government and the competent Allied military authority, under the direct administration of that authority, to comply in matters of civil administration with all requests which the competent Allied military authority may make in the pursuance of his task.”

[17] ม.ร.ว เสนีย์, บันทึกและบทความเกี่ยวกับสถานะสงครามโลกครั้งที่ 2, น. 20.

[18] เรื่องเดียวกัน., น. 49.

[19] เรื่องเดียวกัน., น. 52.

[20] ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมชให้สัมภาษณ์ใน Jayanta Kumar Ray, Portraits of Thai Politics (New Delhi: Orient Longman, 1972), น. 166.

[21] ควรระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าเสนีย์เองก็ไม่เห็นด้วยกับการลงนามแต่แรกแล้ว ดูได้จาก รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488, น. 1-3.

[22] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2488, น. 11.

[23] เรื่องเดียวกัน., น. 21.

[24] เรื่องเดียวกัน., น. 22.

[25] เรื่องเดียวกัน., น. 21-22.

[26] เรื่องเดียวกัน., น. 25.

[27] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2488., น. 9

[28] เรื่องเดียวกัน., น. 11.

[29] เรื่องเดียวกัน., น. 12.

[30] เรื่องเดียวกัน., น. 17.

[31] Ray, Portraits of Thai Politics (New Delhi: Orient Longman, 1972), น. 168.

[32] เรื่องเดียวกัน., น. 32.

[33] ม.ร.ว เสนีย์, บันทึกและบทความเกี่ยวกับสถานะสงครามโลกครั้งที่ 2, น. 86.

[34] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2488., น. 4.

[35] ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2549), น. 387.


ประวัติผู้เขียน

อ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เน้นประเด็น Status Concern และ Ontological Security), นโยบายต่างประเทศไทย, ประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบระหว่างประเทศ


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม https://djrctu.com/