สงครามต่อต้าน COVID-19? ภาษาของ “สงคราม” กับระบาดวิทยาในการเมืองโลก

การเมืองโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษหากนับจากหมุดหมายของการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในช่วงปี 1918-1919 หลายคนมองว่า โลกกำลังอยู่ในสภาวะ “สงครามต่อต้านโควิด-19” (War on COVID-19) เพราะการใช้ภาษาของสงคราม (language of war) ในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดเป็นไปอย่างแพร่หลาย และเข้ามาครอบงำการเมืองโลกในชีวิตประจำวันอีกด้วย

หลายรัฐทั่วโลกประกาศ “สงคราม” กับโควิด-19 โดยไวรัสกลายเป็น “ศัตรู” ที่กำลังโจมตีหรือรุกรานประเทศต่าง ๆ โดยมี “นักรบเสื้อกาวน์” เป็น “แนวหน้า” ที่ต้องเสี่ยงชีวิตในการทำสงครามเชื้อโรค และเรียกร้องให้ประชาชนทำ “หน้าที่” ของตนใน “แนวหลัง” หลายรัฐได้จัดการประชุม “คณะรัฐมนตรีในยามสงคราม” ผ่านระบบออนไลน์ บางรัฐเริ่มประกาศว่าประเทศของตน “ชนะสงคราม” แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ทวิตข้อความเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2020 ว่า “โลกกำลังอยู่ในสภาวะสงครามกับศัตรูที่ซ่อนเร้นไม่เปิดเผย [แต่]เราจะชนะ!” Trump ยังเรียกตนเองว่าเป็น “ประธานาธิบดีในยามสงคราม” (wartime president) และมองโควิด-19 ว่าเป็น “ศัตรูที่มองไม่เห็น” หรือ “ศัตรูจากต่างชาติ” โดยเฉพาะประเด็น “ไวรัสของจีน” ในขณะที่ทรัมป์และผู้กำหนดนโยบายเองต่างเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนแพทย์และพยาบาลในฐานะที่เป็น “นักรบ” และ “กองทัพของเรา” รวมทั้งต้องเสียสละในช่วงเวลาที่มืดมนอนธการเช่นนี้

ในยุโรป ผู้นำต่างเปรียบเปรยไวรัสโควิด-19 กับสงครามโลก เช่น ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron ใช้ภาษาของผู้นำฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่ารัฐฝรั่งเศสนั้นกำลังอยู่ในสภาวะที่กองทัพอยู่ในสถานการณ์สงคราม (war footing) หรือนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีอย่าง Angela Merkel ก็กล่าวถึงความท้าทายจากโควิด-19 นั้นก็หนักหนาสาหัสมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเคยเผชิญมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในเอเชีย-แปซิฟิก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งอาศัยแนวคิดของเหมา เจ๋อตุง ได้ประกาศ “สงครามของประชาชน” กับไวรัสโควิด-19 หรือในกรณีของไทยที่ทีมแพทย์พยาบาลถูกมองว่าเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” สื่อไทยเองก็ใช้ภาษาของสงคราม เช่น หนังสือพิมพ์บางฉบับนำเสนอภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ฯ เป็นเหมือน “แม่ทัพใหญ่” ที่จำเป็นต้องเอาชนะ “สงครามไวรัสโควิด-19” ที่ “กำลังโจมตีประเทศไทยอย่างหนักหน่วง” และนี่เป็น “สนามรบ” ที่ไทยต้องชนะ “ไม่มีสิทธิ์พ่ายแพ้” รวมทั้งแอป “ไทยชนะ” ก็เป็นวิธีคิดแบบภาษาของสงครามด้วย

อาจกล่าวได้ว่า “ภาษาของสงคราม” นั้นแพร่ระบาดรวดเร็วพอๆ กับไวรัสโควิด-19 ทั้งในระดับผู้นำ ระดับผู้กำหนดนโยบายและระดับชีวิตประจำวัน ปรากฎการณ์ระหว่างประเทศนี้ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงของรัฐใดรัฐหนึ่ง หากแต่เกิดขึ้นทั่วไปจนกลายเป็นความปกติใหม่ของการเมืองโลก

คำถามที่น่าคิดต่อคือ “ภาษาของสงคราม” นั้นมีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจและบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ในด้านหนึ่ง อุปมาของสงครามถูกหยิบฉวยและขยายนำมาใช้นอกเหนือจากบริบททางการทหารในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น สงครามต่อต้านยาเสพติด สงครามกับความยากจน สงครามกับอาชญากรรม เป็นต้น ภาษาของสงครามนั้นเป็นอุปมาที่ค่อนข้างทรงพลัง เพราะมันเรียกร้องให้รัฐต้องกระทำการที่เด็ดขาด และสื่อสารเชิงอารมณ์ถึงความเร่งด่วนของปัญหา รวมทั้งให้ความชอบธรรมแก่มาตรการฉุกเฉินต่างๆ อีกด้วย

การหยุดยั้งไวรัสโควิด-19 ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการทำสงครามในมิติที่ว่าโรคระบาดพัวพันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าด้วยความเป็นความตายของผู้คน “ศัตรู” ที่สามารถที่จะโจมตีได้ทุกขณะเวลา “สมรภูมิ” ในแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาดอย่างรวดเร็ว การนับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต(ในลักษณะเดียวกับการนับศพของทหารในยามสงคราม) หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้ “แนวหลัง” สนับสนุนความพยายามในการรับมือกับการระบาดของโลก

ในทางตรงกันข้าม Cynthia Enloe นักทฤษฎีสตรีนิยมในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR)[1] วิพากษ์การใช้วาทกรรม “ภาษาของสงคราม” ในการจัดการกับวิกฤตโควิด-19

เธอมองว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่อง “ใหม่” และ “ระดับของความพยายามร่วมกันในการรับมือกับโรคก็ใหม่ด้วย” แต่กระนั้นก็ดี “ชุดของภาษาที่เราใช้ในการอธิบายทั้งสองอย่างนั้นกลับโบราณเหลือเกิน” และ “ก็ไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายก็มีความสุ่มเสี่ยงอันตรายยิ่งนัก”

สำหรับ Enloe, การสยบยอมอยู่ใต้ “ภาษาของสงคราม” นั้น “ไม่ค่อยมีประโยชน์” ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการ ดังนี้คือ

  • ประการแรก เมื่อมองโควิด-19 ในฐานะของสงคราม การประกาศสงครามก็ให้อภิสิทธิ์แก่ความเป็นชาย (masculinities) แม้ว่าผู้หญิงจะถูกระดมเข้าสู่สงครามด้วยในนามของการปกป้องปิตุภูมิก็ตาม Enloe มองว่า การให้อภิสิทธิ์แก่โครงสร้างทางสังคมการเมืองที่นิยมความเป็นชายและทหารผู้ชายเท่านั้นมีความอันตรายยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตสุขอนามัยสาธารณะ เมื่อสองในสามของคนทำงานด้านสุขอนามัยนั้นเป็นผู้หญิง
  • ประการที่สอง สงครามนั้นต้องการ “ศัตรู” โดยเฉพาะศัตรูที่เป็นมนุษย์ด้วยกันเอง การตั้งกรอบประเด็นความร่วมมือร่วมกันในการส่งเสริมระบบสาธารณสุขสาธารณะว่าเป็น “สงคราม” นั้น หลอกล่อให้คนจำนวนมากแสวงหา “ศัตรู” ขั้วตรงข้ามที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมโลก เราเห็นการสร้างวาทกรรม “ศัตรู” ผ่านสงครามการประณามซึ่งกันและกัน เช่น วาทกรรม “ไวรัสของจีน” วาทกรรมดังกล่าวยังทำให้ Trump สามารถวิจารณ์การทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และยกเลิกการให้เงินสนับสนุนแก่ WHO บนฐานที่ว่าการแพร่ระบาดนั้นมาจาก “ศัตรู” ของสหรัฐฯ คือ จีน นั่นเอง
  • ประการที่สาม บ่อยครั้งการประกาศสงครามนั้นต้องแลกมาด้วยการสูญเสียกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ สงครามสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกปิดความลับของรัฐ การละเมิดสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน การไม่อนุญาตให้มีการถกเถียงโต้แย้งในพื้นที่สาธารณะ หรือการบิดเบือนแนวความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

Enloe เสนอว่าทางออกของเราคือ จะต้องจินตนาการโลกใหม่ เพื่อสร้างภราดรภาพร่วมกันระหว่างผู้คน ดังที่เธอเขียนไว้ว่า 

“ทางเลือกหนึ่งซึ่งเราสามารถที่จะตั้งประเด็นกับความท้าทายจากไวรัสโคโรนาได้อย่างประสบผลสำเร็จคือ การเปิดโลกทัศน์การจินตนาการของเรา เพื่อที่ว่าการกระตุ้นให้เกิดภราดรภาพในยามสันตินั้นจะมีความน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กับการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี[เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1944]” 

กล่าวโดยสรุป หากเรามองเชื้อโรคผ่าน “ภาษาของสงคราม” วิธีการในการรับมือกับเชื้อโรคก็จะติดกรอบวิธีคิดตามแบบการทหาร การออกแบบฉากทัศน์ของรัฐและประชาคมระหว่างประเทศก็จะจำกัดอยู่เพียงมุมมองแคบ ๆ และอาจจะนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้นำและระบอบการเมืองอำนาจนิยมในการขยายมาตรการพิเศษและสอดส่อง/ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คนได้ จนทำให้สังคมการเมืองตกอยู่ในกับดักของ “สงครามที่ไม่สิ้นสุด” 

ด้วยเหตุนี้ การออกแบบฉากทัศน์ที่ครอบคลุม รอบด้านและเป็นประชาธิปไตยจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่เริ่มต้นตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับ “ภาษาของสงคราม” ในการจัดการกับวิกฤตการณ์โควิด-19.


อ้างอิง
[1] โปรดดู Cynthia Enloe: “Pulling my COVID-19 Language Out of the Trenches”, https://lareviewofbooks.org/article/quarantine-files-thinkers-self-isolation/#_ftn10


ประวัติผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติภัทร พูนขำ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สนใจทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, นโยบายต่างประเทศของรัสเซีย และเครือรัฐเอกราช, นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา,ประวัติศาสตร์การทูต, ภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงศึกษาแนววิพากษ์


บทความฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk