ประชาธิปไตยดิจิทัลกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผู้คนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ มิติ รวมถึงมิติด้านการเมือง ที่เกิดเป็นคำว่า ประชาธิปไตยดิจิทัล (Digital Democracy) หมายถึง การมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ[1] ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับโลก โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาล ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง สื่อ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาครัฐระหว่างประเทศ พลเมือง ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง[2]

การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยดิจิทัลดังกล่าว ปัจจัยหนึ่งคือการขยายตัวของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก อาทิ เว็บไซต์ อีเมล สื่อสังคม (Social media) วีดีโอสตรีมมิ่ง เว็บบอร์ด[3] ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมที่หันมาเสพสื่อที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงสื่อด้านการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ จึงทำให้สื่อได้ปรับแนวทางหันมามุ่งสร้างเนื้อหาด้านการเมืองเพื่อตอบสนองคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงช่องทางออนไลน์ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มการเมืองและการสร้างความร่วมมือระหว่างคนในสังคมมากยิ่งขึ้น[4] การรวมกลุ่มดังกล่าวเห็นได้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ เช่น อาหรับสปริง (2053) การประท้วงในฮ่องกง (2562) และ การประท้วงในสถาบันทางการศึกษาของไทย (2563)

นอกจากการใช้ดิจิทัลเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนในการเรียกร้องข้อเสนอ (หรือประท้วง) ต่อรัฐบาลแล้ว ด้านภาครัฐเองก็มีการปรับตัวเช่นกัน โดยได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งสามารถแบ่งระดับการมีส่วนร่วมออกเป็น 3 ระดับ[5] คือ 

  • ระดับที่ 1 การให้ข้อมูล ภาครัฐให้ข้อมูลแก่ประชาชน/ภาคเอกชนแบบช่องทางเดียว 
  • ระดับที่ 2 การปรึกษาหารือ (e-Engaging) การให้ประชาชนมาร่วมให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะ โดยเจรจาโต้ตอบผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เสวนาออนไลน์ 
  • ระดับที่ 3 การร่วมปฏิบัติ (e-Empowering) การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจเพื่อกำหนดนนโยบาย โดยมีการแสดงความคิดเห็นและลงมือปฏิบัติร่วมกัน เช่น การออกเสียงออนไลน์ การสำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถาม 

ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น “6Aika” เกิดจากความร่วมมือ 6 เมืองหลักของประเทศฟินแลนด์ในการจัดทำฐานข้อมูลส่วนกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาเมืองจากทุกภาคส่วน[6] “City of Melbourne[7]” มีจุดเด่นคือการนำเข้าข้อมูลลักษณะเปิด (Open data) จากหน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชน และเปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ รวมถึงเป็นช่องทางรับฟังข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของประชาชนเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข “Speaker Kampung”[8] เป็นชุมชนออนไลน์ของท้องถิ่นในเกาะลอมบอก (Lombok) ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

สำหรับประเทศไทย ในปี 2563 ทางกรุงเทพมหานครได้เริ่มนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น โดยได้มีการพัฒนาชุดคำถามและแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนกลุ่มเขตและแผนพัฒนาชุมชนของคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐก็ได้มีการใช้สื่อออนไลน์อย่างเช่น Line หรือ Facebook เป็นช่องทางเบื้องต้นในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งในด้านการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ และการรับฟังเสียงของประชาชน

นอกจากการใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เช่น การต่อต้านนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ (Single Gateway) (2558) โดยภาคประชาชนได้มีการร่วมลงชื่อผ่านทางเว็บ Change.org มากถึง 3 แสนรายชื่อ และนำรายชื่อดังกล่าวยื่นต่อสภานิติบัญญัติ[9] รวมถึงมีการรวมกลุ่มโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายดังกล่าว จนนำไปสู่การยกเลิกการพิจารณานโยบาย[10] ตลอดจนการใช้ช่องทางออนไลน์นัดชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในช่วงต้นปี 2563

อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องมือดิจิทัลดังกล่าวก็ไม่ได้มีเพียงด้านดีด้านเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือของรัฐในการขัดขวางการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เช่นกัน อาทิเช่น การประท้วงฮ่องกง ที่ถึงแม้ฝ่ายผู้ประท้วงจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารการเคลื่อนไหว[11] แต่ขณะเดียวกันทางภาครัฐก็ได้ใช้ช่องทางดังกล่าวในการติดตามและจับกุมนักเคลื่อนไหวด้วย[12]  

ในท้ายที่สุดแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยีได้ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เพราะต้นทุนในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นลดลง ซึ่งหากหน่วยงานภาครัฐมีการออกแบบช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จะทำให้การบริหารงานของภาครัฐสามารถตอบสนองตรงตามความต้องการของประชาชน ในขณะเดียวกันภาคประชาชนก็จับตามองการทำงานของภาครัฐมากขึ้น และพร้อมแสดงความไม่พอใจต่อการทำงานของภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์


อ้างอิง

  • [1] Kenneth L. Hacker and Jan Van Dijk, Digital Democracy (New Delhi: SAGE, 2000), p.1.
  • [2] วีระ เลิศสมพร, “ประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์: เสริมสร้างหรือฉุดรั้ง,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  7: 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559), น.138-160.
  • [3] THAIDIGIZEN, “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล: พลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21,” https://thaidigizen.com/digital-citizenship/ch1-digital-citizenship (เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563).
  • [4] David Winston, “Digital Democracy and the New Age of Reason,” in Henry Jenkins and David Thorburn (eds.), Democracy and New Media ( Cambridge: MIT Press, 2004), pp.133-142.
  • [5] อุมาภรณ์ บุพไชย, “การพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ: บทบาทของสื่อออนไลน์ในการประสานการมีส่วนร่วมในงานผังเมือง,” Veridian E-Journal, 11: 2 (2561), น. 3113-3130.
  • [6] 6Aika, “The Six City Strategy – Open and Smart Services” (2014) https://6aika.fi/wp-content/uploads/2015/11/6Aika-strategia_pa%CC%88ivitys_2015_EN.pdf
  • [7]https://www.melbourne.vic.gov.au/
  • [8] Ranggabumi Nuswantoro, “Digital Democracy in Rural Indonesia,” SHS Web of Conference 33 (2017). https://www.shs-conferences.org/articles/shsconf/abs/2017/01/shsconf_icome2017_00072/shsconf_icome2017_00072.html
  • [9] “ยื่น 300,000 รายชื่อต้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์,” Voice TV, 15 ธันวาคม 2016, https://www.voicetv.co.th/read/442215
  • [10] นิชคุณ ตุวพลางกูร, “การเคลื่อนไหวทางสังคมด้านการเมืองในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษาการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการต่อต้านระบบซิงเกิลเกตเวย์,” วารสารศาสตร์ 11: 1 (มกราคม-เมษายน 2561), น. 64.
  • [11] “ประท้วงฮ่องกง: แอปพลิเคชันขับเคลื่อน ‘การประท้วงไร้ผู้นำ’ ของชาวฮ่องกงได้อย่างไร,” BBC Thai, 1 กรกฎาคม 2019, https://www.bbc.com/thai/international-48822097
  • [12] “ชุมนุมยุค 2019 ชาวฮ่องกงป้องกันการสอดแนมออนไลน์ และไม่ทิ้งรอยเท้าดิจิทัลอย่างไร,” The Momentum, 15 มิถุนายน 2019, https://themomentum.co/how-do-hong-kong-citizen-protect-their-privacy/

ประวัติผู้เขียน

รัฐกร ชนะวงศ์

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร 
และนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหาร (MPE) รุ่นที่ 28
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk