ศิลปะ การปลดแอก และสันติภาพ

หากพูดถึงชะตากรรมของประเทศชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกาอย่างโมซัมบิก ประวัติศาสตร์ของประเทศโมซัมบิกนั้นเต็มไปด้วยบาดแผลของความขัดแย้งและความรุนแรง นับตั้งแต่การตกเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสนานนับศตววรรษ สงครามการต่อสู้เพื่อเอกราชที่ใช้เวลานานถึง 11 ปี (1964-1975) และการอยู่ในสภาวะสงครามการเมืองยาวนานถึง 15 ปี (1977-1992)

      หลายชีวิตที่สูญเสีย สภาพจิตใจที่บอบช้ำ สายใยทางสังคมที่ขาดวิ่น ระบบสาธารณูปโภคกว่าครึ่งที่ได้รับความเสียหาย โมซัมบิกภายหลังการประกาศเอกราชในปี 1975 จึงไม่ต่างจากร่างที่ไร้ชีวิต ชาวโมซัมบิกใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในรัฐที่ล้มเหลว ในแง่นี้โมซัมบิกอาจไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศในแอฟริกาภายหลังการประกาศเอกราชมากนัก หากแต่วิธีการเยียวยาบาดแผลของประเทศผ่านงานศิลปะ บทบาทของศิลปะในการต่อสู้เพื่อการปลดแอก เพื่อการวางรากฐานวัฒนธรรมสันติวิธี รวมไปถึงเพื่อจรรโลงสังคม ทำให้โมซัมบิกกลายเป็นบทเรียนที่น่าสนใจให้กับนานาชาติได้ศึกษา

ศิลปะเพื่ออิสรภาพ

      นับตั้งแต่โปรตุเกสเริ่มเข้ามาอิทธิพลและยึดครองโมซัมบิกเป็นอาณานิคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 161 วัฒนธรรมดั้งเดิมของโมซัมบิกถูกกดทับและผสานเข้ากับวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม การสูญเสียอัตลักษณ์และถูกตัดขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองสร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้กับชาวโมซัมบิก ไม่ต่างจากความบอบช้ำทางร่างกายจากการถูกบังคับใช้แรงงานในระบบอาณานิคม การไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วตัวเราเป็นใคร มีรากเหง้ามาจากไหน ได้สร้างความรู้สึกของความด้อยกว่าในสำนึกของชาวโมซัมบิก นำไปสู่การสูญเสียความภาคภูมิต่อตนเองและต่อชุมชนในที่สุด

      ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกระแสการปลดแอกจากอาณานิคมได้พัดพามาถึงโมซัมบิก กลุ่มปัญญาชนและศิลปินชาวโมซัมบิก ตัวอย่างเช่น มาลังกาตานา วาเลนเต้ กเวนยา (Malangatana Valente Ngwenya), อัลเบอร์โต ชิสซาโน (Alberto Chissano), เบอร์ทินา โลเปซ (Bertina Lopes), โนเอล ลังกา (Noel Langa) และ อินาซิโอ มัทซินเย (Inacio Matsinhe) ได้เริ่มขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคม ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อบอกเล่าถึงการต่อสู้ของชาวโมซัมบิกและความทุกข์ยากของชีวิตในอาณานิคม รวมไปถึงเพื่อฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของโมซัมบิกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยพวกเขาหวังว่าสารที่ส่งผ่านผลงานศิลปะจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวโมซัมบิกในการลุกขึ้นมาต่อสู้ปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง สังคมและวัฒนธรรมภายในประเทศ เหล่าศิลปินในห้วงเวลานั้นเชื่อว่า งานศิลปะจะทรงคุณค่าเมื่อสามารถสื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นงานศิลปะจึงต้องมีความเป็นการเมืองอย่างขาดเสียมิได้ ตามที่มาลังกาตานา กล่าวไว้ว่า

      “บทสนทนาอันเรียบง่ายและเข้าใจได้คือคุณสมบัติของศิลปะ ความมีชีวิตชีวาของงานศิลปะ ที่ร่ำร้องต่อหน้าผู้ชมนั้นเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวและชีวิต อันจะทำให้ผู้ที่รับชมมันต้องร่ำไห้และสร้างความสั่นไหวให้เกิดขึ้นในร่างกายของเขา เช่นนี้ มันจึงคุ้มค่าที่เราจะมีงานศิลปะ จะสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อที่จะแสดงมันในฐานะพลังที่อยู่ในเส้นเลือดของเรา และความเร่าร้อนในเลือดของเรา”2

Untitled, Malangatana 1967
ที่มา: https://www.tate.org.uk/art/artworks/ngwenya-untitled-t13985

การเกิดขึ้นของกระแสชาตินิยมและสำนึกของวัฒนธรรมชาติในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐบาลอาณานิคม ประกอบกับการก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยโมซัมบิก หรือ เฟรลิมู (The Front for the Liberation of Mozambique: FRELIMO) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ทำให้รัฐบาลอาณานิคมโปรตุเกสเริ่มปราบปราม ลงโทษและจับกุมกลุ่มผู้ต่อต้าน อย่างไรก็ตาม เหล่าศิลปินชาวโมซัมบิกยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์งานศิลปะต่อต้านอาณานิคมอย่างมุ่งมั่นและแข็งขันต่อไปในช่วงทศวรรษสุดท้ายของการปกครองภายใต้ระบบอาณานิคม

      ในห้วงเวลาของการต่อสู้เพื่อเอกราช การส่งเสริมฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรมโมซัมบิกดั้งเดิม นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเฟรลิมู การประชุมด้านวัฒนธรรมครั้งแรกในปี 1972 เปิดโอกาสให้เหล่าปัญญาชนและศิลปินชาวโมซัมบิกและโปรตุเกสถกเถียงกันในสามคำถามสำคัญ หนึ่ง อะไรคือวัฒนธรรมโมซัมบิก สอง อะไรคือการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมโมซัมบิกและสิ่งที่เราต้องรักษาไว้ และสาม เราจะพัฒนาวัฒนธรรมของโมซัมบิกได้อย่างไร ต่อมาเมื่อความคิดต่าง ๆ ได้ตกผลึกเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว เฟรลิมู ได้เขียนคำประกาศการปฏิวัติโมซัมบิกขึ้นมาในปี 1972 มีใจความตอนหนึ่งว่า

      “หนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิวัติคือ การอนุญาตให้ผู้คนสร้างสรรค์ ปลดปล่อยพลังที่ถูกกดทับมาเป็นเวลานาน และเมื่อมันเป็นอิสระ พลังเหล่านั้นจะทำให้เราเห็นความสามารถของผู้คนในการสร้างสิ่งที่น่าอัศจรรย์ในทุกแขนง ทั้งการเมือง ศิลปะ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์”3

กล่าวได้ว่า ความทุกข์ยาก ประกอบกับสถานการณ์การทางการเมืองในช่วงอาณานิคม ได้หลอมรวมบรรดาศิลปินในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ในห้วงเวลานั้นการต่อสู้และปลดแอกชาติจากระบอบอาณานิคมคือหัวใจหลักของการทำงานศิลปะ ต่อมาเมื่อกลุ่มเฟรลิมูมีชัยเหนือเจ้าอาณานิคมและประกาศเอกราชในปี 1975 รัฐบาลสังคมนิยมยังคงให้การสนับสนุนเหล่าศิลปินต่อไป แนวความคิดเรื่องศิลปะเพื่อมวลชน (Popular Art) จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการสังคมนิยมต่างๆของรัฐ และเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของชาวโมซัมบิก (The Homem Novo / New Man) รวมไปถึงการสร้างรากฐานวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย (Modernization) และการปฏิวัติวัฒนธรรมชาติ (Cultura Nacional Revolucionaria) เช่นนี้ ประวัติศาสตร์การพัฒนาศิลปะสมัยใหม่ของโมซัมบิกในช่วงทศวรรษที่ 1960 จึงยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองอย่างแนบแน่น กล่าวคือ ศิลปะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการปลดแอกและเปลี่ยนแปลงสังคมโมซัมบิกภายหลังการประกาศเอกราช

ศิลปะร่วมสมัยเพื่อสันติภาพ

      หลังจากโมซัมบิกประกาศเอกราชได้ 2 ปี บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดจากนโยบายสังคมนิยมที่เข้มงวด การลงโทษผู้ที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลอาณานิคม รวมไปถึงการประกาศให้การจัดตั้งพรรคฝ่ายค้านเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ได้นำประเทศโมซัมบิกไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลสังคมนิยมเฟรลิมูกับกลุ่มกบฏเรนาโม (Resistencia Nacional Mocambicana: RENAMO) ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวโปรตุเกสในโมซัมบิก รวมถึงรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านอย่าง โรดีเชีย (Rhodesia) หรือสาธารณรัฐซิมบับเวในปัจจุบัน และแอฟริกาใต้ ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี (1977 – 1992) ด้วยยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มกบฎเรนาโม หลายแสนชีวิตได้ถูกฆ่าและทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม มีการบังคับและใช้ความรุนแรง เกณฑ์พลเมืองไปเป็นทหาร มีการสังหารหมู่ในชุมชนที่ไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มกองกบฎ สาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งการคมนาคม การสื่อสาร การบริการต่างๆ ของรัฐถูกทำลาย ระบบสาธารณสุขและการศึกษาไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งหมดนี้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเฟรลิมู และในที่สุดการตอบโต้ด้วยอาวุธระหว่างทั้งสองฝ่ายได้นำความเสียหายมาสู่ประเทศอย่างที่ไม่อาจประเมินค่าได้

      ภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี 1992 ชาวโมซัมบิกหลายชีวิตไม่เพียงแต่ได้รับบาดเจ็บทางกาย แต่ยังต้องรับมือกับความบอบช้ำทางจิตใจจากการเผชิญหน้ากับความรุนแรงและใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวในภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน (Post-conflict trauma) นอกจากนี้ ระบบสาธารณูปโภคกว่าครึ่งของประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้กว่า 24 ล้านชีวิตต้องดำรงชีพอยู่ด้วยความยากลำบาก ความเสียหายอย่างหนักในทุกด้านทำให้การบูรณะฟื้นฟูประเทศโมซัมบิกภายหลังสงคราม(Post-conflict reconstruction) เป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมไปถึงความช่วยเหลือจากประชาคมโลก

      ภารกิจอันเป็นหัวใจหลักของงานฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม คือ การป้องกันการอุบัติซ้ำของความรุนแรง ในกรณีของโมซัมบิก ความท้าทายประการสำคัญคือ การครอบครองและซื้อขายอาวุธในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปืนไรเฟิล AK-47 ซึ่งชาวบ้านถือครองไว้เพื่อปกป้องตัวเองตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมือง การมีอยู่ของอาวุธอย่างแพร่หลายนับเป็นความเสี่ยงต่อการก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งภายในประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้น เช่นนี้ สมาคมคริสเตียนแห่งโมซัมบิก (The Christian Council of Mozambique: CCM) นำโดย มุขนายก ดอม ดินิส เซนกูเลน (Bishop Dom Dinis Sengulane) จึงริเริ่มโครงการปลดอาวุธ (Disarmament) ในปี 1995 ชื่อ “Transforming Guns into Hoes” โดยเก็บรวบรวมอาวุธจากชาวบ้าน แล้วนำมาทำลายหรือดัดแปลงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น จอบ คันไถ กรรไกร และเครื่องมือทำกินอื่นๆ โครงการของ CCM ถือเป็นโครงการปลดอาวุธที่ประสบความสำเร็จและกลายมาเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับการสร้างสันติภาพภายหลังสงคราม (Post-Conflict Peacebuilding) เบื้องหลังความสำเร็จของ CCM คือ หน่วยข่าวกรองชุมชม (Community Intelligence Force or Forca de Inteligencia Comunitaria: FIC) ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคยเป็นทหารในกองกำลังของเฟรลิมูและเรนามูในช่วงสงครามกลางเมือง กลุ่มเยาวชน FIC มีเป้าหมายที่จะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคงที่นำโดย CCM ผ่านการอบรมเทคนิคการจัดเก็บข่าวกรองให้กับสมาชิกในชุมชน เพื่อนำไปสู่การเก็บและทำลายอาวุธที่ถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนข่าวกรองตั้งอยู่บนข้อตกลงว่า บุคคลหรือชุมชนใดที่ให้ข้อมูลข่าวกรองที่แม่นยำ จะได้รับอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เช่น จักรยาน เครื่องจักรเย็บผ้า หลังคาสังกะสี เครื่องมือทางการเกษตร เป็นการตอบแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและสภาพอาวุธที่เก็บมาได้ โครงการปลดอาวุธของ CCM ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากโครงการ กล่าวคือ การมีเครื่องมือไว้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือ การวางรากฐานของวัฒนธรรมสันติวิธีผ่านการเปลี่ยนอาวุธให้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งเป็นสารอันทรงพลังที่ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพในประเทศและหลีกเลี่ยงการใช้ความความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โมซัมบิกนับเป็นประเทศแรกของโลกที่รัฐบาลยอมรับให้ภาคประชาชน (อย่าง CCM) มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสมบูรณ์ในการปลดอาวุธภายหลังสงคราม (Disarmament, Demobilization and Reintegration: DDR) และมีบทบาทนำในกระบวนการสร้างสันติภาพภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปราะบาง

      ในขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่และการก่อตั้งกลุ่มสมาคมศิลปินอย่าง The Contemporary Art Movement of Mozambique (MUVART) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่วงการศิลปะในโมซัมบิกอย่างมาก ทั้งวิธีการผลิต การนำเสนอ รวมไปถึงการตอบสนองต่อตลาดโลก งานศิลปะกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ แกลอรี่หลายแห่งก่อกำเนิดขึ้นในมาปูโต เมืองหลวงของประเทศ ส่งผลให้วงการศิลปะในช่วงหลังสงครามกลางเมืองเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

      สมาคม MUVART มีข้อเสนอให้แบ่งแยก ศิลปะร่วมสมัยออกจากศิลปะแบบดั้งเดิมของโมซัมบิก ที่ยึดโยงอยู่กับการเมือง การต่อสู้เพื่อเอกราช และการแสวงหาอัตลักษณ์ของชาติ เนื่องจากศิลปะแบบดั้งเดิมของโมซัมบิกมีการจำกัดขอบเขตและมอบหมายบทบาทหน้าที่เฉพาะให้กับศิลปะ ซึ่งถือเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์และความเป็นอิสระ อันเป็นหัวใจของการทำงานศิลปะ ทั้งนี้ เพื่อให้หลุดออกจากกับดักของชาตินิยมทางวัฒนธรรม เหล่าศิลปินรุ่นใหม่จึงเห็นว่า ศิลปะร่วมสมัยควรจะยึดโยงเข้ากับเหตุการณ์ร่วมสมัยและแนวความคิดอิสระอื่นๆ รวมไปถึงวิธีการผลิตงานศิลปะที่สามารถผสมผสานระหว่างเทคนิคแบบดั้งเดิมของโมซัมบิกกับแบบตะวันตก อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงเน้นย้ำว่า ความงามของศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับทั้งแนวความคิดเบื้องหลังผลงานศิลปะไม่น้อยไปกว่าตัวศิลปะเอง และนี่นับเป็นฉากหลังสำคัญให้กับการเปลี่ยนแปลงของโครงการการปลดอาวุธของ CCM โครงการเปลี่ยนอาวุธให้กลายเป็นงานศิลปะ (Transformacao de Armas em Enxadas: TAE) ได้ถูกริเริ่มขึ้นในปี 1997 โดยรวบรวมเหล่าศิลปินโมซัมบิกรุ่นใหม่จากสมาคมศิลปิน Nucleo de Arte4 ในเวลาต่อมา ผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการศิลปะของโมซัมบิกอย่างมาก ผ่านกระแสการนำวัสดุเหลือใช้ (โดยเฉพาะอาวุธ) มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของเทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตงานศิลปะ และในที่สุดได้พัฒนากลายมาเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะร่วมสมัยในโมซัมบิกอีกด้วย

The commissioned, Goncalo Mabunda 2016
ที่มา: https://www.jackbellgallery.com/exhibitions/72/works/artworks-7313-goncalo-mabunda-the-commissioned-2016/

ว่ากันว่า แม้ว่าความทรงจำเกี่ยวกับสงครามและความรุนแรงจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด แต่ความพยายามในการลบเลือนความทรงจำเหล่านั้นถือเป็นการกระทำความรุนแรงที่ยิ่งกว่า ดังนั้น การจดจำความรุนแรงของสงครามและระลึกถึงความสูญเสียในอดีต ในฐานะเครื่องเตือนใจและบทเรียนของสังคมถือเป็นหน้าที่สำคัญ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอนาคตที่ปราศจากความรุนแรง โครงการเปลี่ยนอาวุธให้กลายเป็นผลงานศิลปะเองก็ยืนอยู่บนฐานคิดเช่นนี้ โลหะที่เคยคร่าชีวิตผู้คนในอดีตถูกแปรเปลี่ยนและสร้างสรรค์ให้กลายมาเป็นเครื่องมือที่จรรโลงสังคม บอกเล่าถึงความโหดร้ายของสงครามและคุณค่าของสันติภาพ ในแง่นี้แล้วศิลปะร่วมสมัยในโมซัมบิกจึงสวมรับบทบาทหน้าที่ในการสร้างสันติภาพและวางรากฐานวัฒนธรรมสันติวิธี รวมไปถึงการเยียวยาบาดแผลในใจของผู้คน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ประชาคมโลกหันมาสนใจและสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศโมซัมบิก

     อย่างไรก็ตามแม้ว่าสงครามกลางเมืองในโมซัมบิกจะจบลงไปนับตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพในปี 1992 แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเฟรลิมูและกลุ่มกบฎเรนาโมยังคงดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งมีการปะทะกันอีกครั้งในปี 2013 บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดในตอนกลางของประเทศสร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้กับประชาชนว่าประเทศจะกลับไปสู่สภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในห้วงเวลานั้น ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง จอร์จ โฮเซ่ มงกวมเบ (Jorge Jose Munguambe (Makolwa) สร้างสรรค์ผลงานชื่อ “ความครั่นคร้ามต่อการหวนคืนสู่สงคราม” (O medo de voltar a Guerra/ The fear of returning to war) ขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันของประเทศ นั่นคือ ความกังวลและหวาดกลัวของชาวโมซัมบิกที่เกรงว่าสงครามจะพรากอนาคตไปจากพวกเขา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผลงานของมงกวมเบนับเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการบอกเล่าถึงสถานการณ์อันเปราะบางของประเทศโมซัมบิกในเวลานั้นต่อประชาคมโลก

O medo de voltar a guerra, Jorge Jos? Munguambe (Makolwa) 2013
ที่มา: https://www.researchgate.net/figure/Jorge-Jose-Munguambe-Makolwa-O-medo-de-voltar-a-guerra-mixed-recycled-materials-2013_fig1_287896313

เมื่อผลงานของศิลปะของศิลปินชาวโมซัมบิกถูกนำไปจัดแสดงในต่างประเทศมากขึ้น ผลงานทางศิลปะที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับสงครามในโมซัมบิกก็ได้รับกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก โมซัมบิกกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับผู้มีใจรักในงานศิลปะแอฟริกันร่วมสมัย และด้วยคุณค่าในเชิงพาณิชย์ของงานศิลปะที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เหล่าศิลปินรุ่นใหม่หันมาทำงานศิลปะเพื่อตอบสนองต่อตลาดโลกมากขึ้น จนเกิดเป็นคำถามต่อบทบาทหน้าที่ของงานศิลปะและศิลปินที่มีต่อสังคมโมซัมบิกในปัจจุบัน

ศิลปะเพื่อสังคม

      ปัจจุบันการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปะร่วมสมัยในโมซัมบิก เหล่าบรรดาศิลปินรุ่นใหม่มีการสรรหาวัสดุหลากหลายชนิดนอกเหนือไปจากอาวุธ มาใช้ผลิตงานศิลปะเพื่อบอกเล่าประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น โดมิงโกส คอมมิเช่ มาบองโก (Domingos W. Comiche Mabongo) ศิลปินผู้รณรงค์เรื่องอันตรายของการเมาแล้วขับ ได้นำชิ้นส่วนรถยนต์และวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ มาใช้ผลิตผลงาน รวมไปถึงบอกเล่าเรื่องราวการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์การประท้วง เดือนกันยายน ปี 2010 เมื่อประชาชนออกมาประท้วงการขึ้นราคาสาธารณูปโภคภายในประเทศ (Bread Riots) จนเป็นเหตุให้กิจกรรมต่างๆ ในกรุงมาปูโตต้องหยุดชะงักลง โดยมาบองโกได้รวบรวมอุปกรณ์ในการประท้วง และอาวุธของตำรวจที่ใช้ในการปราบปรามควบคุมประชาชนมาใช้ในผลงานศิลปะของเขา

      นอกจากนี้ยังมีศิลปินอย่าง เนลสัน ออกุสโต คาร์ลอส เฟอเรร่า (Nelson Augusto Carlos Ferreira (Pekiwa) ที่นำเครื่องมือประมง มาดัดแปลงเป็นงานศิลปะเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมและสังคมของกลุ่มชาวประมงของโมซัมบิก เซเฟอริโน่ ชิกวมบา (Zeferino Chicuamba) ที่นำอุปกรณ์ทำครัวอย่างหม้อและกระทะมาสร้างสรรค์เป็นหน้ากากมากอนดี (Makonde) ซึ่งถือเป็นศิลปะท้องถิ่นของชาวโมซัมบิก อานา วีลันกูกอส (Ana Vilankulos (Matswa) ที่นำผ้าคาปูลานา (Capulanas) ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลายกราฟิกที่มีสีสันสดใสอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงโมซัมบิกและแอฟริกันโดยทั่วไป มาใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อบอกเล่าถึงอัตลักษณ์และบทบาทของผู้หญิงในสังคมโมซัมบิก และเอนริก วิเชนโต คาลิสโต (Henrique Vicente Calisto (Calisto) ที่นำภาพของผู้นำทางการเมืองอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวโมซัมบิกอย่าง เอดูอาโด มอนด์เลน (Eduardo Mondlane) และ ซาโมรา มาเคิล (Samora Machel) มาใส่ในผลงานศิลปะรีไซเคิลของเขา เพื่อรณรงค์ประเด็นทางสังคมต่างๆ อาทิ การป้องกันโรคเอดส์ เป็นต้น

      ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความทรงจำอันแสนเจ็บปวดจากความขัดแย้งและความรุนแรงในประวัติศาสตร์โมซัมบิก ได้หล่อหลอมสำนึกทางสังคมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่ศิลปินชาวโมซัมบิก ศิลปะจึงมีความหมายมากไปกว่าสุนทรียภาพหรือความงาม หากแต่มีบทบาทหน้าที่และภาระผูกพันทางศีลธรรมต่อสังคมในการนำพาประเทศไปสู่สังคมที่ดีกว่า


อ้างอิง

[1] ช่วงที่โมซัมบิกเป็นอาณานิคมช่วงแรก (The first wave of colonization) โดยโปรตุเกส เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1505 โดยเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนเท่านั้น คือเกาะ ilha de mozambique เพื่อทาการค้าทาส และเป็นท่าเรือสาหรับค้าขายแลกเปลี่ยนกับอินเดีย สาหรับอาณานิคมช่วงที่สอง (The second wave of colonization) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1884 (Scramble for Africa) ซึ่งโปรตุเกสเข้ายึดครองพื้นที่ทั้งหมดของโมซัมบิกในปัจจุบัน

[2] Edward A. Alpers (1988), “Representation and Historical Consciousness in the Art of Modern Mozambique”, Canadian Journal of African Studies, 22(1), p. 85.

[3] Ibid., p. 89.

[4] ได้แก่ Crist?v?o Estav?o Canhavato (Kester), Humberto Pateguana, Eug?nio Saranga, Fernando Rosa da Silva Mudanisse, Fiel dos Santos Marques Rafael, Hil?rio Nhatugueja, ?dasse Ekson Malendza, Adelino Serafim Mate, Micas Pedro Nungo, Sebasti?o Armando Jonze, Carlos S. Ferreira Sim?es, Jo?o Paulo Queh?, Bernardo Carrula และ Gon?alo Mabunda


บรรณานุกรม

Alpers, E. A. (1988). Representation and Historical Consciousness in the Art of Modern Mozambique, Canadian Journal of African Studies, 22(1), pp. 73-94.
Costa, A. (2018). Artists of Mozambique: Looking at themselves and at their world, Third Text Africa, 5, pp. 1-23.
Rivas, V. D. (2014). Contemporary Art in Mozambique: Reshaping Artistic National Canons, Critical Interventions, 8 (2), pp. 160-175.
Schwartzott, A. (2014). Conceptual, Temporal, and Tangible: Discursive Spaces of Contemporary Art in Maputo, Critical Interventions, 8(2), pp. 221-245.
Schwartzott, A. (2014). Looking Forward Towards Peace by Remembering the Past: Recycling
War and Lived Histories in Contemporary Mozambican Art, Tydskrif Vir Letterkunde, 51(2), pp. 156-196.
Tester, F. J. (2006). Art and Disarmament: Turning Arms into Ploughshares in Mozambique, Development in Practice, 16(2), pp. 169-178.


ประวัติผู้เขียน

คุณนฤมล เตือนภักดี
Senior project executive -International research ที่Rapid Asia
ความสนใจทางวิชาการ: พัฒนาการทางเมืองเศรษฐกิจและสังคมในแอฟริกา, ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งในแอฟริกา, ประวัติศาสตร์อาณานิคมและชาติพันธุ์, การพัฒนาระหว่างประเทศ


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk