นโยบายการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลสารสนเทศกับการรับมือกับข่าวลวง

แนวคิด

     กระแสธารความคิดว่าด้วยการรู้เท่าทันสื่อก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เมื่อตัวแทนของ 19 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาสื่อสารมวลชน (International Symposium on Media Education) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ในปี ค.ศ. 1982 ได้รับรองคำประกาศแห่งกรูนวาล์ดว่าด้วยการศึกษาสื่อสารมวลชน (The Gr?nwald Declaration on Media Education) อย่างไรก็ตาม แนวคิดว่าด้วยการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น ในฐานะเครื่องมือในการรับมือกับข่าวลวงซึ่งกลายมาเป็นความท้าทายชุดใหม่ภายใต้ภูมิทัศน์สื่อในโลกดิจิทัล รัฐบาล องค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานในหลายประเทศพยายามชูนโยบายรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ด้วยวิถีการบริโภคสื่อของผู้คนที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีดิจิทัล ในปัจจุบันแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลสารสนเทศมิได้จำกัดเฉพาะสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมสื่อออนไลน์ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อก็ไม่จำกัดเฉพาะสื่อสารมวลชน แต่ยังรวมถึงสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์

     อนึ่ง ในปัจจุบันสื่อออนไลน์กลายมาเป็นช่องทางที่ผู้คนจำนวนมากใช้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกออนไลน์กลายมาเป็นพื้นที่ทางการเมืองของเยาวชนที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล1 ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “Digital Native” ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะทำให้ผู้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในโลกดิจิทัลมีความระวังไหวต่อข้อมูลข่าวสารที่จงใจใช้ในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง สร้างความแตกแยก และเผยแพร่แนวคิดสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม แนวความคิดว่าด้วยการรู้เท่าทันสื่อ นั้นถูกตีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งลักษณะของระบบนิเวศสื่อ (Media Ecology) เฉพาะของแต่ละประเทศ ดังนั้นนโยบายการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว มีทิศทางที่ชัดเจน และสอดรับกับปัญหาข่าวลวงที่กำลังทำให้ข้อมูลในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยถูกบิดเบือน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตย

     ในแง่นี้ การรู้เท่าทันสื่อจึงไม่สามารถแยกออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย สอดคล้องกับแนวคิดของ Lewis & Jhally (2006) ที่มองว่าเป้าหมายของการรู้เท่าทันสื่อประการหนึ่งคือการสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันการเมือง (Sophisticated Citizens) ซึ่งมีความสามารถในการท้าทายสถาบันสื่อ2 เพราะฉะนั้นภายใต้วิธีคิดนี้ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองในบริบทของสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ3 เพราะฉะนั้น การรักษาคุณภาพการสื่อสารทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยนโยบายการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญนโยบายเหล่านี้ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการเสริมพลังประชาชนให้สามารถจำแนกแยกแยะข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จได้ด้วยตนเอง มิใช่การบีบบังคับให้เชื่อหรือควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในพื้นที่สื่อต่าง ๆ

     ในส่วนถัดไป ผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างของนโยบายการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลสารสนเทศจากสหภาพยุโรป เพื่อให้เห็นภาพว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยลงหลักตั้งมั่นดำเนินการรับมือกับข่าวลวงการเมืองอย่างไร และมีบทเรียนอะไรที่น่าสนใจ


นโยบายการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศในสหภาพยุโรปกับการรับมือกับข่าวลวง

     สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยข้อมูลปลอม (The EU Code of Practice on Disinformation: COP) ในปี พ.ศ. 2561 ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการรับมือกับความท้าทายจากการแพร่หลายของข่าวลวง และถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่ภาคอุตสาหกรรมข้อมูลลงนามยอมรับมาตรฐานในการจัดการกับข่าวลวงโดยสมัครใจ4 ประมวลฉบับนี้มีความสำคัญอีกประการหนึ่งเพราะได้ให้นิยาม“ข้อมูลปลอม (Disinformation)” ไว้ชัดแจ้ง ดังนี้

     “ข้อมูลปลอม” หมายความว่า “ข้อมูลที่ชักนำไปในทางที่ผิดหรือตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นจริง” ซึ่งรวมทั้ง
     (a) “ที่ถูกสร้าง นำเสนอ และเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อหลอกลวงสาธารณะโดยจงใจ” และ
     (b) “อาจก่อความเสียหายต่อสาธารณะ จงใจให้เป็นภัยต่อกระบวนการทางการเมืองและกำหนดนโยบายที่เป็นประชาธิปไตย และต่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การคุ้มครองสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองสหภาพยุโรป”

     มโนทัศน์ว่าด้วย “ข้อมูลปลอม” ไม่รวมถึงการโฆษณาที่ชักนำในทางที่ผิด (Misleading Advertising) การรายงานข่าวผิดพลาด การเสียดสี และล้อเลียน (Satire and Parody) หรือความคิดเห็นและข่าวที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเข้าข้างทางการเมือง และไม่ขัดต่อพันธกรณีทางกฎหมาย ประมวลการควบคุมกันเองในเรื่องโฆษณา และมาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาที่ชักนำในทางที่ผิด5

     จากนิยามข้างต้น ข้อสังเกตประการหนึ่งที่น่าสนใจคือประเด็นผลกระทบของข้อมูลปลอมต่อกระบวนการทางการเมืองและกำหนดนโยบายที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจในสหภาพยุโรปอย่างยิ่งเพราะความกังวล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยในระดับนานาชาติ และหลายประเทศก็เริ่มแสวงหาแนวทางในการรับมือกับข่าวลวง โดยมีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามความเร่งด่วนและผลกระทบของปัญหาดังกล่าวต่อการเมืองภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากการเกิดข้อกังขาต่อการปั่นป่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2559 โดยรัสเซียผ่านการจงใจเผยแพร่ข่าวปลอม6 ก็มีการตั้ง คณะกรรมาธิการกลั่นกรองของวุฒิสภาว่าด้วยข่าวกรอง (The Senate Select Committee on Intelligence) เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง7 ในยุโรปเอง สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่มุ่งจัดการกับปัญหาข่าวลวงการเมืองในประเทศสมาชิก กลไกที่สำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบายการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือหน่วยงานด้านโครงข่ายการสื่อสาร เนื้อหา และเทคโนโลยี (Directorate-General for Communications Networks, Content and Technology) ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยมีการตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy Expert Group) เพื่อประสานความร่วมมือในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อระหว่างประเทศสมาชิก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงว่าด้วยข่าวลวงและข่าวปลอมออนไลน์ (The EU’s High-Level Expert Group (HLEG) on Fake News and Online Disinformation) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากทั้งสื่อสารมวลชน ภาคเอกชนด้านสื่อสังคมออนไลน์ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ภารกิจหลักของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงดังกล่าวคือการให้คำแนะนำคณะกรรมาธิการในเรื่องเกี่ยวกับข่าวลวงทั้งในมิติภายในสหภาพยุโรป และในมิติระหว่างประเทศ8 นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะทำงาน “East StratCom Task Force” ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service) ในปี พ.ศ. 2558 ภารกิจของคณะทำงานได้แก่ การส่งเสริมการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ในเรื่องนโยบายของสหภาพยุโรปต่อประเทศเพื่อนบ้านในด้านตะวันออก การสร้างความเข้มแข็งให้กับสิ่งแวดล้อมสื่อในประเทศเพื่อนบ้านในด้านตะวันออก และการรับมือกับข่าวลวงจากรัสเซีย9

     ตลอดจนในปี พ.ศ. 2561 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ได้มีการอภิปรายถกเถียงในเรื่อง “การจัดการกับการแพร่หลายของข่าวปลอมทางออนไลน์: ความท้าทายสำหรับระบบนิเวศสื่อ” ในเอกสารประกอบการอภิปรายที่เตรียมโดยประธาน (Presidency Discussion Paper) มีการกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งในเรื่องการรับมือกับข่าวปลอมในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้ง10 ในปีเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปได้มีการประกาศแผนปฏิบัติในการรับมือกับข่าวลวง (The Action Plan Against Disinformation) โดยมีเป้าหมายประการสำคัญคือการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยในสภาวะที่ข่าวปลอมแพร่กระจายในวงกว้าง แผนปฏิบัติการนี้มุ่งพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปในการตรวจจับ วิเคราะห์และเปิดโปงข่าวปลอม เสริมสร้างความร่วมมืออย่างเข้มข้นระหว่างประเทศสมาชิกในการรับมือกับข่าวลวง ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในภาคเอกชน และสร้างสังคมที่ไม่เปราะบาง (Resilience) ต่อข่าวลวง11 จากที่ได้อภิปรายในข้างต้น จะเห็นแนวทางในเชิงนโยบายและสถาบันของสหภาพยุโรปในการรับมือกับข่าวลวง หากพิจารณาในวิธีการที่เป็นรูปธรรม หนึ่งในวิธีการที่สหภาพยุโรปเน้นคือการสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนเพราะหนทางนี้ไม่ขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย

     นิยามที่เป็นทางการของ “การรู้เท่าทันสื่อ” ในสหภาพยุโรป คือ “ทักษะ, ความรู้ และความเข้าใจซึ่งอำนวยให้พลเมืองใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย พลเมืองจำเป็นต้องมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อในระดับสูงเพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูล ใช้และประเมินสื่อจากมุมการวิพากษ์ และผลิตเนื้อหาในสื่อด้วยความรับผิดชอบและปลอดภัย การรู้เท่าทันสื่อไม่ควรจะจำกัดเฉพาะเครื่องมือและเทคโนโลยีการเรียนรู้ แต่ควรมุ่งทำให้พลเมืองมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ซึ่งจำเป็นต่อการตัดสิน และวิเคราะห์ความเป็นจริงที่ซับซ้อน และตระหนักในความแตกต่างระหว่างความคิดเห็นกับข้อเท็จจริง”12 นิยามนี้ได้วางแนวปฏิบัติในระดับภูมิภาคและสะท้อนในแนวทางระดับชาติของประเทศสมาชิกด้วย ในส่วนต่อไป ผู้เขียนนำเสนอกรณีศึกษานโยบายการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศในสาธารณรัฐเอสโตเนียและสาธารณรัฐฟินแลนด์ในฐานะการรับมือกับข่าวลวงโดยสังเขป ทั้งสองประเทศถูกเลือกเพราะได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อสูงที่สุดใน 5 อันดับแรก จากรายงานของ Open Society Institute Sofia13 กุญแจสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จคือการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical-thinking skills) ผ่านระบบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ14


อ้างอิง

[1]Robb, M. B. 2017. News and America’s Kids: How Young People Perceive and are Impacted by the News. San Francisco, CA: Common Sense.
[2]Justin Lewis and Sut Jhally, “The Struggle Over Media Literacy”, Journal of Communication 48, no. 1 (1998): 109 – 120.
[3]Kellner, Douglas and Jeff Share (2005) ‘Towards Critical Media Literacy: Core Concepts, Debates, Organizations, and Policy’, Discourse: Studies in the Cultural Politics of Education, 26(3): 369-386.
[4]European Commission, Code of Practice on Disinformation, September 26, 2018, https://ec.europa.eu/digital-single-market/en/news/code-practice-disinformation.
[5]เช่น Directive 2006/114/EC of the European Parliament and of the Council of 12 December 2006.
[6]ในเอกสารของคณะกรรมาธิการกลั่นกรองของวุฒิสภาว่าด้วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “การเผยแพร่ข้อมูลเท็จอย่างจงใจ (The Spread of Intentionally False Information on Social Media)”
[7]โปรดพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานของคณะกรรมาธิการซึ่งเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต https://www.intelligence.senate.gov/sites/default/files/documents/Report_Volume2.pdf.
[8]European Commission, Experts appointed to the High-Level Group on Fake News and online disinformation, January 12, 2018, https://ec.europa.eu/digital-single-market/en/news/ experts-appointed-high-level-group-fake-news-and-online-disinformation.
[9]Action Plan on Strategic Communication 22 June 2015 http://archive.eap-csf.eu/assets/files/Action%20PLan.pdf
[10]Council of the European Union, http://data.consilium.europa.eu/doc/document/ST-13362-2018-INIT/en/pdf
[11]European Commission, https://eeas.europa.eu/sites/eeas/files/action_plan_against_disinformation.pdf
[12]ข้อ 59, Directive 2018/1808 of the European Parliament and of the Council of 14 November 2018.
[13]https://osis.bg/wp-content/uploads/2019/11/MediaLiteracyIndex2019_-ENG.pdf.
[14]Charlton, E. (2019) How Finland is fighting fake news – in the classroom, World Economic Forum, 21 May, https://www.weforum.org/agenda/2019/05/how-finland-is-fighting-fake-news-in-the-classroom/.


ประวัติผู้เขียน

อ.วศิน ปั้นทอง
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ :การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ, การเมืองและสังคมของประเทศบอลติก, ความมั่นคงไซเบอร์, สหภาพยุโรป


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk