ถามหารัฐศาสตร์ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

            เป็นเวลา 28 ปีนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน ที่นานาประเทศโดยองค์การสหประชาชาติได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) เพื่อพยายามร่วมมือกันในการจัดการปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษยชาติ และเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศต่าง ๆ อย่างร้ายแรงและกว้างขวาง หากขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์และระบบนิเวศต่าง ๆ ของโลกในอนาคตได้อีกด้วย

           ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยนักวิทยาศาสตร์ที่พบว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมากจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับแต่นั้น ประเทศต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรพัฒนาไม่แสวงหาผลกำไร ได้ค่อย ๆ หาหนทางเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าเป็นประเด็นระดับโลก ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหานี้สร้างความเดือดร้อนขึ้นทั่วโลกและไม่สามารถจัดการแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ณ วันนี้ ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา และมาตรการที่ถูกนำมาใช้เพื่อการพยายามยับยั้งการแพร่ระบาด ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าสภาวะโลกร้อนทำอันตรายและสร้างความเสียหายต่อโลกธรรมชาติอย่างมาก และมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้จะไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเดิมอีกต่อไป การให้ความเอาใจใส่ในเรื่องความเป็นอยู่ชนิดที่ไม่ทำร้ายโลกและสิ่งแวดล้อมต้องมีมากขึ้น ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน ภาคการผลิต ฯลฯ

           ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (UNFCCC) ร่วมกับประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา พยายามทำงานแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมร่วมและลงนามร่วมกันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี พ.ศ. 2541 และในเวลาต่อมา ได้แก่ ข้อตกลงแห่งปารีส (Paris Agreement) ในปี พ.ศ. 2558 ในทางปฏิบัติ แนวทางที่องค์การสหประชาชาติว่าด้วยปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงนักวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาใช้ มี 4 แนวทางใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation)  (2) การปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อให้การดำรงชีวิตเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ (adaptation) (3) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อผลิตพลังงานสะอาด โดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Direct Air Capture และ (4) การจัดการการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ (Solar Radiation Management: SRM) ทั้งนี้ แนวทางการจัดการให้มีกลไกและมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นแนวทางหลัก อย่างไรก็ดี แนวทางทั้งสี่ประการต่างมีจุดอ่อน เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้การแก้ปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องนำแนวทางทั้งสี่มาใช้ร่วมกัน

           จุดอ่อนของแนวทางการจัดการปัญหาด้วยการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ปัญหาเรื่อง free-rider (คนอยากได้ประโยชน์โดยไม่ยอมลงแรง) และขาดสิ่งจูงใจ (incentives) เมื่ออากาศเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) การจัดการกับผู้ที่ก่อปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนจุดอ่อนของแนวทางการปรับตัวนั้น ที่สำคัญคือ มีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการแจกจ่าย (distributional inequalities) ส่วนการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อผลิตพลังงานสะอาด และการจัดการการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์นั้น ยังมีความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีอยู่จำกัด

           ท่ามกลางความพยายามในการหาแนวทางการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศศาสตราจารย์ Robert O Keohane (2015) นักรัฐศาสตร์สำคัญคนหนึ่งแสดงความคิดว่า ปัญหาอยู่ที่การกระทำเพื่อจัดการปัญหามีน้อยเกินไป (politics of too little action) และความพยายามจะสร้างระบอบการจัดการปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลักษณะที่รอบด้าน (comprehensive) โดยปรากฏชัดเจนในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) นั้น  ผลที่ได้รับกลับกลายเป็นระบอบที่มีความสลับซับซ้อน (a regime complex) มากกว่าที่จะเป็นระบอบระหว่างประเทศที่มีลักษณะสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน (a coherent international regime) (Keohane and Victor, 2011)  และ รัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งในทางสังคมศาสตร์นั้น  ดูเหมือนจะมีบทบาทในการพยายามแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ ทั้งที่มีองค์ความรู้มากมายที่จะช่วยให้ความร่วมมือกันในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับชุมชนสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่      

           ความคิดดังกล่าวข้างต้นนี้ชวนให้เกิดคำถามตามมาว่าจริงหรือไม่? ถ้าจริง… ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และถ้าไม่จริง… แล้วที่ผ่านมา 28 ปี รัฐศาสตร์อยู่ตรงไหนบ้างในความพยายามจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ? บทบาทดังกล่าวเป็นอย่างไร? …….ชวนคิดและหาคำตอบด้วยกันค่ะ


-ประวัติผู้เขียน-

รองศาสตราจารย์ ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ 
หัวหน้าสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สนใจและทำงานวิจัยด้านผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล
เศรษฐกิจสีน้ำเงิน นโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk