ข้อตกลงปารีสสู่การประชุมCOP26 : เป้าหมายเจรจาอันหลากหลายของนานาประเทศ

ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)  คือข้อตกลงภายในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ค.ศ. 1992 และพิธีสารเกียวโต(Kyoto Protocol – KP) ค.ศ. 1997 [1] ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 195 ประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of the Parties ครั้งที่ 21 หรือ COP21) ที่กรุงปารีสในวันที่ 12 ธันวาคม 2015 COP21 เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างของUNFCC เพื่อต่อยอดจากการประชุม 20 ครั้งที่ผ่านมาและสร้างความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้จะต้องทำให้อุณหภูมิเพิ่มเฉลี่ยของโลกไม่ เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial levels) [2] และ เป้าหมายระยะยาวคือการบรรลุระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในระดับโลก (peak global greenhouse gas emissions) โดยเร็วที่สุด รวมถึงบรรลุสมดุลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ (balance between anthropogenic emissions sources and sinks) ภายในปี ค.ศ.2050 กล่าวคือกิจกรรมของมนุษย์จะมีผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อให้สภาพภูมิอากาศกลับมาเป็นปกติในกลางศตวรรษนี้

ข้อตกลงปารีสถือเป็นก้าวสำคัญของการร่วมมือแบบพหุภาคีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นครั้งล่าสุดในการนำชาติต่าง ๆ มาทำข้อตกลงเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและเตรียมปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ข้อตกลงปารีสมีการกำหนดให้ประเทศภาคีเสนอแผนการดำเนินงาน หรือNationally Determined Contributions (NDCs) อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศมีความพยายามในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในปี 2020  ที่ผ่านมา ประเทศภาคีควรจะเสนอแผน NDCs ใหม่ ซึ่งNDCs นั้นเป็นแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าที่วางไว้ในข้อตกลงปารีส อย่างประเทศไทยมีการนำเสนอเป้าหมาย NDCs คือ ลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติ จากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) ซึ่งประเทศไทยมีแผนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม คือ  แผนแม่บทการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 และ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 นอกจากนี้ข้อตกลงปารีสยังมียุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือ Long-Term Low greenhouse gas Emission Development Strategies (LT-LEDs) [3] ซึ่งแผนนี้จะแตกต่างกับNDCs ในขณะที่NDCs ให้ประเทศภาคีกำหนดแผนการปฏิบัติในระยะสั้นถึงระยะกลางเท่านั้น แผน LT-LEDs นี้คือสิ่งที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวโดยเพิ่มความสามารถในการบรรเทาผลกระทบและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันก็กำหนดนโยบายการพัฒนาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นการเปิดมุมมองและทิศทางในการพัฒนาในอนาคต

ข้อตกลงปารีสเป็นการเปิดทางให้ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นภาคีต้องช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการสนับสนุนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยี และ ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแก้ไขและรับมือกับภาวะโลกร้อน

ในด้านการเงิน ตามข้อตกลงปารีสมีกองทุน Green Climate Fund (GCF) [4] เป็นองค์ประกอบสำคัญ GCFเป็นกองทุนด้านสภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกทำหน้าที่สนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศที่เปราะบาง มีความอ่อนแอทางการเงิน โดยให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในการบริจาคเงินให้นั้นต้องส่งเสริมการบริจาคอย่างสมัครใจจากภาคีอื่น ๆ การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินมีความสำคัญมาก เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาศัยเงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งการเงินก็สำคัญต่อการปรับตัว และลดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ในด้านเทคโนโลยี [5] ข้อตกลงปารีสได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะมีการกำหนดกรอบทางเทคโนโลยี กรอบการทำงานนี้จะให้คำแนะนำอย่างครอบคลุมแก่การทำงานของกลไกเทคโนโลยีในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขั้นสูงเกี่ยวกับการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศไปสู่ประเทศภาคีอื่น ๆ และการกำหนดกรอบเพื่อสร้างกลไกเทคโนโลยีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งและส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภูมิอากาศด้วยองค์กรหลัก 2 องค์กรคือ คณะกรรมการบริหารเทคโนโลยี (Technology Executive Committee  หรือ TEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network หรือ CTCN) นี้จะนำไปสู่การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อที่จะดำเนินการในการทำตามข้อตกลงปารีสต่อไป

และในด้านสุดท้าย คือด้านการสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ [6] จากความสามารถและสถานะของประเทศต่าง ๆ ในโลก ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ข้อตกลงปารีสจึงเน้นที่จะสร้างขีดความสามารถทางสภาพภูมิอากาศ (Great emphasis on climate-related capacity-building) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และขอความร่วมมือจากประเทศที่พัฒนาแล้วให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ด้วยการตั้งคณะกรรมการปารีสว่าด้วยการสร้างขีดความสามารถ (Paris Committee on Capacity-building หรือ PCCB)  มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการและช่องว่างด้านความสามารถทั้งในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ โดยประเทศพัฒนาแล้วจะแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิด แนวปฏิบัติที่ดี รวบรวมข้อมูลและบทเรียนที่ได้รับ ให้ความสำคัญกับการศึกษา การตระหนักรู้และมีส่วนร่วมของสาธารณชน

นอกจากนั้นข้อตกลงปารีสยังครอบคลุมอีกหลายประเด็น เช่น การบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การหลีกเลี่ยงและลดความเสียหายจากสภาวะโลกร้อน สนับสนุนศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ การมีส่วนร่วม และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นหลักการสำคัญของข้อตกลงปารีสคือจะเน้นการใช้ความร่วมมือโดยสมัครใจ และใช้การจูงใจโดยใช้ระบบตลาด [7]

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ที่ควรจะจัดขึ้นปี ค.ศ.2020 ได้ถูกเลื่อนไปเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมที่จะจัดขึ้น เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสกอตแลนด์นี้ ต้องถูกเลื่อนมาเป็นเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ.2021 ซึ่งหัวใจสำคัญในการประชุมอยู่ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 โดยพิจารณาถึงปัจจัยการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ และคำนึงถึงกรอบเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังตามข้อตกลงปารีส ซึ่งสหภาพยุโรป ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น  ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และสำหรับประเทศจีนภายในปี 2060 อีกทั้งยังคาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะกลับมาจริงจังกับการแก้ปัญหานี้หลังจากที่ถูกเมินเฉยไปในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในปีที่ผ่านมานับได้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกจากประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ก็ยังมีความท้าทายในเชิงการปฏิบัติอยู่

การประชุม COP26 ที่มีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ จะมีการกำหนดแผนและมาตรการเพื่อต่อยอดจากข้อตกลงปารีสที่เคยกำหนดไว้ในเบื้องต้น โดยส่วนมากแล้วคือการเพิ่มความทะเยอทะยานในการกำหนดเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้นจากการเลื่อนการประชุมออกไปเพราะสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีเวลามากขึ้นในการพิจารณากฎระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ และภายในประเทศในวงกว้างมากขึ้น แต่จนกว่าการเจรจาในมาตรา 6 ซึ่งว่าด้วยการสร้างตลาดคาร์บอนใหม่ทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะสิ้นสุดลง หน่วยงานต่าง ๆ จะไม่สามารถวางแผนการดำเนินงานและการลงทุนตามตลาดคาร์บอนใหม่ทั่วโลกที่เสนอได้ นอกจากการเจรจาว่าด้วยตลาดคาร์บอน สหภาพยุโรปซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการหลักของการประชุมมีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 3 แนวทางหลัก คือ ระดับประเทศ ระดับทวิภาคี และ ระดับสากล ในระดับประเทศประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 40 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55 อีกทั้งจะมีการผลักดันให้เป็นกฎหมายผูกพันระหว่างประเทศสมาชิก โดยใช้มาตรการหลักคือ ปรับปรุงการใช้พลังงาน และ เพิ่มพื้นที่ป่า นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการดูดซับคาร์บอน เป็นต้น ในระดับทวิภาคี สหภาพยุโรปต้องการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในดำเนินการแก้ปัญหาสภาพอากาศ อีกทั้งมีการพิจารณาเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนผ่านAdaptation Fund แก่ประเทศยากจนภายหลังปี 2025 และสุดท้ายคือในระดับสากล สหภาพยุโรปต้องการผลักดันการกำหนดบรรทัดฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

ในด้านขององค์กรภาคประชาชน เช่น เครือข่าย Climate Action Network ตัวแทนคือนาย Wendel Trio ได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มความสำคัญกับการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วควรจะช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถปรับตัวได้ [8] เพราะประเทศกำลังพัฒนาหรือพื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีความสำคัญกับการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศด้วยเช่นกัน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประกอบไปด้วยผู้ได้รับรางวัลโนเบล 100 คน นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัยอีกกว่า 1,300 คน [9] และ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ก็ได้มีการส่งจดหมายเปิดผนึกชี้แจงถึงจุดอ่อนอย่างร้ายแรงของข้อตกลงปารีสซึ่งจะนำไปพิจารณากันในการประชุม COP26 พวกเขากล่าวว่า “วิธีแก้ปัญหานั้นชัดเจน คือ ต้องเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ใต้ดิน เป็นที่ผู้นำต่างหาก ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ถือครองอำนาจและมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมในการดำเนินการอย่างกล้าหาญเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกทำงานร่วมกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ” [10] นำมาสู่มาตรการที่ว่าด้วยการจำกัดการลงทุนในพลังงานฟอสซิล ซึ่งถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่กลับถูกมองข้ามจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ที่ผ่านมามีแต่มาตรการด้านอุปสงค์แต่กลับไม่มีมาตรการทางด้านอุปทาน ซึ่งการลดการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานฟอสซิลจากภาครัฐนั้นเป็นอีกมาตรการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยื่นอุทธรณ์สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty หรือ FFNPT) [11]

ข้อตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญในการรวมตัวกันของแต่ละประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยมีการตั้งเป้าหมายยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก โดยหวังการร่วมมืออย่างเต็มใจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่การประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ในปี 2015 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในการประชุม COP26 ที่กำลังจะถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสกอตแลนด์ ถึงกระนั้นก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้นขัดขวางเป้าหมายและทำให้การเจรจาไปอย่างยากลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ประเทศภาคีหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเดียวมากกว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศพยายามจะทำตามข้อตกลงปารีสเพื่อให้บรรลุผลโดยเร็วที่สุด ในการประชุมที่จะถึงนี้คงต้องตั้งรอดูกันต่อไปว่าการประชุมCOP26จะสำเร็จหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นับจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of the Parties ครั้งที่ 21 หรือ COP21)  ข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน จนมาถึงการเจรจา COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่กำลังจะถึงในเดือนพฤศจิกายนปี 2021นี้ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญมากอีกครั้งหนึ่งในการตกลงการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ละประเทศก็ต่างมีท่าทีและการเตรียมการให้บรรลุเป้าหมายในการเจรจา COP 26 ที่แตกต่างกัน

สหราชอาณาจักร ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) มีท่าทีต่อการเจรจาไปในเชิงบวกอย่างมาก สหราชอาณาจักรยังคงยึดมั่นในการดำเนินการเพื่อเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีการเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ยุติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินโดยมีกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือกลุ่ม G7 เป็นต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เปลี่ยนผ่านการใช้ถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานสะอาด สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78 ภายในปี 2035 มีการเตรียมการมาตรการอื่น ๆ ด้วย ทั้งยกเลิกการขายรถที่ใช้พลังงานฟอสซิลภายในปี 2030 และ เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหินภายในปี 2024 ซึ่งเร็วขึ้น 1 ปี [12] จากที่เคยกำหนดไว้ เพื่อหวังเป็นการกระตุ้นผู้นำประเทศทั่วโลกและสร้างผลในเวทีเจรจา COP26

สหรัฐอเมริกา ในสมัยของไบเดนพยายามแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสามารถในการที่จะบรรลุผลที่ตั้งเอาไว้ได้หลังจากที่รัฐบาลก่อนหน้าอย่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ไม่แยแสและต่อต้านต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับภูมิอากาศถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาด และ ยานพาหนะไฟฟ้า ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศกำลังพัฒนาโดยบริจาคผ่านGreen Climate Fund (GCF) [13] รัฐบาลประกาศให้คำมั่นว่าจะทำให้ภาคส่วนพลังงานปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2035 และภาคเศรษฐกิจโดยรวมภายในปี 2050 ประกาศเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-52 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2005 นอกจากนี้ยังพร้อมกระตุ้นให้ทุกประเทศเพิ่มเป้าการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ NDCs เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกก่อนจะถึงการประชุมCOP26เพื่อให้เป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิของโลกเป็นไปตามแผน อีกทั้งสหรัฐ ฯ มีแผนที่จะเพิ่มความคืบหน้าในการใกล้ชิดกับจีนในการเจรจา COP26 และ ทำข้อตกลงทวิภาคีกับจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดในโลกเพื่อที่จะให้การแก้ไขปัญหาสภาพอากาศได้ผลมากขึ้น

กลุ่ม G7 ถือเป็นกลุ่มที่เป็นความคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำของการเดินหน้าแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ในการประชุมสุดยอด G7 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 มีความมุ่งหวังจะนำประเทศประชาธิปไตยรวมตัวกันเพื่อช่วยให้โลกฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด 19 และ สร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เน้นย้ำถึงการเพิ่มความทะเยอทะยานในด้านการจัดการกับสภาพอากาศโดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนทางการเงินที่ครอบคลุม นางแพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเรียกร้องกับกลุ่มประเทศ G7 ว่า “เราไม่สามารถดับไฟป่าที่กำลังคุกคามโลกทั้งใบด้วยผ้าห่มเปียกสองสามผืน เราต้องดับมันให้หมด” [14] G7 ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าของโลกควรจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นการเร่งการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเศรษฐกิจที่สร้างคาร์บอนต่ำ และเน้นย้ำในการดำเนินนโยบายในฐานะประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มองผ่านลัทธิชาตินิยม ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเพื่อเปิดศักยภาพที่แท้จริงของข้อตกลงปารีส

สหภาพยุโรป ได้มีการเตรียมการเพื่อเพิ่มความทะเยอทะยานมากขึ้นจากการกระตุ้นของประเทศสมาชิกต่าง ๆ สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยมีการเตรียมการแนวทางไว้ 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ จากเดิมมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ40  เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55 ภายในปี 2030 ระดับทวิภาคี จะเรียกร้องให้สหรัฐ ฯ กลับเข้ามาเพิ่มบทบาทมากขึ้นและผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกองทุนในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี 2025 และระดับสากล จะผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลNDCs เพื่อติดตามความก้าวหน้า

รัสเซีย ในฐานะประเทศที่เป็นหนึ่งที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในโลก รัสเซียมีความสำคัญอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ รัสเซียถูกนักรณรงค์ด้านสภาพอากาศชาวอังกฤษ อโลค ชาร์มา เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มากกว่านี้ให้มุ่งมั่นสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 การเรียกร้องนี้รวมถึงประเทศจีนและอินเดียด้วยเช่นกันรัสเซียถูกคาดหวังจากนานาประเทศให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมากแต่เงื่อนไขในการร่วมมือของรัสเซียก็ยังเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองยิ่งกับการเข้าร่วมประชุม COP26 ที่กำลังจะถึงนี้ นักการทูตคาดว่าการเข้าร่วมของรัสเซียจะขึ้นอยู่กับการเข้าร่วมของจีน [15] ในขณะเดียวกันการเข้าร่วมของจีนก็ขึ้นอยู่กับรัสเซียเช่นเดียวกัน ในขณะที่ฝ่ายเอกชนในรัสเซียค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแต่สำหรับภาครัฐยังเป็นเรื่องท้าทายอยู่เนื่องจากอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ ในรัสเซียจึงยิ่งเป็นที่น่าจับตาว่ารัสเซียจะเข้าร่วม COP26 หรือไม่และอย่างไร

บราซิล หนึ่งในประเทศที่ส่งผลในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะป่าอเมซอนของบราซิลมีความสำคัญอย่างมากและถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง บราซิลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการกำหนด NDC เมื่อปี 2020ว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไร้ความทะเยอทะยานอย่างยิ่งแต่จากผลที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่าบราซิลมีศักยภาพมากกว่าที่ระบุไว้ใน NDC ส่วนการปกครองท้องถิ่นของบราซิลได้ปฏิบัติตามโครงการ REDD+ ของสหประชาชาติ [16] ซึ่งเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าเขตร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วยนอกจากนี้รัฐบาลของบราซิลได้ร่วมมือกับฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างจริงจัง [17] แม้ว่าในอดีตผู้นำของบราซิลอย่างประธานาธิบดีขวาจัด ฌาอีร์ โบลโซนารูเคยร่วมมือกับสหรัฐฯในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์และแสดงความรังเกียจต่อต้านการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและไม่สนใจกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายก็ตาม แต่ในตอนนี้บราซิลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินตามข้อตกลงปารีสอย่างเต็มที่

จีน อีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากในต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มอย่างก้าวกระโดด ทำให้จีนถูกคาดหวังและจับตามองจากนานาชาติในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งจีนเองก็มีท่าทีตอบรับและมีการวางแผนเตรียมการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 จีนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ เพิ่มการลงทุนและการเงินระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด หมุนเวียน และคาร์บอนต่ำในประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอาคารประหยัดพลังงาน พัฒนาการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยจีนหวังจะจับความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะเสนอ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ฉบับใหม่ต่อสหประชาชาติ แต่การที่อังกฤษวิพากษ์วิจารณ์จีนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน กรณีของชาวอุยกูร์ในพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ [18] กลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลอังกฤษสั่นคลอนและตึงเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจรจาต่อไปได้ในอนาคต

ไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด และยังเป็นประเทศผู้นำด้านการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคจึงมีความพยายามเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสและตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน ได้กำหนด 6 เป้าหมาย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศก่อนที่จะเข้าประชุมในปลายปี ได้แก่ 1. การปรับการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ 2. การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 3. การบริหารจัดการของเสีย ผ่านโมเดลบีซีจี 4. การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ 5. การมุ่งสู่ Zero Burn และ Smart Farming ผ่านโมเดลบีซีจี และเทคโนโลยีดิจิทัล 6. การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีไฮโดรเจน[19] ซึ่งมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระดับสูงสุด และ เพื่อเป้าหมายในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่ในด้านงบประมาณกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม หลังจากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมต่ำสุดในรอบ5ปี ลดลงจาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากพ.ร.บ.งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2565 จึงเป็นที่น่าเป็นกังวลว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ตามเป้าจริงหรือไม่

ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ประเทศในกลุ่ม the Alliance of Small Island States (AOSIS) ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐเกาะกำลังพัฒนาขนาดเล็ก (Small Island Developing States หรือ SIDS) การบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานของข้อตกลงปารีสและเน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างการระบาดของโควิด -19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความต้องการทางพลังงานและลดการใช้การขนส่ง ขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศ SIDS [20] และประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries หรือ LDCs) นอกจากนี้ Sonam P Wangdi ตัวแทนกลุ่มประเทศ LDCs เรียกร้องให้กลุ่ม G7 เร่งดำเนินการแก้ปัญหาทางสภาพภูมิอากาศ ขยายการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และความสามารถในการปรับตัว จัดการความเสียหายให้กับประเทศเปราะบางเหล่านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 สหประชาชาติได้เริ่มต้นการเจรจาสำหรับโครงการปฏิบัติการครั้งต่อไปเพื่อสนับสนุนประเทศกลุ่ม LDCs เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้เผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและได้รับแรงกดดันที่รุนแรงมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 แต่การเรียกร้องของกลุ่มประเทศเหล่านี้คงต้องผิดหวัง เมื่อประเทศกลุ่ม G7 ที่เป็นที่คาดหวังจากนานาชาติให้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศกลับล้มเหลวในการรวบรวมทุนเพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนกับประเทศอื่น ๆ เนื่องจากวิกฤติการณ์ระบาดโควิด-19 ประเทศกลุ่ม G7 ต้องการเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในพลังงานฟอสซิลมากกว่า ในขณะที่ประเทศยากจนโต้แย้งว่าประเทศที่ร่ำรวยคือผู้สร้างวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศที่อ่อนแอที่สุดก็เผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจาก Covid-19 และไม่มีเงินลงทุนในพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือแนวทางในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ [21] Laurie van der Burg นักรณรงค์อาวุโสของกลุ่ม Oil Change International กล่าวว่า “G7 ล้มเหลวในการปฏิบัติตามสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน และภาคประชาสังคมทั่วโลกได้แสดงให้เห็น นั่นคือการยุติการเงินสาธารณะสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด  การแก้ไขสภาพภูมิอากาศของเราไม่สามารถล่าช้าได้อีกแล้ว และความล้มเหลวของ G7 ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้หมายถึงผู้คนจำนวนมากขึ้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายล้างของสภาพอากาศที่เลวร้าย” [22]

จากท่าที่โดยรวมของประเทศต่าง ๆ ทำให้เห็นได้ว่า แต่ละประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศและแสดงความจริงจังในความต้องการจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด 19 โดยการเพิ่มเป้าหมายให้ทะเยอทะยานมากขึ้น เพื่อให้การจำกัดอุณหภูมิเป็นไปตามข้อตกลงและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หลังการเจรจาCOP26ที่กำลังจะถึงนี้เป็นที่จับตามองอย่างมากว่าแต่ละประเทศสามารถทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ได้มากแค่ไหน


อ้างอิง

[1] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. (2020). ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2021. จาก https://thai-inter-org.mfa.go.th/th/page/ความตกลงปารีส?menu=5d847835517e9b159b5eba97.

[2] United Nation Climate Change. (2018). The Paris Agreement. Retrieved June 9, 2021, from https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/the-paris-agreement

[3] Rocha and Falduto. (2019). Key questions guiding the process of setting up long-term low-emission development strategies Retrieved July 23, 2021, from https://www.oecd.org/environment/cc/Key_questions_guiding_process_settingup_LT-LEDS.pdf.

[4] Green Climate Fund. (2020). About GCF. Retrieved July 20, 2021, from https://www.greenclimate.fund/about.

[5] United Nation Climate Change. (2018). What is technology development and transfer?. Retrieved July 20, 2021, from https://unfccc.int/topics/climate-technology/the-big-picture/what-is-technology-development-and-transfer.

[6] United Nation Climate Change. (2018). Capacity-building in the negotiations. Retrieved June 20, 2021, from https://unfccc.int/topics/capacity-building/the-big-picture/capacity-building-in-the-negotiations-0.

[7] United Nation Climate Change. (2021). Key aspects of the Paris Agreement. Retrieved June 9, 2021, from https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/the-paris-agreement/key-aspects-of-the-paris-agreement

[8] กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ. (2021). รายงานผลการเสวนา เรื่อง “หนทางสู่การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์”. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2021. จาก https://europetouch.mfa.go.th/th/content/รายงานผลการเสวนา-เรื่อง-หนทางสู่การประชุม-cop26-ณ?cate=5d6abf7c15e39c3f30001465.

[9] The Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty. (2021). Scientists, researchers and academics call for a Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty. Retrieved July 20, 2021, from https://fossilfueltreaty.org/open-letter

[10] The Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty. (2021). Nobel Laureates’ Statement to Climate Summit World Leaders: Keep Fossil Fuels in the Ground. Retrieved July 20, 2021, from https://fossilfueltreaty.org/nobel-letter

[11] Clement, Joel. (2021). Paris Agreement alone will not hold back fossil fuel investments — what comes next? . Retrieved July 20, 2021, from https://thehill.com/opinion/energy-environment/556819-paris-agreement-alone-will-not-hold-back-fossil-fuel-investments.

[12] กองบรรณาธิการ Greennews. (2021). UK ประกาศยุติผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเร็วขึ้นอีก 1 ปี หวังส่งผล COP26. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2021. จาก https://greennews.agency/?p=24260.

[13] Cronin, Daniel. (2021). Can Biden Meet Expectations Heading into COP26?. Retrieved July 23, 2021, from https://carbontracker.org/can-biden-meet-expectations-heading-into-cop26/.

[14] United Nations Climate Change. (2021). G7 Ministerial Can Pave Way for Success at COP26. Retrieved June 23, 2021, from https://unfccc.int/news/g7-ministerial-can-pave-way-for-success-at-cop26.

[15] McCall, Chris. (2021). Vladimir Putin invited to Glasgow for COP26 climate conference. Retrieved July 23, 2021, from https://www.dailyrecord.co.uk/news/politics/vladimir-putin-invited-glasgow-cop26-24455742.

[16] Yeung, Peter. (2021). As COP26 looms and tropical deforestation soars, REDD+ debate roars on Retrieved July 23, 2021, from https://news.mongabay.com/2021/04/as-cop26-looms-and-tropical-deforestation-soars-redd-debate-roars-on/.

[17] Reuters Staff. (2021). Brazil working with Biden on climate, Amazon deforestation, says foreign minister. Retrieved July 23, 2021, from https://www.reuters.com/article/us-usa-brazil-idUSKCN2AX2GZ.

[18] McGrath, Matt. (2021). Climate change: China absent from key UK meeting. Retrieved June 23, 2021, from https://www.bbc.com/news/science-environment-56584575.

[19] ประชาชาติธุรกิจ. (2021). ก.พลังงาน หารือ ก.ทรัพยากรฯ เคาะ 6 เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2021. จาก https://www.prachachat.net/economy/news-631850.

[20] IISD. (2020). AOSIS Forum Calls for “Year of Ambition” on Climate Action. Retrieved July 23, 2021, from https://sdg.iisd.org/news/aosis-forum-calls-for-year-of-ambition-on-climate-action/.

[21] Wangdi, Sonam. (2021). World’s most vulnerable nations call on G7 to step up: “we cannot survive climate change without finance and stronger 2030 targets”. Retrieved July 23, 2021, from https://www.ldc-climate.org/worlds-most-vulnerable-nations-call-on-g7-to-step-up-we-cannot-survive-climate-change-without-finance-and-stronger-2030-targets/.

[22] Harvey, Fiona. (2021). G7 reaffirmed goals but failed to provide funds needed to reach them, experts say. Retrieved July 23, 2021, from https://www.theguardian.com/world/2021/jun/13/g7-reaffirmed-goals-but-failed-to-provide-funds-needed-to-reach-them-experts-say.


ผู้เขียน

นางสาวอัมภัสชา สิริพันธ์วราภรณ์ (6103682156)


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยเฉพาะเพื่อทดแทนการฝึกงานภายใต้การดูแลของ
ผศ.ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล ความคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว