การเจรจาที่ไม่ลงรอยที่นำไปสู่การไม่ลงนามของอินเดียใน RCEP

ตลอดช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกกำลังประสบกับสภาวะการกีดกันการค้าในประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เช่น ‘America First’ , ‘Make-in-India’ เป็นต้น รัฐบาลต่าง ๆ กำลังปกป้องตลาดภายในประเทศโดยจำกัดการนำเข้าและดำเนินการทดแทนการนำเข้า ในขณะเดียวกันหลายประเทศยังคงสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมอย่างแข็งขันเพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศและในระดับภูมิภาค การแข่งขันกันระหว่างสองฝั่งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา สู่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนเร่งทำให้เกิดความร่วมมือที่พึ่งได้บทสรุปเมื่อปี 2020 และเกิดเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคคือ “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP” หลังจากได้มีการเจรจาต่อรองระหว่าง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมานาน 8 ปี ประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสมาชิก 10 ประเทศจากประชาคมอาเซียน จนเกิดพิธีลงนามในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 โดยข้อตกลงนี้ครอบคลุมเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก และเกือบหนึ่งในสาของจีดีพีโลก ในการเจรจานั้นครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการปฏิบัติพิเศษและแตกต่างแก่สมาชิกอาเซียนที่พัฒนาน้อยกว่า ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าภายในภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก กระนั้นแต่เดิมสมาชิกผู้ร่วมเจรจาประกอบไปด้วย 16 ประเทศ แต่หลังจากเดือนพฤศจิกายน 2019 “ประเทศอินเดีย” ที่ถือเป็นส่วนสำคัญของการเจรจาตัดสินใจไม่ร่วมลงนามในข้อตกลง RCEP ร่วมกับอีก 15 ประเทศ [1] [2]

การไม่ลงนามในข้อตกลง RCEP ของอินเดีย มีเหตุผลทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ ในด้านข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่โดยทั่วไปแล้วจะจัดทำขึ้นเพื่อให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันแก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ผลการวิจัยจากรายงานของ NITI Aayog เกี่ยวกับการดำเนินงานของอินเดียใน FTA ทั้ง 14 ฉบับที่อินเดียได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในโลก แสดงให้เห็นว่า FTA ส่งผลให้คู่ค้ารายอื่น ๆ ได้รับผลประโยชน์อย่างไม่เอื้ออำนวยต่ออินเดีย ซึ่งทำให้ดุลการค้าของอินเดียแย่ลง แม้ว่าการส่งออกของอินเดียจะมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่เขตการค้าเสรีกลับช่วยให้การนำเข้ามากขึ้นกว่าการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA กับ อาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ล้วนก่อให้เกิดการขาดดุลตลอดช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสนธิสัญญาการค้ามิใช่แค่การเข้าถึงตลาดในประเทศอื่น ๆ แต่ยังเอื้อให้เกิดการเข้าถึงตลาดแก่คู่ค้าอีกด้วย และเมื่อเทียบการส่งออกทั้งหมดที่ส่งออกไปยังคู่ค้าในเขตการค้าเสรีกลับมิได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการส่งออกทั้งหมดไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายของอินเดียจึงระมัดระวังต่อการขาดดุลการค้าที่จะมีผลลัพธ์ที่แย่ลง [3] ในการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อการค้าในภาคการผลิตภายในประทศอินเดียเกิดการขาดดุลทางการค้ากับสมาชิกส่วนใหญ่ของ RCEP อย่างมากโดยเฉพาะกับจีน เพื่อป้องกันการขาดดุลหรือการไหลทะลักของสินค้าจากประเทศอื่น ทางอินเดียจึงได้เสนอรูปแบบการลดภาษี 3 รูปแบบ คือ (1) สำหรับอาเซียนให้นำสินค้าเข้าร่วมการลดภาษีร้อยละ 80 ของรายการสินค้าทั้งหมด (2) ประเทศที่อินเดียมีข้อตกลงอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้นำสินค้าเข้าร่วมการลดภาษีร้อยละ 65  ของรายการสินค้าทั้งหมด  และ (3) ให้นำสินค้าเข้าร่วมการลดภาษีร้อยละ 42.5 ของรายการสินค้าทั้งหมดสำหรับประเทศเช่น จีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งอินเดียไม่มีข้อตกลงทางการค้าใด ๆ ในทางตรงกันข้ามประเทศสมาชิก RCEP ต้องการให้มีการลดอัตราภาษีมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่ ร้อยละ 90 ข้อเสนอนี้จึงถูกละเลย อีกทั้งจากเหตุผลในด้านการขาดดุลทางการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP อินเดียยังได้เจรจาเพื่อขออยู่ในเกณฑ์ของบทบัญญัติพิเศษและการปฏิบัติที่แตกต่าง (Special and Differential Treatment : S&DT) “ที่ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดได้รับข้อกำหนดพิเศษจากประเทศที่พัฒนาแล้วภายใต้กลไกขององค์การการค้าโลก โดยผ่อนผันให้มีระยะเวลาในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ยาวนานกว่า จำกัดการนำเข้าได้หากมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพดุลการชำระเงิน และให้โอกาสประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้ แม้จะขัดกับหลัก MFN [4] [5]” ทั้งนี้ จากความหมายของ S&DT ถึงอินเดียจะมีการขาดดุลทางการค้าอย่างมากกับประเทศสมาชิกและหวังจะอยู่ในเกณฑ์  แต่ด้วยเหตุผลเชิงความได้เปรียบทางที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์และด้วยขนาดทางเศรษฐกิจ รวมถึงขนาดของประชากร [6] ข้อเสนอนี้จึงถูกปฏิเสธ เช่นเดียวกับอีกหนึ่งข้อเสนอของอินเดียเพื่อป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการนำเข้าที่ถูกกว่า คือ มาตรการทริกเกอร์อัตโนมัติและสแน็ปแบ็ค (auto-trigger and snapback measures) ที่ในกรณีการนำเข้าเกินขีดจำกัดที่กำหนด มาตรการเหล่านี้จะถูกเรียกใช้โดยอัตโนมัติไปยังประเทศหุ้นส่วนหรือประเทศสมาชิกเพื่อควบคุมความเสียหายใด ๆ ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมไม่เพียงแต่การนำเข้าการผลิตจากจีน แต่ยังใช้ในกรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าไร่สวนจากประเทศอาเซียนที่ก่อความเสียหายให้อุตสาหกรรมภายในของอินเดีย [7]

จากข้อเรียกร้องของอินเดียที่กล่าวมาได้แสดงความกังวลอย่างมากในการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากประเทศสมาชิกจนเกิดการขาดดุลทางการค้า แต่ถึงอย่างไรข้อเรียกร้องนั้นยังสอดคล้องกับปัญหาของตัวบทบัญญัติของข้อตกลง RCEP ที่มีต่ออินเดียอีก บทแรกคือ กฎถิ่นกำเนิดสินค้าในข้อตกลง ที่อินเดียมองว่าหละหลวม โดยเกรงว่าประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนดพิเศษ S&DT จะกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดวัตถุดิบเพราะต้องการวัตถุดิบที่ราคาถูก            สินค้าจีนจึงอาจไปล้นตลาดภายในประเทศที่มีข้อกำหนดพิเศษ S&DT แล้วสินค้าที่ประกอบไปด้วยวัตถุดิบจากจีนนั้นอาจจะไหลทะลักส่งต่อมาอินเดียโดยง่ายเพราะได้รับ S&DT และเป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่สามารถส่งต่อไปได้ในฐานะสมาชิกRCEP อินเดียจึงต้องการเพิ่มสัดส่วนของปัจจัยการผลิตพื้นเมืองของแต่ละประเทศที่ผลิตสินค้าให้มากขึ้น            ในแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อมิให้เกิดช่องโหว่ในข้อตกลงและเกิดการขาดดุลการค้าทางอ้อม [8]

อีกตัวบทที่อินเดียมีความเห็นต่างคือด้านการจัดการข้อมูลในหมวดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce อินเดียในข้อตกลง RCEP ได้แนะนำ “data residency” ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเก็บไว้ในประเทศและจะไม่ถูกถ่ายโอนโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ถูกปฏิเสธโดยสมาชิก RCEP ส่วนใหญ่โดยอ้างว่าจะขัดขวางการทำงานของธุรกิจ E-Commerce และจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าดิจิทัลทั่วทั้งภูมิภาคที่ต้องการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันอย่างเสรี [9]

ในด้านสุดท้ายด้านการเคลื่อนไหวของบุคคลธรรมดา ในบทที่ 9 ของข้อตกลงที่ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายชั่วคราวของบุคคลธรรมดา [10] อินเดียได้ให้ความสำคัญกับบริการระดับมืออาชีพอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดในด้านไอที ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก อินเดียจึงได้ประโยชน์ในการจัดหาบริการผ่านการฝึกอบรมอย่างมืออาชีพจากประเทศเหล่านี้ ประเทศอย่างออสเตรเลีย หรือ สิงคโปร์ กำลังเผชิญกับปัญหาการว่างงาน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียจำนวนมากอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศเพื่อทำงาน จึงเกิดการขึ้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพเข้าถึงได้ง่าย อินเดียจึงขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าจากประเทศสมาชิกในข้อตกลง [11] ถึงอย่างไรการร้องขอของอินเดียจากที่กล่าวมาทั้งหมดกลับไม่บรรลุข้อตกลงและไม่มีการยอมรับจากประเทศสมาชิก

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ถึงผลการศึกษาของงานวิจัยที่ผ่านมาที่ได้ศึกษาข้อตกลงทางการค้าของอินเดียที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับบทบัญญัติของข้อตกลง RCEP ที่อินเดียกับประเทศสมาชิกยังไม่บรรลุผล จึงเป็นการยากที่จะลงนามในข้อตกลง แต่ในโลกที่พึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ แนวทางแบบเดิมที่มีต่อนโยบายการค้าย่อมไม่ก่อผลดีกับอินเดีย โครงการ “Make in India” เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจในการเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิต แต่ในความเป็นจริง ภาคการผลิตกลับหดตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  แม้การทดแทนการนำเข้าจะมีบทบาทสำคัญ แต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอินเดียค่อนข้างน้อย  ดังนั้น อินเดียจะมีแนวทางอย่างไรกับแนวนโยบายการค้าต่างประเทศที่จะสามารถยกระดับกลับไปถึงช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 หรือมากกว่านั้นได้ และจะทำอย่างไรให้ลดการขาดดุลการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตแม้จะไม่ลงนาม [12]

อ้างอิง

[1] Akarsh Bhutani. (2021). India’s reluctance in joining the RCEP — A boon or a bane in the long-run? เรียกใช้เมื่อ 30 July 2021 จาก Observer Research Foundation: https://www.orfonline.org/expert-speak/india-reluctance-joining-rcep-boon-bane-long-run/.

[2] Pankhuri Gaur (2020) India’s withdrawal from RCEP: neutralising national trade concerns, Journal of the Asia Pacific Economy, DOI: 10.1080/13547860.2020.1809772

[3] หลัก MFN : Most Favored Nation Treatment หรือ หลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง หมายถึง การที่ประเทศที่เป็นคู่สัญญาเมื่อได้ให้สิทธิประโยชน์อย่างดีที่สุดแก่ประเทศหนึ่งประเทศใด ก็ต้องให้สิทธิประโยชน์เช่นนั้นแก่ประเทศที่เป็นคู่สัญญาอื่นด้วย

[4] คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก. (ม.ป.ป.). หลักการสำคัญของ WTO. เรียกใช้เมื่อ 29 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.pmtw.moc.go.th/aboutwto.

[5] อ้างแล้ว

[6] อ้างแล้ว

[7] อ้างแล้ว

[8] อ้างแล้ว

[9] อ้างแล้ว

[10] กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ. (10 กุมภาพันธ์ 2564). ความตกลง RCEP (ฉบับภาษาไทย). เรียกใช้เมื่อ 15 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.dtn.go.th/th/negotiation/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87-rcep-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2–2?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd27d

[11] อ้างแล้ว

[12] อ้างแล้ว


ผู้เขียน
ภัคพล ผาทอง (6103682263)


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยเฉพาะเพื่อทดแทนการฝึกงานภายใต้การดูแลของ
ผศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ ความคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว