เสวนา หลัง 14 ตุลาฯ 63 : เริ่มด้วยสันติวิธี จบด้วยความรุนแรง?

สังคมไทยจดจำเดือนตุลาคม ในหลากหลายชุดความทรงจำ ครั้งหนึ่งเดือนตุลาฯ เคยเป็นเดือนที่ถูกขนานนามว่าเป็นเดือนของความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และเพียงไม่กี่ปีต่อมาเดือนตุลาคมก็ถูกขนานนามอีกครั้งว่าเป็นเดือนของความวิปโยค และนับเป็นจุดสิ้นสุดอีกคราของระบอบประชาธิปไตยของไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ขึ้น ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีผู้เสียชีวิตให้ครั้งนั้นไม่น้อย และที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าคือในการสูญเสียครั้งนี้นับเป็นการที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง และหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หลากปีผ่านไปเรื่องราวในวันนั้นถูกเก็บเงียบเอาไว้โดดยแทบไม่มีใครพูดถึงหรือระลึกถึง กระทั่งเมื่อช่วงเวลาผ่านมาอีกระยะหนึ่งการกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯในสังคมไทยจึงได้ปรากฎขึ้น และอยู่ในความรับรู้ของคนหลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมไทยพอสมควร และเกิดการผสมวันระหว่างทั้ง 2 วันดังกล่าวกระทั่งหลายครั้งวันเหล่านั้นกลายมาเป็นวันที่ 16 ตุลาฯ ในความเข้าใจและความรับรู้ของใครหลายคน

          แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 วันที่ 16 ตุลาฯ ปรากฏชัดขึ้นอย่างเป็นทางการในสังคมไทย และกลายมาเป็นวันที่มีความหมายในทางการเมืองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างแจ้งชัด เมื่อเกิดเหตุในการปราบผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 ที่เหตุการณ์ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกระทั่งนำมาสู่การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ในการเข้าปราปรามผู้ชุมนุม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนที่หลายคนยังอยู่ในเครื่องแบบของสถานศึกษา เมื่อตอนที่โดยแรงดันของน้ำจากปืนน้ำบนรถฉีดน้ำแรงดันสูงพุ่งเข้าใส่ หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นความรับรู้ในเรื่องของวันที่ 16 ตุลาฯ ก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นมาในทุกการชุมนุมโดยสันติของประชาชน มักจะจบลงที่การใช้ความรุนแรงในการกดปราบผู้ชุมนุมเสมอ และดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อวันเวลาค่อย ๆ คืบคลานผ่านไป นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 ผ่านมาร่วมปี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการหยิบยกเอาประเด็นดังกล่าว มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อแสวงหาคำตอบจากมุมมอง และความเห็นของบุคคลหลากหลายกลุ่ม สำหรับการถอดบทเรียนเหตุการณ์ในครั้งนั้น กระทั่งถึงเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินไปในห่วงเวลาปัจจุบันด้วยเช่นกัน ในการนี้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานโครงการสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “หลัง 14 ตุลา 63: เริ่มต้นด้วยสันติวิธีจบด้วยความรุนแรง ?” เพื่อแสวงหาคำตอบของคำถามที่ดูจะยังคลุมเครืออยู่ในสังคมแห่งนี้ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2564

วิทยากร

▪ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล (คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

▪ อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

▪ ธนกร วงษ์ปัญญา (ผู้สื่อข่าว THE STANDARD)

ดำเนินรายการ : อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)