ปัจจุบันการวัดค่าศักยภาพและความนิยมของมหาวิทยาลัยมักถูกจัดอันดับในลักษณะ University Rankings กล่าวคือ เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในระดับสากล โดยอาศัยการสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยและการผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองโลกไร้พรมแดน ฉะนั้น มักจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยจึงมีการผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เชื่อมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การสนับสนุนจากภาครัฐก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยของไทยสามารถก้าวสู่เวทีโลก ในฐานะตัวขับเคลื่อนขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านสถาบันการศึกษา นอกจากนี้การมีนโยบายของภาครัฐที่ชัดเจนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางที่เพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพ
งานศึกษาของ Jettawat Pravat เรื่อง Internationalisation of Higher Education in Thailand: Policy Drivers and Challenges ชี้ให้เห็นปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นตัวการในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยไทยขึ้นสู่ความเป็นสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารปี 2557 และเมื่อ พ.ศ. 2562 มีการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้ทิศทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของไทยในระดับโลกไม่ชัดเจน และขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เห็นได้จากการที่บรรดามหาวิทยาลัยที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอต้องประสบกับความลำบากในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยอยู่ใน University Rankings