เสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ออนไลน์ เรื่อง เสรีนิยมธรรมราชา : การเมืองวัฒนธรรมของโครงการจำกัดเสียงข้างมาก
เมื่อกล่าวถึงการจัดวางบทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา คำถามที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีอำนาจแค่ไหนและบนฐานของความชอบธรรมแบบใด ตลอดจนสัมพันธ์กับสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ในสังคมไทยอย่างไร เหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาทางการเมืองที่ได้รับการถกเถียงจนกระทั่งปัจจุบัน
ในปริมณฑลทางวิชาการ การตั้งคำถามรวมถึงการสืบค้นเพิ่มเป็นทวีคูณนับแต่ปลายทศวรรษ 2540 ควบคู่และผันแปรตามความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่องทั้งในและนอกสภา ผลแห่งการศึกษาเหล่านั้นทำให้เราได้ภาพร่างของระเบียบทางการเมืองที่แสดงให้เห็นการจัดวางตำแหน่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้ชัดมากขึ้น หรือในชื่อที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งมักเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทว่าในฐานะของมโนทัศน์ที่ใช้อธิบายระบอบการเมือง เราอาจไม่สามารถกล่าวถึงแบบแผนของสัมพันธภาพทางอำนาจดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนหมดจด กล่าวคือ หากการนิยามระบอบเป็นความพยายาม สรุป รวบยอดสภาวะโดยรวมของปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงทางการเมืองในหน่วยวิเคราะห์ โดยสังเคราะห์ให้กลายเป็นรูปแบบทั่วไป เพื่อแสดงสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมการเมืองนั้น ๆ แล้ว การอรรถาธิบายให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน ตัวแสดง และตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ไว้อย่างไรบ้างย่อมเป็นไปได้ยาก ไม่ใช่แค่การทำเช่นนั้นได้จำต้องอาศัยการศึกษาที่ครอบคลุมกว้างขวางมากเท่านั้น หากแต่เอาเข้าจริงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความลื่นไหลและคลุมเครือมาก ถึงกระนั้นการทำความเข้าใจเรื่องราวข้างต้น ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หากสังคมไทยต้องการเรียนรู้และจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญที่กินระยะเวลายาวนานเกือบสองทศวรรษนี้
แม้จะเกิดความคลุมเครือและความเลื่อนไหลของนิยาม ทว่าทุกฝ่ายที่กำลังเคลื่อนไหวทางการเมือง นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ต่างก็อ้างเสมอว่า พวกตนกำลังรณรงค์บนฐานของ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขความย้อนแย้งระหว่าง ความรู้ที่สังคมมีกับ การหยิบไปฉวยใช้นี้ สร้างความปั่นป่วน เพราะช่องว่างระหว่าง “ความรู้ vs การนำไปใช้” ตกห่างกัน กล่าวคือ มีความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่กระจ่าง แต่กลับถูกฉวยใช้อ้างอิงอย่างมหาศาล
ดุษฎีนิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของ ปฤณ เทพนรินทร์ นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง เสรีนิยมธรรมราชา : พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก (พ.ศ. 2540-2560) เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาในการกลับมาพิจารณาการออกแบบและจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยว่ามีลักษณะอย่างไร ทั้งในปริมณฑลการเมืองวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดนิยามความหมาย และช่วงชิงการกลายเป็น “ความรู้กระแสหลัก” โสตหนึ่ง และสมรภูมิของการออกแบบระเบียบกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ในการกำกับตัวแสดงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในสังคมการเมืองอีกโสตหนึ่ง
📌ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ออนไลน์ เรื่อง เสรีนิยมธรรมราชา : การเมืองวัฒนธรรมของโครงการจำกัดเสียงข้างมาก ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00–12.00 น. ผ่าน Facebook Live ทางเพจ Direk Jayanama Research Center
วิทยากรนำเสนอ
🔴 อ.ปฤณ เทพนรินทร์
อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ วิทยากรร่วมเสวนา
🟡ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
🔴 ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำเนินรายการโดย อ.อิทธิพล โคตะมี
(อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์)