เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2564 เวลา 7.30 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาในงาน Global Peace Conference: Weaving a Shared Future Together หัวข้อ Breathing the Others, Seeing the Lives: Reflection on Twenty-First Century nonviolence ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้
อ.ชัยวัฒน์เปิดด้วยการยกคำถามของ Pope Francis ที่ถามว่า “มีใครเคยโศกเศร้าต่อการสูญเสียชีวิตของพี่น้องที่ลี้ภัยหรือไม่…” หากคำตอบคือ “ไม่” นั่นอาจเป็นเพราะว่าชีวิตของพวกเขาเป็นเพียงแค่สิ่งนามธรรมที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุจากโลกาภิวัตน์ของความไม่แยแส (globalization of indifference)
ข้อเสนอหลักของ อ.ชัยวัฒน์ก็คือ “วิธีการคิด” (thinking) ของมนุษย์ที่เข้าใจโดยทั่วไปนั้นคือการคิดในลักษณะที่กระทำโดยปัจเจกและแปลกแยกจากผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ไม่ได้มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่นในโลก อ.ชัยวัฒน์ได้ยกตัวอย่างการคิดตามที่ Rene Descartes เคยเสนอว่าการคิดของแต่ละคนนั้นแยกขาดจากร่างกายสิ้นเชิง ซึ่งอิทธิพลการคิดที่ว่านี้เองที่มนุษย์ในโลกปัจจุบันมีวิธีคิดที่ไม่มองครอบคลุมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลก
อ.ชัยวัฒน์เสนอให้วิจารณ์วิธีการคิดดังกล่าวผ่านมุมมองทางศาสนา โดยยกศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามมาประกอบการวิพากษ์ ในศาสนาพุทธนั้น การฝึกสมาธิแบบอานาปานสตินั้นเป็นการกำหนดรู้ลมหายใจและเพื่อให้รับรู้ถึงความเป็นจริงที่ว่าการยึดติด (attachment) กับตัวตนนั้นเป็นต้นเหตุของความทรมาน ดังนั้นการแยกจากอัตตา (detachment) ของตนนั้นคือการเชื่อมเข้ากับโลกในลักษณะใหม่ที่ปลดเปลื้องตัวตนมากกว่าเดิม
ในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินและทรงส่งผ่านลมหายใจแห่งจิตวิญญาณให้มนุษย์สามารถมองเห็น ได้ยิน และรับรู้เกี่ยวกับโลกโดยรอบ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า “ทุกจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นมาจากจิตวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า”
ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่าลมหายใจคือการกระทำที่บ่งชี้ถึงการมีชีวิต แต่ทว่ามนุษย์เหล่านี้หายใจอะไรเข้าไปถ้าไม่ใช่การแบ่งปันลมหายใจและฝุ่นที่ต่างคนต่างอาศัยเพื่อหายใจซึ่งกันและกัน? วิธีคิดดังกล่าวนี้เองคือสิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์เสนอเพื่อที่จะสามารถแทนที่ “Cogtino ergo sum” (I think therefore I am) ด้วย “Spiro ergo sum” (I breathe therefore I am)
ในตอนท้ายของการปาฐกถานั้น อ.ชัยวัฒน์ได้ยกตัวอย่างการใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้เรียกร้องผ่านกรณีศึกษา “ขบวนการ Chipko” ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าในอินเดีย การต่อสู้ดังกล่าว สุภาพสตรีชาวอินเดียและเด็กผู้หญิงเข้าโอบกอดต้นไม้ที่จะถูกโค่นลง โดย Guara Devi ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้กล่าวว่า “ผืนป่าแห่งนี้คือแหล่งที่มาของชีวิต หากพวกท่านทำลายมัน ภูเขาก็จะถล่มลงมาใส่หมู่บ้านของพวกเรา” สามวันหลังจากนั้น กลุ่มคนที่จะตัดไม้ก็ถอนตัวไป สิ่งที่ทำให้กลุ่มคนตัดไม้ ซึ่งมีพื้นเพเดียวกันกับสุภาพสตรีในขบวนการ Chipko นั้นล่าถอยอาจจะเป็นเพราะพวกเขากำลังเห็น “ชีวิตที่กำลังปกป้องชีวิตด้วยกัน” หากการคิดพิจารณาของกลุ่มคนตัดไม้เป็นไปในลักษณะที่โดดเดี่ยวและแยกขาดจากความสัมพันธ์กับผู้อื่น พวกเขาก็อาจไม่จำเป็นต้องล่าถอย กล่าวคือ ในขณะที่กำยังยื้อยุดกันอยู่นั้น กลุ่มคนตัดไม้ก็ได้สูดลมหายใจของทั้งป่าไม้และสุภาพสตรีในขบวนการ Chipko เข้าไป ซึ่งกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนตัดไม้นั้น