ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐ ปฏิเสธมิได้ว่าภาครัฐทั่วโลกต่างก็เข้าสู่กระแสการแปลงรูปทางดิจิทัล (Digital Transformation) คงมิใช่เรื่องที่แปลกนักที่เราต่างก็ใช้บริการสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใช้ระบบการจ่ายภาษีออนไลน์ การใช้แชทบอท (Chatbot) ภาครัฐ และการเข้าใช้แอปพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐ ภายในภาครัฐเองก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล อาทิ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูลภาครัฐ การประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่การลงนามดิจิทัล (Digital Signature) ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งคือมีการจัดตั้งหน่วยบริการทางดิจิทัลในภาครัฐ (Digital Government Unit) มากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการปรับตัวของภาครัฐในโลกยุคดิจิทัล จากบริบทข้างต้นนี้ ผู้เขียนต้องการชวนสำรวจลักษณะ พัฒนาการ และแนวโน้มการอนุวัตรดิจิทัลในภาครัฐ
ในเรื่องลักษณะการอนุวัตรดิจิทัลในภาครัฐ ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการพิจารณาเป้าหมายของการอนุวัตรดิจิทัล จะพบว่ามีสองประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก ประสิทธิภาพในการทำงาน (Lee et al. 2005) กล่าวคือ เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนเพื่อให้บรรลุซึ่งความประหยัดและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น การงดใช้กระดาษในการผลิตเอกสาร และใช้เอกสารในรูปแบบออนไลน์แทน นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานในภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างภาครัฐกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ และการติดต่อทำธุรกรรม (Transaction) กับภาครัฐ (Marchionini et al. 2003) เช่น การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลภาครัฐ ประเด็นที่สอง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (Johnson & Robinson 2014) ในมุมมองนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนส่งเสียงถึงภาครัฐ เช่น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์โดยตรง ดังนั้นจึงมีการพูดถึงวิธีการทำงานแบบร่วมคิดร่วมทำ (Co-Creation) ระหว่างประชาชน หรือประชาสังคมกับภาครัฐ
ในส่วนนี้ ผู้เขียนนำเสนอเครื่องมือดิจิทัลที่นิยมใช้ในภาครัฐในปัจจุบัน
(1) อุปกรณ์สารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (ICT-Enabled Device and Computer) หมายถึงทั้งอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ช่วยให้ปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการบริการสาธารณะเกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นพื้นฐานที่สุด และมีการใช้มายาวนานแล้ว
(2) บริการให้ใช้/เช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ หรือคลาวด์ (Cloud) ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้พบกับข้อเสนอและการทดลองใช้คลาวด์ในการปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐและจัดบริการสาธารณะโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำนิยามของการใช้ระบบคลาวด์ในภาครัฐที่เน้น “ความเปลี่ยนแปลงในภาครัฐอันเนื่องมาจากกระบวนการคลาวด์คอมพิวติ้งที่ถูกบริหารจัดการในลักษณะเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสัมพันธภาพกับภาคเอกชนและประชาสังคม ซึ่งผลักให้ความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นหัวใจของกระบวนการ อีกทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรัฐบาล (Alonso et al. 2016: 44)”
(3) ซอฟท์แวร์ที่เปิดเผยหลักการหรือแหล่งที่มาของเทคโนโลยีของซอฟท์แวร์นั้นให้บุคคลภายนอกได้ใช้ (Open Source Software: OSS) หัวใจของ OSS คือการอนุญาตให้บุคคลอื่นสามารถใช้ประโยชน์จาก OSS ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยแพร่ต่อหรือประยุกต์ใช้กับเนื้องานใหม่ ที่จริงแล้ว OSS มิใช่เรื่องใหม่นัก ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 กว่า 20 รัฐบาลได้เสนอหรือผ่านกฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนการใช้ OSS (Applewhite 2003: 89) โดยประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้คือประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศโปรตุเกส เป็นต้น
(4) โปรแกรมถ่ายทอดสดภาพและเสียง (Webcasting/Zoom/Microsoft Teams) เครื่องมือเหล่านี้กลายมาเป็นความปกติธรรมดาในการทำงานและจัดบริการสาธารณะในภาครัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐใช้ช่องทางโปรแกรมถ่ายทอดสดภาพและเสียงในการถ่ายทอดการประชุมสัมมนาและให้ความรู้กับสังคมมากขึ้น
(5) แอปพลิเคชั่น/แพลตฟอร์ม (Application/Platform) คงปฏิเสธมิได้ว่าแอปพลิเคชั่นภาครัฐถูกพัฒนามากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (Government Application Center: GAC) ในภาพรวม จะพบว่าแนวคิดรัฐบาลในฐานะแพลตฟอร์ม (Government as a Platform) เริ่มถูกใช้มากขึ้น แนวคิดนี้หมายถึง “ระบบนิเวศของช่องทางประสานระบบปฏิบัติการโปรแกรมประยุกต์ (Application Programming Interface: API) มาตรฐาน ชุดข้อมูล การให้บริการ และกระบวนการอภิบาลสิ่งเหล่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ระบบทั้งหมดมีความปลอดภัย” (Pope 2019: 6)
(6) การประมวลผลข้อมูลมหัต (Big Data) รัฐบาลทั่วโลกได้ริเริ่มนโยบายหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลมหัต ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลบารัค โอบามาได้เผยแพร่ The Federal Big Data Research and Development Strategic Plan งานศึกษาในปัจจุบันเสนอว่าภาครัฐใช้การประมวลผลข้อมูลมหัตเพื่อสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจและทำนายคาดการณ์อนาคตเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ (Desouza & Jacob 2017)
พัฒนาการของการแปลงรูปทางดิจิทัลในภาครัฐ
หากพิจารณาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาครัฐเพื่อส่งเสริมการจัดบริการสาธารณะ ผู้เขียนเสนอว่าเราสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยพิจารณาคุณภาพการให้บริการ ซึ่งหมายถึง ความสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ และคุณภาพเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึง ความรวดเร็ว ความประหยัด และความปลอดภัย รวมไปถึงคุณลักษณะของเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ ในระยะแรก คือระยะพื้นฐาน กล่าวคือเป็นการที่ภาครัฐมีช่องทางออนไลน์ไว้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ระยะที่สอง มีการเพิ่มเอกสารดาวน์โหลดเข้าไปในเว็บไซต์ แต่ก็ยังคงเป็นปฏิสัมพันธ์ทางเดียว ในระยะที่สาม มีการเพิ่มช่องทางแสดงความคิดเห็น เช่น เว็บบอร์ดหรือการตั้งกระทู้สอบถามข้อมูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมาตอบ เท่ากับเป็นการสื่อสารสองทาง ระยะที่สี่ เป็นการแปลงรูปการให้บริการ หมายความว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดบริการสาธารณะ เช่น มีการใช้แอปพลิเคชั่น หรือแชทบอท ระยะที่ห้าคือการอนุวัตรดิจิทัลในภาครัฐ ซึ่งเป็นสภาพที่ปฏิบัติการจัดบริการสาธารณะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่องทางออนไลน์โดยไร้รอยต่อ (Seamless) เช่น ฐานข้อมูลภาครัฐสามารถสื่อสารเชื่อมโยงกันได้ และการบริการทั้งระบบมีลักษณะบรรจบเชื่อมต่อกัน (Convergence) กล่าวคือ เป็น One-Stop Service นั่นเอง ผู้เขียนสรุปพัฒนาการของการแปลงรูปทางดิจิทัลในภาครัฐไว้ดังปรากฏในภาพข้างล่างนี้
ตัวอย่างการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ที่น่าสนใจ
ในส่วนนี้ผู้เขียนนำเสนอการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ของบางประเทศในกลุ่ม D9 (Digital Nine) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านรัฐบาลดิจิทัลจานวน 9 ประเทศ โดยประเทศที่เลือกนำเสนอพอสังเขปได้แก่ ประเทศเอสโตเนีย ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศสหราชอาณาจักร
ประเทศเอสโตเนีย
ประเทศเอสโตเนียได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐดิจิทัลด้วยเหตุว่าการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐนั้นสามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้กว่าร้อยละ 99 มีเพียงสามรายการของการให้บริการเท่านั้นที่ประชาชนยังต้องไปที่ทำการหรือสำนักงานด้วยตนเอง ได้แก่ การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่าร้าง และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
กล่าวได้ว่าประเทศเอสโตเนียอยู่ในกลุ่มผู้นำที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดบริการสาธารณะ เหตุผลเบื้องหลังของการสร้างรัฐดิจิทัลนี้มาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก การจัดบริการสาธารณะในประเทศเอสโตเนียมีความยากลำบาก หากใช้วิธีการทำงานแบบดั้งเดิมที่ให้ประชาชนเดินทางไปติดต่อธุระที่สำนักงาน เพราะระยะทางที่จะต้องเดินทางในฤดูหนาว และประชากรในแต่ละพื้นที่นอกเมืองใหญ่มีจานวนน้อย ดังนั้นในฝั่งรัฐ การเปิดสานักงานจานวนมากจึงไม่คุ้มค่า ในฝั่งประชาชน การเข้ามายังสานักงานก็อาจไม่สะดวกในหลายกรณี ฉะนั้นการจัดบริการสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์จึงตอบ Pain Point นี้ ประการที่สอง ภายหลังจากการประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ประเทศเอสโตเนียดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศแบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้เน้นเรื่องความประหยัด ความคุ้มค่า การทำงานที่ให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์เศรษฐกิจ และลดขั้นตอนในการทำงานภาครัฐ ดังนั้น การทำงานของภาครัฐจึงดำเนินไปตามตรรกะนี้ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 จึงกลายเป็นทางเลือก (Option) ที่ตอบโจทย์ประเทศเอสโตเนีย
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนชวนสำรวจเครื่องมือที่น่าสนใจของภาครัฐของประเทศเอสโตเนีย ดังต่อไปนี้
(1) การประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Cabinet) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 เป็นการประชุมที่ไร้กระดาษ และเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีได้ใช้ฐานข้อมูลร่วมกันในระหว่างการประชุม และสามารถลงนามดิจิทัลเผื่อผ่านคำสั่ง ระเบียบ หรือนโยบายได้
(2) ระบบฐานข้อมูลภาครัฐ และ X-Road เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบดิจิทัลในภาครัฐของประเทศเอสโตเนีย ระบบนี้เป็นการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐโดยมิได้รวมศูนย์ เพียงแต่ทำให้ฐานข้อมูลสื่อสารกันได้ ปัจจุบันนี้ระบบดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานข้อมูลภาครัฐแห่งเอสโตเนีย
(3) การออกวีซ่าภายใต้ E-Residency เนื่องจากประเทศเอสโตเนียมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยประชากรราว 1.3 ล้านคนเท่านั้น จึงมีตลาดที่ไม่ใหญ่นัก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและนวัตกรรมในภาคธุรกิจ รัฐบาลเอสโตเนียจึงประกาศนโยบาย E-Residency เพื่อให้วีซ่าและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศเอสโตเนีย โดยสามารถใช้บริการสาธารณะออนไลน์ได้ทั้งหมดประหนึ่งว่าอาศัยอยู่ในประเทศเอสโตเนีย แม้ว่าตัวจริง ๆ จะอยู่ที่อื่นก็ตาม ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลในภาครัฐของประเทศเอสโตเนียทำให้นโยบายนี้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศเกาหลีใต้
ประเทศเกาหลีใต้มีความก้าวหน้าในเรื่องการอนุวัตรดิจิทัลในภาครัฐอย่างมาก การปรับตัวของภาครัฐในการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลทั้งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ ตัวอย่างร่วมสมัยได้แก่ ในช่วงปี ค.ศ. 2013 ภายใต้รัฐบาลพัก กึน-ฮเย ได้มีการประกาศกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานของภาครัฐภายใต้ Government 3.0 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดรัฐบาลที่เน้นการให้บริการ (Service-Oriented Government) รัฐบาลที่มีศักยภาพ (Capable Government) และรัฐบาลที่โปร่งใส (Transparent Government) ผลของนโยบายนี้คือการจัดบริการสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์แบบ One-Stop Service และการให้บริการของภาครัฐผ่านโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อัจฉริยะ (Kim & Choi 2016) อย่างไรก็ตาม Government 3.0 ก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ในการถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติ Nam (2016) มองว่ามีลักษณะการผลักจากบนลงล่าง (Top-Down Push) กล่าวคือรัฐบาลผลักดันนโยบายนี้โดยที่ภาครัฐรับไปปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-Creation)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลเกาหลีใต้ขับเคลื่อนในเรื่องการให้บริการสาธารณะโดยรัฐแบบไร้การสัมผัส (Contactless) เพื่ออำนวยความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะโรคระบาด COVID-19 มีการพัฒนาและจัดบริการ Digital Wallet เพื่อให้ประชาชนได้เก็บเอกสารรับรองที่ภาครัฐออกให้ไว้ในรูปแบบเอกสารออนไลน์ และให้บริการ My Data ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองที่ภาครัฐจัดเก็บไว้
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาครัฐของประเทศสหราชอาณาจักรเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล เพื่อรับมือกับปัญหานี้ รัฐบาลได้มีการตั้งสำนักบริการทางดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digital Service) เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการเพื่อให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน สำนักบริการทางดิจิทัลของรัฐบาลได้นำเสนอหลักการที่น่าสนใจและถูกพูดถึงมากในปัจจุบันคือรัฐบาลในฐานะแพลตฟอร์ม (Government as a Platform) ซึ่งหมายถึงการมีระบบดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานหลักร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่ออำนวยให้เกิดการจัดบริการสาธารณะที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง หากพิจารณาประกอบกับยุทธศาสตร์ดิจิทัลของประเทศสหราชอาณาจักรจะเห็นว่ารัฐบาลในฐานะแพลตฟอร์มมองการจัดบริการสาธารณะว่าเป็น Solution ที่ยืดหยุ่น และเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะกรณี หากหลักการนี้สามารถนำสู่การปฏิบัติได้จริง การทำงานของภาครัฐก็จะใกล้เคียงกับการทำงานของเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสตาร์ทอัพในภาคไอที (IT Sector)
ภาพสรุปยุทธศาสตร์ดิจิทัล (Digital Strategy) ของประเทศสหราชอาณาจักร
แนวโน้มการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐในยุคการแปลงรูปดิจิทัล
(1) การออกแบบบริการสาธารณะที่มีความอัจฉริยะ (Smart Design) หมายถึง บริการสาธารณะจะต้องมีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ และจะต้องคิดวิธีการให้บริการในกรอบ Solution มากขึ้น ที่สำคัญเครื่องมือหรือเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกกลุ่ม มิเช่นนั้นก็จะเกิดภาวะการแบ่งแยกทางดิจิทัล (Digital Divide)
(2) การมองภาพอนาคตในการจัดบริการสาธารณะ (Foresight) เราจะพบว่ามีการทำ Foresight ในภาครัฐ หรือในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วในโลกยุคดิจิทัล แนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกันนั้นเครื่องมือจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Foresight จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเช่นกัน
(3) การจัดทำนโยบายสาธารณะด้วยระบบ Crowdsourcing หลายประเทศที่พยายามเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ จะมีการใช้ Crowdsourcing เป็นเครื่องมือระดมความคิดเห็นและฟังเสียงของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับกระแสการร่วมคิดร่วมทำ (Co-Creation) ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ตัวอย่างที่น่าสนใจพบในกรณีของรัฐบาลไต้หวันที่มีการทำ Crowdsourcing ผ่าน vTaiwan
(4) การปรับวิธีการทำงานให้รวดเร็วและไม่ติดหล่มความเป็นขั้นตอนตามลำดับ (Agility) หากมองในมิติพัฒนาการของการจัดบริการสาธารณะผ่านช่องทางดิจิทัล จะพบว่าการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ (Computerisation) เป็นก้าวแรกของการจัดบริการสาธารณะโดยภาครัฐ กล่าวคือมีการใช้คอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในเรื่องความรวดเร็วในการทำงาน และการจัดระเบียบ/ระบบฐานข้อมูล กระจายช่องทางในการสื่อสารภายในเครือข่าย แต่ขั้นตอนปัจจุบันคือภาครัฐจะต้องทำงานในลักษณะแพลตฟอร์ม (Platformisation) และบรรจบเชื่อมต่อกัน (Convergence) คือการทำให้บริการสาธารณะอยู่ในวิถีชีวิต(Lifestyle) ของประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งภาครัฐทำ Solution ให้กับประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม และในขณะเดียวกันก็เน้น IoTs ที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากในการใช้บริการนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
Alonsoa, J., Escalantea, M. & Orue-Echevarria, L. (2016). Transformational Cloud Government (TCG): Transforming Public Administrations with a Cloud of public services. Procedia Computer Science, 97, 43-52.
Applewhite, A. (2003). Should Governments Go Open Source?, IEEE software, 20(4), 88-91.
Desouza, K. C. & Jacob, B. (2017). Big Data in the Public Sector: Lessons for Practitioners and Scholars. Administration & Society, 49(7), 1043-1064.
Johnson, P. & Robinson, P. (2014). Civic Hackathons: Innovation, Procurement, or Civic Engagement?, Review of Policy Research, 31(4), 349-357.
Kim, S. & Choi, C. (2016). Institutional and Managerial Dimensions of Digital Government Development in the Republic of Korea. In T. George, S. Kim, R. P. Beschel Jr. & C. Choi (Eds.), Bringing Government into the 21st Century: The Korean Digital Governance Experience. (pp. 13-40). Washington DC: World Bank Group.
Lee, Sang M., Tan, X. & Trimi, S. (2005). Current practices of leading e-government countries. Communications of the ACM, 48(10), 99-104.
Marchionini, G., Samet, H. & Brandt, L. (2003). Digital Government, Communications of the ACM, 46(1), 24-27.
Misuraca, G. & Viscusi, G. (2015). Shaping public sector innovation theory: an interpretative framework for ICT-enabled governance innovation, Electronic Commerce Research, 15, 303-322.
Nam, T. (2016). Information Polity: The International Journal of Government & Democracy in the Information Age, Information Polity, 21, 411-420.
Pope, R. (2019). Playbook: Government as a Platform. Cambridge, MA: Ash Center for Democratic Governance and Innovation.
ประวัติผู้เขียน
อ.วศิน ปั้นทอง
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ :การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ,
การเมืองและสังคมของประเทศบอลติก, ความมั่นคงไซเบอร์, สหภาพยุโรป
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk