AI ในสภา (?) : ความท้าทายของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ท่ามกลางกระแสความพลิกผันปั่นป่วน (Disruption)

นับตั้งแต่เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 โลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ช่วยส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมร้อยโลกเข้าไว้ด้วยกันอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่สั่นคลอนระเบียบโลก แต่กระนั้นก็ตาม บทบาทของ “รัฐ” ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศก็ยังคงดำเนินอยู่ ดังนั้น ในบทความนี้ จึงกลับมามุ่งมองการเมืองภายในเชิงสถาบันว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่แตกหัก รวดเร็ว และรุนแรง หรือกระแสความพลิกผันปั่นป่วน (Disruption) นี้ กลไกของสถาบันทางการเมืองอย่าง “รัฐสภา” นั้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อหลักการความเป็นตัวแทน และความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอย่างไร ซึ่งบทความชิ้นนี้จะมุ่งแสวงหาคำอธิบายเบื้องต้น เพื่อกรุยทางให้ผู้ที่สนใจได้ทำการศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้ละเอียดสมบูรณ์ต่อไป 

ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภากับหลักการความเป็นตัวแทน

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) จะเห็นว่า “รัฐสภา” ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีสถานะเป็น “ตัวแทน” ของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ฉะนั้น การบริหารงานของฝ่ายบริหารนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภา รวมถึงในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ของประเทศ ก็ต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายนิติบัญญัติด้วย อาทิ การพิจารณาร่างกฎหมาย การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลในตำแหน่งสำคัญ รวมถึงการพิจารณาเรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น การประกาศสงคราม การให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น

หลักการความเป็นตัวแทน (Representativeness)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมประชาธิปไตยของทุกประเทศทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) แม้ว่าในบางช่วงเวลาจะมีแนวโน้มเข้าสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) แต่ก็มีเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่าในบางสังคม การเมืองยังไม่เข้าสู่สังคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประชาธิปไตยมีความตั้งมั่นและถาวร (Consolidation of Democracy) จนประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบการปกครองเดียวที่ทุกฝ่ายยึดถือร่วมกัน ดังที่ Linz และ Stepan อธิบายประชาธิปไตยไว้ว่าเป็น “the only game in town”[1] 

เมื่อประชาธิปไตยยังคงมีความจำเป็นอยู่ และประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ยังมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจะออกแบบให้ตัวแทนของเราเป็นอย่างไร ย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น “ตัวแทน” ที่จะออกแบบขึ้นมาจะมีลักษณะเป็นตัวแทนของใคร หรือเป็นตัวแทนในรูปแบบใดก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการอธิบายลักษณะของตัวแทนตามหลักการตัวแทน สามารถแบ่งได้ 4 ลักษณะ[2] คือ

  1. รูปแบบคิดแทนทำแทน (Trustee Model) เป็นลักษณะของตัวแทนที่สามารถไว้วางใจให้ไปดำเนินการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศ ตัวแทนประเภทนี้มีลักษณะที่เชื่อว่าสามารถตัดสินได้ดีกว่าตัวประชาชนทั่วไป แต่ก็ทำหน้าที่ได้ตราบเท่าที่ประชาชนไว้วางใจเท่านั้น
  2. รูปแบบรับเหมาทำแทน (Delegate Model) เป็นลักษณะของตัวแทนที่มีหน้าที่เพียง “ทำหน้าที่แทน” เช่น พูดแทน หรือดำเนินการแทน โดยตัวแทนในลักษณะนี้จะมีลักษณะเสมือนท่อนำสารที่ส่งผ่านความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาล
  3. รูปแบบตัวแทนสิทธิขาด (Mandate Model) เป็นลักษณะตัวแทนที่มีอำนาจเต็มในการทำงาน โดยเชื่อว่าประชาชนได้มอบหมายภาระหน้าที่ให้ดำเนินการ ตัวแทนในลักษณะนี้จะมีการดำรงตำแหน่งได้หลายตำแหน่ง
  4. รูปแบบตัวแทนแบบคล้ายคลึง (Resemblance Model) เป็นลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงตัวเอง อาทิ ชาวนาก็ต้องมีตัวแทนของชาวนา กรรมกรก็ต้องมีตัวแทนของกรรมการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนเหมือนหรือคล้ายคลึงกันนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เราเลือก “ตัวแทน” นั้น ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาของทุกสังคมการเมือง ต่างแสดงบทบาทความเป็นตัวแทนที่แตกต่างกันตามแต่สาระและสถานการณ์ ภายใต้หลักการของตัวแทนทั้ง 4 รูปแบบ แต่ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนบทบาทจากรูปแบบ 2 มิติ คือ ความสัมพันธ์แบบผู้รับสาร-ผู้ส่งสาร ที่แยกขาดกันอย่างชัดเจนนั้น สื่อในรูปแบบใหม่ได้ทำลายความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเป็นดังนี้แล้ว คำถามที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนกับประชาชน และความสำคัญของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ กลายเป็นคำถามสำคัญที่ต้องถกเถียงและแสวงหาคำตอบใหม่ 

เมื่อโลกพลิกผัน: บทบาทของรัฐสภาในสถานการณ์ความพลิกผันปั่นป่วนทางด้านดิจิทัล (Digital Disruption)
โดยปรกติ การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภามักจะเน้นไปที่การประชุมเป็นหลัก และมีการถ่ายทอดผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ ถ่ายทอดเสียงผ่านสถานีวิทยุ รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ถือว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ องค์กรทั้งในภาคราชการและภาคเอกชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน เรียกกันว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งกระบวนการนี้ดูจะชัดเจนในภาคเอกชนมากกว่าภาคราชการ แต่ก็ใช่ว่าภาคราชการจะไม่ปรากฏเลยทีเดียว และองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภานั้น ดูจะปรับตัวในเรื่องดังกล่าวได้ค่อนข้างดีแม้จะไม่ได้โดดเด่นมากนัก

จากรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) สู่รัฐสภาดิจิทัล (Digital Parliament) : การปรับตัวเองของสถาบันรัฐสภาในกระแสความพลิกผันปั่นป่วน (Disruption)
การแปลงเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digitalization) ของรัฐสภาทั่วโลกนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งปี ค.ศ. 2007 และดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2017 สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliament Union: IPU) ได้มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อทำงานด้านดิจิทัลของรัฐสภา ซึ่งได้จัดการประชุมเป็นวาระพิเศษขึ้น ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพิจารณาประเด็นการกำหนดบทนิยามและการเรียกถ้อยคำในชื่อ e-Parliament หรือรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประชุมคณะทำงานครั้งนี้มีคณะผู้แทนจากรัฐสภาประเทศสมาชิก ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เคนยา เลบานอน โมร็อกโก โปรตุเกส ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแซมเบีย พร้อมด้วยคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร โดยมติของที่ประชุมคณะทำงานเห็นชอบให้เรียกชื่อ e-Parliament ซึ่งเป็นแนวทางที่สหภาพรัฐสภาเคยใช้อยู่และให้ถือเป็นชื่อหลักต่อไป และหากมีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาก็ครอบคลุมนิยามของคำว่า รัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) ด้วยเหตุนี้หากพิจารณาขอบเขตภาระงานในมิติของรัฐสภา ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า สาระสำคัญของรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) ไม่ได้อยู่ที่ชื่อระบบ ดังนั้น ที่ประชุมดังกล่าวจึงเห็นพ้องกันว่ารัฐสภาควรมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้าใจร่วมกันบนหลักพื้นฐานของคำว่า รัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) หรือรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์โดยให้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนกระบวนทำงานตามบริบทของรัฐสภา ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่ต่างกันก็ได้[3]

จากแนวคิดเรื่องรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) ต่อมาก็ได้รับการพัฒนาไปสู่แนวคิดเรื่องรัฐสภาดิจิทัล (Digital Parliament) และเริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐสภาของทุกประเทศก็ได้นำแนวทางนี้ไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย โดยมีจุดเน้นคือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการทำงานทางด้านนิติบัญญัติให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอีกส่วนหนึ่งจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างในเรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของรัฐสภาผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

การปรับตัวเองของสภาในลักษณะดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์โลก (World e-Parliament Conference) โดยในแต่ละปีนั้น ที่ประชุมจะมีประเด็นการขับเคลื่อนแตกต่างกันออกไป ซึ่งสรุปเป็นประเด็นการประชุมที่สำคัญได้ดังตารางที่ 1 

ตารางที่ 1 ประเด็นสำคัญจากการประชุมรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์โลก
(World e-Parliament Conference)

ที่มา : ฐานข้อมูลออนไลน์ของสหภาพรัฐสภา (http://archive.ipu.org/english/home.htm#gsc.tab=0)

จะเห็นได้ว่าในการประชุมนั้นมีการนำเสนอระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น โปรมแกรม XML – Xcential การพัฒนาเว็บไซต์ของรัฐสภา การใช้แอปพลิเคชัน การเปิดเผยข้อมูลและการเชื่อมต่อกับภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นมาตรฐานของการติดต่อสื่อสารสำหรับอนาคต ทำให้ต้องมีการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานเว็บไซต์ของรัฐสภาได้เปิดโลกแห่งการแสดงข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น และจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านระบบการติดต่อกับผู้ใช้จากโครงสร้างของข้อมูล สามารถนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาแสดงผลและประมวลผลร่วมกันได้ และสามารถนำมาใช้สำหรับการเข้าถึงระบบข้อมูลขนาดใหญ่กับระบบเครือข่ายในองค์กร หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อดูข้อมูลหรือเรียกใช้ข้อมูลที่ให้การแสดงผลทางหน้าจอที่รวดเร็วและง่ายในการจัดการของรัฐสภา ทั้งนี้รัฐสภาบางประเทศมีแผนในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยในการประมวลผล แม้ว่าระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ไม่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้เต็มที่ แต่ระบบนี้ก็สามารถช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

โลกเปลี่ยน คนปรับ: สถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐสภา
นอกจากรัฐสภาจะปรับตัวเองด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) การพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านนิติบัญญัติ และ (2) ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน แต่กระนั้น ยังมีปัจจัยภายนอกที่เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามี 2 สถานการณ์สำคัญ นั่นคือ การให้ความสำคัญของงานรัฐสภาเสมือนจริง (Virtual Parliament) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในการติดตามระบบงานรัฐสภา

การให้ความสำคัญของงานรัฐสภาเสมือนจริง (Virtual Parliament) เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐสภาของหลายประเทศเริ่มมีการนำระบบงานรัฐสภาเสมือนจริง (Virtual Parliament) ซึ่งเป็นการนำระบบการประชุมผ่านวิดีโอเข้ามาใช้ในการประชุมของรัฐสภา เพื่อรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม กล่าวคือ สมาชิกรัฐสภาไม่จำเป็นต้องมาประชุม ณ อาคารรัฐสภา แต่ใช้ระบบการประชุมผ่านวิดีโอเข้ามาแทน ซึ่งรัฐสภาของประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มใช้ระบบนี้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2020[4] จากนั้นความคิดดังกล่าวเริ่มมีการนำมาพิจารณาในประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 โดยมีหลักการสำคัญของการใช้ระบบนี้ คือ เพื่อลดความหนาแน่นของสมาชิกรัฐสภาที่จะอยู่ในห้องประชุมลง ดังจะเห็นได้จากสมาชิกสภาสามัญของอังกฤษนั้นมีจำนวน 650 คน โดยมีการจัดที่นั่งในลักษณะเผชิญหน้ากัน (Opposing-benches) ทำให้มีความหนาแน่น และโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อมีสูงมาก ดังนั้น สภาสามัญของอังกฤษจึงปรับตัวค่อนข้างเร็วและใช้การประชุมผ่านวิดีโอเข้ามาแทนที่ เพื่อให้มีคนอยู่ในห้องประชุมให้น้อยที่สุด ขณะที่ประเทศมาเลเซีย มีสมาชิกจำนวน 222 คน โดยมีการจัดที่นั่งในลักษณะเกือกม้า (Horseshoe) ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าห้องประชุมสภามีความแออัดเกินไป และอาจใช้การประชุมผ่านวิดีโอเข้ามาทดแทน[5]

นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในการติดตามระบบงานรัฐสภา เกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทำให้ในการประชุมของรัฐสภาแต่ละครั้ง สมาชิกรัฐสภาสามารถติดตามความคิดเห็นของประชาชนที่รับชมการถ่ายทอดการประชุมสภา ซึ่งก็มีการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นกัน ต่างจากในอดีตที่มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุเท่านั้น ส่งผลให้คนที่กำลังทำงานไม่สามารถติดตามการประชุมและการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาได้ แต่เมื่อมีแพลตฟอร์มออนไลน์เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้ประชาชนที่ไม่เคยติดตามการประชุมและการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการมีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว ในกรณีของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2562 ประชาชนให้ความสนใจติดตามการประชุมและการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาไทยในคราวประชุมสำคัญต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #ประชุมสภา เกิดขึ้นในทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเว็บไซต์โมเมนตัมมีการจัดอันดับให้ #ประชุมสภา เป็นแฮชแท็กที่ทรงพลังที่สุดในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวมองว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่มีความตื่นตัวทางการเมืองและกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในระดับที่สูง หรือกล่าวได้ว่ามีความเป็นพลเมืองเข้มแข็งอยู่มาก[6]

จะเห็นได้ว่า เมื่อสื่อออนไลน์ทำให้การนำเสนอภาพการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาถูกส่งผ่านไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น และประชาชนสามารถตั้งคำถามรวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “ตัวแทน” ของตนเองได้ ทำให้สมาชิกรัฐสภาที่ทำหน้าที่ “ตัวแทน” อยู่นั้น เหมือนถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา ผลพวงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เอง สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการผลักดันให้เกิด e-Parliament นั่นคือ การทำให้รัฐสภามีความโปร่งใส
แต่ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่การเกิดขึ้นของข้อมูลขนาดใหญ่และระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหลักการของสถาบันทางการเมือง นั้นคือ ถ้าระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในการสะท้อนความต้องการของประชาชนได้โดยตรงแล้ว ระบบตัวแทนยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? ฉะนั้น แนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ ความเป็นตัวแทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ผูกโยงไว้กับตัวแทนในรัฐสภาอีกต่อไป หากแต่ยังมีตัวแสดงอื่นๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญเพิ่มเติมขึ้นมา หรืออีกทางหนึ่งอาจเป็นได้ว่า ระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งหมายความว่าบทบาทของตัวแทนในรัฐสภานั้นจะถูกลดทอนให้เจือจางลงไปในอนาคต

ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) : หนทางใหม่?
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เกิดแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบทำแทน (Delegative Democracy) ที่เน้นเรื่องการให้รัฐบาลตอบสนองปัญหาของประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยรัฐสภามีหน้าที่สะท้อนปัญหาเท่านั้น แต่ไม่มีมิติของการตรวจสอบ ทำให้แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบทำแทนขาดดุลยภาพในเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุล[7] อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2002 Bryan Ford นำเสนอบทความเรื่อง Delegative Democracy ซึ่งมีข้อเสนอว่า รูปแบบประชาธิปไตยแบบทำแทนนั้น จะต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่จำกัดเฉพาะการเลือกตัวแทนเข้าไปในรัฐสภาเท่านั้น แต่มีตัวแทนในรูปแบบ รับเหมาทำแทน (Delegate Model) โดยประชาชนยังคงมีสิทธิในการเลือกว่า ในการพิจารณาประเด็นต่างๆ ในสภานั้น ประชาชนจะมอบหมายตัวแทนหรือจะพิจารณาเอง ลักษณะเช่นนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้เพิ่มขึ้น โดยตัวแทนรูปแบบรับเหมาทำแทน (Delegate Model) นั้น มีอำนาจแบบจำกัดและต้องรับผิดชอบต่อบทบาทของตนเอง ขณะที่ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าในเรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองโดยไม่ใช้ตัวแทน[8]

จากหลักการข้างต้นนี้เอง ทำให้เกิดรูปแบบประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) คือเชื่อว่าประชาธิปไตยทั้งแบบทางตรงและประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถผสานการทำงานร่วมกันในรัฐสภาได้ โดยมีลักษณะที่ลื่นไหลตามประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นหลัก[9] เช่น ในกรณีที่มีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องการแพทย์ ก็สามารถมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ตัวแทนดำเนินการแทนในเรื่องการแพทย์ได้ แต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องให้เจ้าของสิทธิหรือประชาชนผู้นั้นเป็นผู้ดำเนินการเอง ลักษณะเช่นนี้จะแตกต่างจากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกำหนดรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ตัดขาดชัดเจน ขณะที่ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ไม่ได้ตัดแบ่งขาดกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถกำหนดได้เองว่าจะมอบหมายผู้แทนคนใด หรือจะดำเนินการเอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลนอกจากต้องการตัวแทนรูปแบบรับเหมาทำแทน (Delegate Model) เป็นหลักแล้ว ยังสามารถใช้รูปแบบอื่นของความเป็นตัวแทนเข้ามาร่วมด้วย อาทิ รูปแบบคิดแทนทำแทน (Trustee Model) หรือ รูปแบบตัวแทนแบบคล้ายคลึง (Resemblance Model) แต่กระนั้น แนวทางประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) ก็ยังคงถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของการใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการใหม่ ๆ ที่กำลังท้าทาย โดยมีระบบการใช้งานสื่อออนไลน์ อาทิ การใช้เว็บไซต์กูเกิล (Google) ในการลงมติ หรือการใช้ระบบประมวลผลในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดการตัดสินใจ ซึ่งกลไกเหล่านี้ทำให้การตัดสินใจของตัวแทนในรัฐสภาอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปค่อนข้างมาก เนื่องจากสามารถสะท้อนเสียงและความต้องการของประชาชนได้โดยตรงและโดยเร็ว ซึ่งความเร็วก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน และอาจเป็นปัจจัยที่เร่งเร้าให้แนวทางประชาธิปไตยแบบลื่นไหลเกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น[10] ซึ่งรัฐสภาจะต้องปรับตัวให้ทันกับบริบทดังกล่าว ด้วยแนวทาง “เปิดและปรับ” ดังนี้

  • “เปิด” พื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนทางรัฐสภา ทั้งงานทางด้านนิติบัญญัติและงานทางด้านการควบคุมฝ่ายบริหาร โดยใช้ช่องทางของเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์ในการจัดเก็บและประมวลผล การเปิดพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ระบบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ รวมทั้งจะได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาประเด็นต่างๆ ของรัฐสภา เช่น ในการพิจารณาปัญหาหมอกควันในภูมิภาคหนึ่งๆ และมีการเปิดรับข้อมูลความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชน ก็อาจทำให้ได้รับข้อมูลจากภูมิภาคนั้นๆ โดยตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ
  • “ปรับ” รูปแบบการดำเนินการของระบบงานรัฐสภาให้รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคมและให้เกิดความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของระบบงานรัฐสภาส่วนใหญ่คือยังมีเรื่องของระเบียบวิธีการ (Protocol) อยู่ค่อนข้างมาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงจากภายในรัฐสภาเองจึงเกิดขึ้นค่อนข้างช้า ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Parliament) ที่เป็นฐานรากสำคัญของแนวคิดรัฐสภาดิจิทัล (Digital Parliament) ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น ก็พบว่า รัฐสภายังไม่มีนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ออกมามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของรัฐสภาไทยที่ยังคงยึดถือแนวทางปฏิบัติเดิม อาทิ กระบวนการตรากฎหมายที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ขั้นตอนการลงมติที่ยืดเยื้อ ทำให้ประสิทธิผลในทางนิติบัญญัติยังไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก ดังนั้น รัฐสภาก็ต้องปรับตัวเองในประเด็นดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานภายใต้สภาวการณ์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

บทส่งท้าย: รัฐสภายังจำเป็นอยู่หรือไม่?

บทบาทของรัฐสภาท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนผันเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในเชิงสถาบันทางการเมือง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจทำให้รัฐสภาต้องรับฟังเสียงของประชาชนในหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากเดิมอาจมีการรับฟังจากพื้นที่เป็นหลัก ก็ต้องปรับมาให้ความสำคัญกับประชาชนออนไลน์ด้วย เพราะคนกลุ่มดังกล่าวจะสะท้อนความต้องการที่ตัวแทนจะต้องส่งผ่าน แต่ในอนาคตตัวแทนอาจเป็นเพียงร่างทรงเท่านั้น นั่นคือ ตัวแทนจะทำหน้าที่เฉพาะการพูดแทนเท่านั้น แต่เจตจำนงและการพิจารณาประเด็นต่างๆ ตามกระบวนการทางรัฐสภาอาจกลับมาอยู่ที่ประชาขนเป็นหลัก ด้วยช่องทางของระบบจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่จะทำให้การตัดสินใจของรัฐสภาต้องยึดถือข้อมูลจากประชาชนเป็นหลัก

ดังนั้น ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเพิ่มบทบาทของประชาชนเข้ามามากขึ้น รวมทั้งการมีระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการประมวลข้อมูล ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจในเชิงนโยบายของรัฐสภามีความสมเหตุสมผลมากขึ้น และท้ายที่สุดบทบาทของรัฐสภาก็จะกลายเป็นความจำเป็นรูปแบบใหม่ จากการเป็นที่สถิตของอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนจะกลายเป็นที่สถิตของข้อมูลขนาดใหญ่จากประชาชน.


อ้างอิง

[1] Juan J. Linz and Alfred Stepan, Problems of Democratic Transition and Consolidation: Southern Europe, South America, and Post-Communist Europe (Baltimore: JHU Press, 1996).
[2] Andrew Heywood, Politics, (London: Macmillan Foundations, 1997), pp. 206-210.
[3] ชูชาติ พุฒเพ็ง, “Digital Parliament ของรัฐสภาไทยในบริบท World e-Parliament Conference,” เข้าถึงจาก เว็บไซต์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, , เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563.
[4] Coronavirus: MPs call for ‘digital Parliament’ to be set up, access from BBC , 15 June 2020.
[5] Virtual parliaments: Can they become a reality?, access from Malay Mail , 15 June 2020.
[6] 10 แฮชแท็กคัดสรรที่ ‘ทรงพลัง’ ที่สุดในปี 2019, เข้าถึงจาก เว็บไซต์เดอะโมเมนตัม , เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563.
[7] ดูเพิ่มใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ้างแล้ว.
[8]  Bryan Ford, “Delegative Democracy,” Unpublished manuscript . 10 June 2020.
[9] Dominik Schiener, “Liquid Democracy: True Democracy for the 21st Century,” Unpublished manuscript , 18 June 2020.
[10] Ibid.


ประวัติผู้เขียน

วรศักดิ์  จันทร์ภักดี

สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ 2558
ความสนใจทางวิชาการ ระบบนิติบัญญัติและการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย และประวัติความคิดทางการเมือง
ปัจจุบัน รับราชการตำแหน่งวิทยากรปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk