#ช่วงแนะนำหนังสือน่าอ่าน
วันนี้ขอเสนอหนังสือน่าสนใจ 3 เล่ม จัดมาให้โดย อ.ชาลีนี สนพลาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ทุกคนเลือกอ่านได้ตามชอบเลยค่ะ
.
สุดแค้นแสนรัก (จุฬามณี)
นิยายเรื่องนี้ให้ภาพของชนบทที่ไม่ชวนฝัน ไม่ใช่ชนบทที่ใสซื่อ ไม่ใช่ชนบทที่สงบเงียบ พอเพียง และไม่ใช่ชนบทอันเป็นที่สถิตของคุณค่าความเป็นไทยแบบที่ชนชั้นกลางโหยหา ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ภาพของชนบทที่หงอกลัวต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุน แต่กลับเป็นภาพของชนบทที่เต็มไปด้วยการต่อสู้/ต่อรองกับอำนาจ ทั้งยังเผยให้เห็นการเลื่อนชนชั้น การผสมกลมกลืนไม่แบ่งแยกเด็ดขาดระหว่างภาคเกษตรกับภาคการผลิตอื่น ๆ และระหว่างเมืองกับชนบท แนะนำให้อ่านนิยายเล่มนี้คู่กับงานวิชาการอย่าง “ชาวนาการเมือง” (เขียนโดย แอนดรู วอล์คเกอร์, แปลโดย จักรกริช สังขมณี) หรือ “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ)
.
พลวัตการกระจายอำนาจในประเทศไทยจาก พ.ศ. 2535-2561 (ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์)
คนที่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจและการเมืองท้องถิ่นควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะหนังสืออธิบายแนวคิดหลักเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และฉายให้เห็นสายธารของการกระจายอำนาจของรัฐไทยจากมุมมองเชิงสถาบัน ผ่านกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับตั้งแต่เริ่มสร้างรัฐรวมศูนย์สมบูรณาญาสิทธิย์, ลมหายใจแรกของการกระจายอำนาจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ยุคทองของการกระจายอำนาจภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และยุคปัจจุบันที่การกระจายอำนาจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน นอกจากนี้ หนังสือยังชวนให้เราขบคิดต่อไปถึงผลพวงของการกระจายอำนาจของรัฐไทยที่แม้จะเริ่มต้นจากความต้องการชนชั้นนำที่จะพัฒนาประเทศในแง่ของการบริหารจัดการพื้นที่ มากกว่าจะให้มันเป็นพื้นที่ทางการเมืองอันเปิดกว้างสำหรับประชาชน แต่เมื่อการกระจายอำนาจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตัวมันเองก็กำลังทำหน้าที่อย่างหลังด้วย
.
เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม (ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์)
หนังสือใช้การถกเถียงสาธารณะกรณีการยุติการตั้งครรภ์เป็นพาหนะนำทางผู้อ่านให้ร่วมสำรวจประเด็นสำคัญทางรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น “การเมือง” ในฐานะกิจกรรมในการกำหนด แก้ไข และรักษากติกาในการดำเนินชีวิตทางสังคม, ความสลับซับซ้อนในการเลือก/การกระทำของมนุษย์ที่ถูกกำกับโดยกรอบทางสถาบันและทางวัฒนธรรมหลายชุด และภาวะ intersectionality (การทับซ้อนของอัตลักษณ์หลายชุด) ที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์เผชิญกับแรงกดดันจากหน่วยต่าง ๆ ในรัฐและสังคมอย่างเฉพาะเจาะจงและแตกต่างกัน เป็นต้น หนังสือชี้ชวนให้เราขบคิดว่าในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อแก้ไขกติกานั้น สิ่งที่สำคัญคือการทลายกำแพงของชุดความคิด และคุณค่าที่กำกับวิธีมองเห็นโลกของผู้คนอยู่ ทั้งนี้เพื่อชักชวนให้รัฐและสังคมมองเห็นประเด็นเหล่านั้นจากแง่มุมที่หลากหลาย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าสิ่งสำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐอาจไม่ใช่เครื่องมือหรือเทคนิคในการจัดทำและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่คือความสามารถของรัฐและสังคมในการมองให้เห็นปัญหา และเพื่อเพิ่มพูนความสามารถดังกล่าวของรัฐและสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ตัวแสดงต่าง ๆ ได้เปล่งเสียงของตัวเอง เพื่อไม่ให้คุณค่าหรือกรอบวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งยึดครองพื้นที่สาธารณะจนลดทอนความสามารถในการมองเห็นปัญหาจากแง่มุมอื่น ๆ
#stayhomesavelives
Home » แนะนำหนังสือน่าอ่าน โดย อ.ชาลีนี สนพลาย (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ )