แนะนำหนังสือน่าอ่าน โดย ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

#แนะนำหนังสือน่าอ่าน
โดย ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร (อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แนะนำหนังสือ 2 เล่ม สำหรับผู้ที่สนใจการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา
.
🎯 Strong Soldiers, Failed Revolution: The State and Military in Burma, 1962-88 (Yoshihiro Nakanishi, 2013)
หากใครกำลังมองหาหนังสือที่ชวนอ่านสักเล่มเกี่ยวกับการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ให้พิจารณาเลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้ฉายภาพให้เห็นถึงความสามารถในการคงอยู่ของ “ระบอบทหาร” ภายใต้ผู้นำเผด็จการอย่างนายพลเนวิน จริงอยู่ที่ประเด็นนี้มิใช่หัวข้อสนทนาถกเถียงใหม่แต่ประการใด หากแต่ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้กลับอยู่ตรงที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงการจัดวางโครงสร้างทางการเมืองและลักษณะความสัมพันธ์ของคณะผู้นำทหารภายใต้โครงสร้างดังกล่าวโดยเฉพาะ เปิดเผยให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของระบอบทหารไม่ได้เกิดขึ้นจากความสำเร็จของการใช้อุดมการณ์ทางการเมืองสังคมนิยมวิธีพม่า (Burmese Way to Socialism) หรือการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่เพื่อรองรับการมีอยู่ของกองทัพ หรือแม้กระทั่งความเข้มแข็งของผู้นำทหารอย่างนายพลเนวิน ทว่าเป็นความสามารถในการวางความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำสูงสุดและเครือข่าย และอิทธิพลโยงใยที่ทำให้กองทัพ รัฐบาล และโครงสร้างระบบราชการของเมียนมาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อันกลายเป็นมรดกตกทอดเชิงสถาบันจนถึงปัจจุบัน ข้อค้นพบดังกล่าวยังคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจทั่วไปต่อการทำความเข้าใจคุณลักษณะของการพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมาที่ยังคงมีกองทัพเป็นตัวแสดงสำคัญ
.
🎯 Myanmar’s Enemy within: Buddhist Violence and the Making of a Muslim ‘Other’ (Francis Wade, 2017)
กระบวนการสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้แก่ชาวโรงฮิงญา เป็นมูลเหตุพื้นฐานของความรุนแรงในรัฐยะไข่ที่ปะทุและดำเนินอยู่นับตั้งแต่ ค.ศ. 2012 หนังสือเล่มนี้ได้อรรถาธิบายรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของมุมมองและทัศนะของชาวพุทธที่มีต่อชาวมุสลิม ตลอดจนความแปลกแยกระหว่างชุมชนทั้ง 2 ในรัฐทางตะวันตกสุดของเมียนมาแห่งนี้ บทบาทของอาณานิคมอังกฤษ คณะผู้นำชาตินิยมสมัยเอกราช และกองทัพ ค่อยๆ ถูกเรียบเรียงและจัดวางไว้อย่างน่าสนใจ สลับด้วยการฉายภาพเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบันตามคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ความรุนแรง จะว่าไปหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวบนทางแพร่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ซ้อนทับอยู่บนความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกได้กลายเป็นเชื้อไฟให้เกิดการขยายตัวของความรุนแรงในประเทศ หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจและใคร่รู้ถึงเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา