เสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ออนไลน์ เรื่อง “ระบบชลประทาน” กับการพัฒนาสยามในสมัยรัชกาลที่ 7
.
การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการชลประทานในสมัยรัชกาลที่7 ได้ศึกษาการพัฒนาระบบชลประทาน ข้อถกเถียง และข้อจำกัดของการดำเนินโครงการชลประทาน รวมถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่สัมพันธ์กับการดำเนินโครงการชลประทานในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 สยามก็ขาดเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ รัฐบาลสยามตัดสินใจดำเนินโครงการชลประทานตามแผนงานได้เพียงโครงการเดียว คือ โครงการป่าสักใต้ แม้ว่ากรมทดน้ำจะพยายามเสนอโครงการเพื่อสานต่องานชลประทาน แต่ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินงานได้
.
งานวิจัยของศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ นักวิจัยจากสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนาระบบชลประทานของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477” ได้ศึกษาถึงการดำเนินโครงการชลประทาน เป็นดำเนินโครงการชลประทานตามแผนงานและโครงการของเซอร์โทมัส วอร์ด โดยรัชกาลที่ 7 ทรงให้เปลี่ยนนามของกรมทดน้ำเป็นกรมชลประทาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงหน้าที่และการทำงานที่เป็นจริงของหน่วยงานและแสดงถึงการให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้ แต่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทำให้การดำเนินการก่อสร้างก็มีความล่าช้า บางโครงการต้องเวลาถึง 10 ปีในการดำเนินงาน รัฐบาลสนับสนุนโครงการชลประทานเท่าที่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณอย่างจำกัดในการดำเนินโครงการชลประทานและมีการพิจารณาที่เคร่งครัด นอกจากนี้การดำเนินโครงการชลประทานยังต้องประสบปัญหาของแรงจูงใจจากราษฎรในการทำตามข้อแนะนำของกรมชลประทาน ทำให้การดำเนินการและพัฒนาการชลประทานในระดับรากหญ้าไม่สามารถดำเนินการได้เท่าที่ควร แม้ว่าจะประสบปัญหาต่าง ๆ แต่รัฐบาลในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ยังคงดำเนินโครงการไปพร้อม ๆ กันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการขยายการจัดการชลประทานไปยังหัวเมืองที่ห่างไกล เช่น การดำเนินโครงการชลประทานใน
มณฑลพายัพ อันเป็นการวางรากฐานของการดำเนินงานชลประทานนอกพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีความต้องการเห็นดอกผลของโครงการที่ชัดเจน แต่การชลประทานนั้นให้ผลประโยชน์ทางอ้อม การชลประทานจึงเต็มไปด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการลงทุนจำกัด และความคาดหวังต่อโครงการชลประทานที่แตกต่างกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติ ซึ่งส่งผลสืบเนื่องไปถึงหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ด้วย โดยเฉพาะการขาดแคลนต้นทุนในการดำเนินงานและขาดผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องไม้ เครื่องมือสำหรับโครงการชลประทานอยู่เสมอ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านการชลประทานเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลสยามให้ความสนใจอยู่เสมอ
.
ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “ระบบชลประทานกับการพัฒนาสยามในสมัยรัชกาลที่ 7” ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างเวลา 13.30 น. เป็นต้นไป
ผ่าน Facebook Live ทางเพจ Direk Jayanama Research Center
.
วิทยากรนำเสนอ
ศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากรร่วมเสวนา
รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
รศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำเนินรายการโดย อ.ดร.นาอีม แลนิ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์