การจุดกระแสให้กับอาเซียน ในช่วงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. 2558 นั้น สะท้อนให้เห็นได้จากภาพที่เกือบทุกมุมถนนจะต้องสังเกตเห็นคำว่า “อาเซียน” ทั่วประเทศไทย แต่เพียงเวลาไม่นานกระแสนี้กลับลางเลือนลงไปพร้อมกับการไม่เห็นการปรากฏของคำว่า “อาเซียน” ตามป้ายโฆษณาต่างๆ หรือแม้แต่ภาพการประดับธงของชาติสมาชิกอาเซียนตามโรงเรียนอย่างคึกคักอีกเลยในปัจจุบัน
จากกระแสอาเซียนนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานวิจัยที่ได้ศึกษาในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 5 ชื้นซึ่งพอจะใช้ในการเชื่อมโยงหานัยยะของปรากฏการณ์ที่จางหายไปจากสังคมนี้ โดยมองผ่านโครงสร้างการทำงานของอาเซียน (มององค์กรในระดับภูมิภาค) และการนำนโยบายที่เกี่ยวกับอาเซียนมาปฏิบัติ (มองในระดับประเทศ)
การมองอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหาเหตุผลให้กับการจุดกระแสความตื่นตัวเรื่องอาเซียนในประเทศไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความคึกคักนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ตลอดจนการหานัยยะให้กับกระแสที่เลือนรางในไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะพุ่งไปที่หลักการ ASEAN Way ซึ่งให้อิสระกับประเทศสมาชิกในการดำเนินนโยบาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ประเทศไหนใคร่โปรโมทอาเซียนหรือไม่ อย่างไร ก็ทำได้ตามอำเภอใจ
อย่างไรก็ตาม การอธิบายทุกปรากฏการณ์ของอาเซียนผ่าน ASEAN Way จนกลายเป็นความเคยชินนี้ กลับยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าหลักการที่เหมือนจะเป็นแนวคิดในอากาศเหล่านั้น สามารถถ่ายทอดสู่การดำเนินงานจริงได้อย่างไร งานวิจัยของผู้เขียนพยายามเติมเต็มการอธิบาย โดยวิเคราะห์รูปแบบการทำงานและการออกแบบโครงสร้างองค์กรของอาเซียนที่มีการให้อิสระกับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงที่มักเริ่มจากภาพกว้างภายใต้ขอบเขตแบบประนีประนอมรอมชอมระหว่างกันแล้ว การระงับข้อพิพาทที่ให้อิสระคู่เจรจาไปตกลงกันเองเมื่อมีปัญหา ตลอดจนการไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนแม้สมาชิกไม่ทำตามข้อตกลงนั้น1 สามารถขยายความเข้าใจความสัมพันธ์ของอาเซียนและประเทศสมาชิกได้ดีมากขึ้นพอสมควร ทั้งนี้ ยิ่งเป็นกรณีการโปรโมทการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ส่งผลต่อผลประโยชน์แห่งชาติอย่างชัดเจนแล้วด้วย ยิ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่รูปแบบการดำเนินงานที่ให้อิสระเช่นนี้ จะทำให้ไทยสามารถจุดกระแสอาเซียนและลดกระแสอาเซียนได้ตามแต่จะเห็นสมควร
จากอิสระของอาเซียนดังกล่าวเชื่อมมาสู่คำถามที่เกี่ยวกับการนำมาปฏิบัติในประเทศว่ามีข้อกำหนดในการจุดกระแสหรือไม่ อย่างไร โดยงานวิจัยของผู้เขียนพบว่ามีรัฐบาล 3 สมัยติดต่อกันที่ให้ความสำคัญกับอาเซียน ยิ่งใกล้ถึงเส้นตายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 เท่าใด ยิ่งเห็นการเพิ่มขึ้นของการให้ความสนใจอาเซียน ซึ่งสะท้อนผ่านคำแถลงนโยบายรัฐบาล การตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้น หรือแม้กระทั่งการใส่อาเซียนในคำขวัญประจำวันเด็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเชิงนโยบายภาพใหญ่ของประเทศจะกล่าวถึงความสำคัญอาเซียนอย่างชัดเจน แต่การนำไปปฏิบัติกลับไม่ได้มีแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจนตามไปด้วย กรอบกว้างๆ ที่หน่วยงานราชการในส่วนกลางมีให้นั้นได้ให้อิสระกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำไปปฏิบัติสามารถออกแบบการดำเนินงานได้ตามแต่จะเห็นสมควรเช่นเดียวกัน2
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาบทบาทของจังหวัด บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทบาทของมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นภาพความหลากหลายของระดับการให้ความสำคัญและความแตกต่างในรูปแบบการดำเนินงาน เช่น บางหน่วยงานให้ความสำคัญต่อการบูรณาการในระดับโลกมากกว่าจำกัดแค่อาเซียน บางหน่วยงานจัดเฉพาะกิจกรรมในลักษณะทั่วไปที่เน้นส่งเสริมความเข้าใจอาเซียนผ่านการอบรมภาษาอังกฤษหรือการสัมมนาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาเซียน ในขณะที่บางหน่วยงานกลับจัดกิจกรรมในเชิงรุกที่ส่งผลต่อการเชื่อมสัมพันธ์อย่างชัดเจน โดยดำเนินการผ่านรูปแบบ “เมืองพี่เมืองน้อง” กับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น (Sister City) เป็นต้น
จากปรากฏการณ์การจุดกระแสและการลดกระแสอาเซียนในประเทศไทยนั้น เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการจากทั้งมุมมองเชิงองค์กรในระดับภูมิภาค และมุมมองในระดับประเทศแล้ว พบว่ามีการให้อิสระในการตัดสินใจกับหน่วยงานที่นำไปปฏิบัติจนเกิดรูปแบบที่หลากหลายตามแต่จะเห็นสมควร อย่างไรก็ตาม กระแสตามอำเภอใจนี้กลับก่อให้เกิดคำถามสำคัญที่งานวิจัยทุกชิ้นที่กล่าวมานั้นยังไม่ได้ตอบ คือ เหตุใดรัฐบาลถึงยอมให้มีอิสระในการดำเนินงานในประเด็น“อาเซียน” หรือ เหตุใดที่กระแส “อาเซียน” ได้เลือนรางอย่างง่ายดาย หรือแท้จริงแล้ว “อาเซียน” เป็นเพียงอีกหนึ่งนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อต้องการเบี่ยงเบนความสนใจทางการเมืองอื่น หรือการโหน “อาเซียน” เพื่อฆ่าเวลาในช่วงที่ยังไม่มีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม จึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังคงรองานวิจัยในประเด็นเหล่านี้มาเติมเต็มความเข้าใจปรากฏการณ์ต่อไป
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
สุนิดา อรุณพิพัฒน์, “แนวทาง ASEAN Way และการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจ: ผลจากการ ระงับข้อพิพาทในทางปฏิบัติของสินค้าข้าวและน้ำตาล,” รัฐศาสตร์สาร, 1: 35 (2557): 136-177.
Sunida Aroonpipat, “Thailand Inconsistent Involvement in ASEAN: The Shifting Domestic Coalition towards AFTA,” Pacific Focus, 32: 2 (2017): 259-289.
Sunida Aroonpipat, “Contending Eurocentric Theories: The Case Study of Thailand’s Economic Regionalism in ASEAN,” Asian Journal of Political Science, 28: 2 (2020): 164-191.
สุนิดา อรุณพิพัฒน์, “ภาคนโยบายสู่การปฏิบัติ: จุดเปลี่ยนบทบาทมหาวิทยาลัยไทยในการสร้าง ภูมิภาคผ่าน การบูรณาการทางการศึกษาในอาเซียน,” International Journal of East Asian Studies, 22: 1 (2561): 140-170.
สุนิดา อรุณพิพัฒน์, ประชาคมอาเซียนกับการนำไปปฏิบัติระดับจังหวัด: กรณีศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง, งานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2563).
อ้างอิง
[1] ดู สุนิดา อรุณพิพัฒน์ (2557), “แนวทาง ASEAN Way และการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจ: ผลจากการระงับข้อพิพาทในทางปฏิบัติของสินค้าข้าวและน้ำตาล,” รัฐศาสตร์สาร, 1: 35 (2557): 136-177; Sunida Aroonpipat, “Thailand Inconsistent Involvement in ASEAN: The Shifting Domestic Coalition towards AFTA,” Pacific Focus, 32: 2 (2017): 259-289; Sunida Aroonpipat (2020), “Contending Eurocentric Theories: The Case Study of Thailand’s Economic Regionalism in ASEAN,” Asian Journal of Political Science, 28: 2 (2020): 164-191.
[2] ดู สุนิดา อรุณพิพัฒน์, “ภาคนโยบายสู่การปฏิบัติ: จุดเปลี่ยนบทบาทมหาวิทยาลัยไทยในการสร้างภูมิภาคผ่านการบูรณาการทางการศึกษาในอาเซียน,” International Journal of East Asian Studies, 22: 1 (2561): 140-170; สุนิดา อรุณพิพัฒน์, ประชาคมอาเซียนกับการนำไปปฏิบัติระดับจังหวัด: กรณีศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง, งานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2563).
ประวัติผู้เขียน
ผศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาเซียน, นโยบาย การปฏิบัติ และการเจรจาประเด็นการค้าและเศรษฐกิจกรอบพหุภาคีและทวิภาคี
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk