ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในแอฟริกาใต้
ยุคแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1948 โดยพรรคการเมืองแห่งชาติ (National Party: NP) นำโดยกลุ่มชาวแอฟริคานเนอร์ (Afrikaners) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวดัตช์ที่มาตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ยุคอาณานิคม พรรคการเมืองแห่งชาติเป็นพรรคการเมืองขวาจัดที่นิยมแนวคิดความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ของคนผิวขาว (White Supremacism) ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1960 แนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกสีผิวและชาติพันธุ์ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นอย่างบิดเบือนเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่คนผิวขาวเป็นสำคัญ และนำมาใช้เป็นหลักในการออกแบบกฎหมายและนโยบายของรัฐในทุกมิติเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพและกดขี่สภาวะความเป็นอยู่ของคนผิวสีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดดังกล่าวยังถูกนำไปใช้เพื่อให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามคนผิวสีอีกด้วย เช่นนี้ แอฟริกาใต้ภายหลังการประกาศเอกราชจึงกลายเป็นรัฐเผด็จการของคนผิวขาวที่มีรูปแบบการปกครองบนแนวคิดแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิวที่เรียกว่า Apartheid
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นมรดกชิ้นสำคัญของการปกครองแบ่งแยกสีผิวและฝังรากลึกลงในสังคมแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น ด้วยกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมส่งผลให้ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวถือครองที่ดินและทรัพย์สินในประเทศมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนผิวสีต้องอาศัยอยู่อย่างยากลำบากในเขตปกครองตนเองที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่แห้งแล้งทั่วประเทศที่เรียกว่า “บันตูสถาน” (Bantustan) สภาพความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังคงปรากฏชัดเจนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชาญกรรมความรุนแรงในสังคมแอฟริกาใต้
ในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแอฟริกาใต้ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ พวกเขาเรียกร้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผ่านประเด็นระบบการศึกษา การประท้วงของนักศึกษาครั้งสำคัญคือ การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายการศึกษาบันตู ปี ค.ศ. 1953 (Bantu Education Act 1953) ที่ระบุให้ใช้แนวคิดแบ่งแยกสีผิวในระบบการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลสถาบันการศึกษาของคนผิวสีขึ้นเป็นการเฉพาะ รัฐบาลในขณะนั้นเชื่อว่าคนผิวสีในฐานะชนชั้นแรงงานไม่มีความสามารถเพียงพอและไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาในระดับสูง ดังที่ Dr. H.F. Verwoerd รัฐมนตรีกระทรวงกิจการชนเผ่าพื้นเมืองกล่าวไว้ในปีค.ศ. 1953 ความว่า
“คนพื้นเมืองต้องถูกสอนตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ความเท่าเทียมกับคนยุโรปนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีไว้สำหรับพวกเขา มันไม่มีทางที่เด็กชาวบันตู (คนผิวสีและชาวพื้นเมือง) จะเติบโตขึ้นมาเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นแรงงาน”
ผลกระทบสำคัญจากกฎหมายฉบับนี้คือคนผิวสีที่เติบโตมาในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1980 ขาดทักษะความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาตนเองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายมหาศาล การประท้วงต่อต้านกฎหมายการศึกษาบันตูของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress: ANC) ร่วมกับนักศึกษาในปีค.ศ. 1955 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมาอีกด้วย
ในทศวรรษที่ 1970 และในช่วงปีค.ศ. 1990-1994 การลุกฮือของทุกกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อต่อต้านระบบการแบ่งแยกสีผิวเป็นไปอย่างเข้มข้น การลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาในชุมชนโซเวโต (Soweto) ในปีค.ศ. 1976 นักศึกษาราว 10,000 คน ได้รวมตัวกันเพื่อประท้วงคำประกาศของกรมการศึกษาบันตูที่ประกาศให้ภาษาแอฟริคานส์ (Afrikaans) เป็นภาษาหลักในระบบการเรียนการสอนของแอฟริกาใต้ การประท้วงครั้งนี้นำโดยองค์การนักศึกษาแห่งแอฟริกาใต้ (South African Student’s Organization: SASO) ซึ่งพัฒนามาจากกลุ่มการเคลื่อนไหวสำนึกความเป็นผิวสี (Black Consciousness Movement) ในทศวรรษ 1970 ที่เชิดชูแนวคิดการพึ่งพาตนเอง ความเป็นอิสระและความภาคภูมิของคนผิวสี
การเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อมาโดยการนำแนวคิดของการเคลื่อนไหวในอดีตมาพัฒนาต่อยอด เช่น การประท้วงต่อต้านกฎหมายการศึกษาบันตูในปีค.ศ. 1955 มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equal Education (EE) Movement) ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2008 นักศึกษากลุ่มนี้ร่วมกับชุมชนคนผิวสีได้ออกมากดดันรัฐบาลและผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งหลายให้ออกมารับผิดชอบต่อความความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของแอฟริกาใต้ ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เด็กมัธยมจำนวนมากยังออกมาร่วมเรียกร้องการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงอีกด้วย อดีตแกนนำ EE อย่าง แบรด บร็อคแมน (Brad Brockman) นิยามกลุ่มของตนเองว่าเป็น “Equaliser” พวกเขาทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชนในแต่ละชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันในปัญหาสำคัญของนักเรียนนักศึกษาเป็นประจำทุกสัปดาห์
ตลอดระยะเวลากว่า 46 ปีของการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว เยาวชนคนรุ่นใหม่ยังคงเดินหน้าต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตตนเอง จนกระทั่งการปกครองโดยพรรคการเมืองแห่งชาติเริ่มสั่นคลอนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990เริ่มตั้งแต่การปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา ในปีค.ศ. 1990 การยกเลิกการควบคุมพรรค ANC และพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในปีค.ศ. 1994 และตามมาด้วยชัยชนะของแมนเดลา คำกล่าวรับตำแหน่งของแมนดาลากลายเป็นหมุดหมายสำคัญว่าประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและจุดประกายความหวังให้กับประชาชนชาวแอฟริกาใต้
“ช่วงเวลาแห่งการเยียวยาบาดแผลมาถึงแล้ว ช่วงเวลาที่จะประสานความแตกต่างที่แบ่งแยกเรามาถึงแล้ว ช่วงเวลาของการสร้างสรรค์มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ในที่สุดพวกเราก็ประสบความสำเร็จในการปลดแอกทางการเมือง พวกเราสาบานว่าจะปลดเปลื้องประชาชนทุกคนจากพันธนาการแห่งความยากจน การกดขี่ ความทุกข์ยาก การเลือกปฏิบัติทางเพศและอื่น ๆ พวกเราเดินมาถึงบันไดขั้นสุดท้ายของอิสรภาพแล้ว ซึ่งเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งกับสันติภาพ พวกเราให้คำมั่นว่าจะสร้างสันติภาพที่สมบูรณ์ ยุติธรรมและยั่งยืน…เราเดินมาสู่ข้อตกลงว่าเราจะสร้างสังคมที่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าขาวหรือดำจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิ ปราศจากความหวาดกลัวในหัวใจ มั่นใจในสิทธิอันเท่าเทียมไปจนถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชาติสายรุ้งแห่งนี้จะพบกับสันติสุขภายในชาติและกับประชาคมโลก”
ในอีกแง่หนึ่ง แมนเดลากลับถูกวิจารณ์ว่า การหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความเลวร้ายในยุคการแบ่งแยกสีผิวสะท้อนถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจของผู้นำในการยอมรับความบิดเบี้ยวเชิงโครงสร้างของชาติในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างที่แดเนียล เฮอร์วิทซ์ (Daniel Herwitz) ถกเถียงไว้ในหนังสือ Heritage, Culture, and Politics in the Postcolony ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของแอฟริกาใต้คือเรื่องเล่าที่เน้นย้ำเรื่องความประนีประนอมทางสังคมและการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่การสร้างชาติที่โอบกอดความหลากหลาย (Rainbow Nation) ไม่ใช่การเรียกร้องหรือทวงคืนความยุติธรรม
หลังจากแมนเดลาขึ้นเป็นประธานาธิบดี การแบ่งแยกสีผิวและความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลผลิตของยุคแบ่งแยกสีผิวยังคงตกค้างและปรากฎอยู่ในทุกมิติของสังคม กลายเป็นความท้าทายแรกของแอฟริกาใต้ยุคใหม่ ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว การต่อสู้เพื่อรื้อถอนมรดกของยุคแบ่งแยกสีผิวและยุคอาณานิคมยังคงดำเนินต่อไปเพื่อเรียกคืน “เสียง” ของผู้ถูกกดขี่ในสังคมประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือภารกิจการรื้อถอนรูปปั้นและอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ล่าอาณานิคมและคนผิวขาวในฐานะวีรบุรุษของชาติ
การเคลื่อนไหวเพื่อการรื้อถอนรูปปั้นเซซิล โร้ดส์ (Cecil Rhodes) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (University of Cape Town (UCT)) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรื้อสร้างเรื่องเล่าของชาติขึ้นมาใหม่โดยเน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานในสังคมแอฟริกาใต้
ต้นกำเนิดขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall
ต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ชูมานิ แม็กเวล (Chummani Maxwele) เดินถือถังอุจจาระที่เก็บมาจากชุมชนที่อยู่อาศัยของคนผิวสีมาสาดใส่รูปปั้นเซซิล โร้ดส์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางมหาลัยวิทยาลัยเคปทาวน์ (การประท้วงนี้ถูกเรียกว่า Poo protest) โร้ดส์ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักจักรวรรดินิยมที่มีความทะเยอทะยาน เขาคือผู้ก่อตั้งประเทศโรดิเซีย (Rhodesia) (ซึ่งปัจจุบันคือประเทศซิมบับเวและแซมเบีย) และยังเป็นเจ้าของที่ดินของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ หากแต่นี่ไม่ใช่ภาพในความทรงจำของคนผิวสีที่มีต่อโร้ดส์เลยแม้แต่น้อย
แม็กเวลเป็นแกนนำคนสำคัญของขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall (RMF) เขาเป็นลูกชายของคนขุดแร่ฐานะยากจนในจังหวัดอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape) เช้าวันหนึ่งในปีค.ศ. 1994 แม็กเวลในวัย 10 ขวบ ขณะที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ได้ยินเสียงเครื่องบิน ที่กำลังบินวนรอบบริเวณชุมชน พร้อมโปรยใบปลิวที่ตกแต่งด้วยสีดำ เหลืองและทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรค ANC เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้แมนเดลาในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ที่คนผิวสีจะมีสิทธิออกเสียง เสียงกังวาลของเครื่องบินลำนั้นไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของเขา มันเป็นเสียงอันทรงพลังที่มีนัยยะถึงความหวังและคำสัญญาว่าการขึ้นมาของพรรค ANC จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ประชาชนทุกคนจะมีอิสระและความเท่าเทียมในการแสวงหาหนทางของชีวิตที่แตกต่างจากยุคก่อน
วันเวลาผ่านไป ครอบครัวของแม็กเวลย้ายมาอาศัยอยู่ในชุมชนชานเมืองของเคปทาวน์ชื่อเดลฟท์ (Delft) เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าชุมชนในเดลฟท์ รวมไปถึงชุมชนแออัดใกล้เคียงอย่างกาเยลิตชา (Khayelisha) ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเคปทาวน์ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่กว่าที่คิดไว้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ตกงาน ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง มีปัญหาโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคเอดส์ อีกทั้งยังมีระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ ผู้คนยังขับถ่ายตามท้องถนน และเมื่อเข้าฤดูฝน สถานการณ์ทุกอย่างที่นี่จะยิ่งเลวร้ายลง แม็กเวลรู้สึกตกตะลึงกับสิ่งที่พบเห็นในเมืองเคปทาวน์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขามาทำงานที่ร้านวูลเวิร์ธ (Woolworth) ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เกตระดับพรีเมี่ยมในเมืองเคปทาวน์ เขาทำงานในย่านแคลร์มอนต์ (Claremont) ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนขาวหรือที่เรียกว่า “leafy suburbs” ชุมชนที่มีต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม ในขณะที่คนในชุมชนต่างชื่นชมเขาที่ได้มาทำงานในย่านหรู เขากลับพบว่าตนเองเป็นเพียงแค่พนักงานที่ให้บริการลูกค้าผิวขาวในร้านค้าที่ตนเองไม่มีปัญญาซื้อข้าวของ ในย่านที่ตนเองไม่มีวันได้มาอยู่อาศัย พ่อของเขายังคงทำงานในเหมือง แม่ของเขา รวมถึงแม่ของใครหลาย ๆ คนยังคงทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของคนผิวขาว ในทุก ๆ วันที่เขามาทำงาน ความรู้สึกขมขื่นของเขายิ่งเพิ่มมากขึ้น
เสียงของเครื่องบินลำนั้นในปีค.ศ. 1994 ยังคงชัดเจน ทว่าอิสรภาพและความเท่าเทียมที่สัญญาไว้กลับลางเลือนและเป็นแค่ภาพลวงตา ประสบการณ์ของแม็กเวลไม่ต่างจากประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ผิวสีจำนวนมากในแอฟริกาใต้ กลุ่มคนรุ่นนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘Born frees’ พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับความโหดร้ายทารุณของระบบแบ่งแยกสีผิว แต่รับรู้เรื่องราวผ่านคำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อน จากในสื่อและจากบทเรียน คนกลุ่มนี้ถือเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน เป็นความภาคภูมิใจและเครื่องยืนยันความสำเร็จของการต่อสู้อันยากลำบาก หากแต่ในความเป็นจริง คนรุ่นใหม่ยังคงเผชิญหน้าอยู่กับความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกสีผิวที่ฝังรากลึกในสังคมแอฟริกาใต้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป พวกเขายังคงมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา
มหาวิทยาลัยเคปทาวน์เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของแอฟริกาใต้ที่นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและคนผิวสีที่มาจากกลุ่มชนชั้นกลาง ด้วยหลักสูตรการศึกษาแบบตะวันตก สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงาม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เยรูซาเล็ม’ ของคนผิวสีรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันว่าจะได้เข้ามาศึกษาเพื่อเป็นบันไดทางสังคมไปสู่อนาคตที่ดีกว่า หากแต่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกลับไม่เป็นดั่งฝัน มีคนกล่าวว่า เมื่อคุณได้เข้ามาศึกษาที่นี่ คุณจะไม่มีวันหลงลืมรากเหง้าของคุณได้อีกเลย เพราะทุกกิจกรรมทางสังคมและวิธีการปฏิบัติของผู้คนที่นี่ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ มันจะคอยย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่าเราคือใคร ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณได้ก้าวเข้าไปในโรงอาหาร คุณจะพบว่ามีโต๊ะคนขาว โต๊ะคนดำ (white table, black table) บริเวณต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยก็มีมุมคนขาวและมุมคนดำ (white corner, black corner) การแบ่งแยกในเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยธรรมชาติตามการรวมกลุ่มทางสังคมภายในมหาวิทยาลัย
ต่อมาเราจะเริ่มเรียนรู้ว่ากิจกรรมทางสังคมชนิดใดเป็นของคนผิวขาวหรือของคนผิวสี เช่น คนผิวขาวนิยมเล่นกีฬาบางประเภทที่คนผิวสีไม่มีทักษะ ยิ่งไปกว่านั้น การกีดกันและแบ่งแยกสีผิวยังถูกปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัวผ่านคำพูดและพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การที่คนผิวขาวพูดว่า “ฉันดีใจที่ได้มีเพื่อนผิวสี” “ฉันเองก็มีเพื่อนผิวสีนะ” ราวกับว่าการมีเพื่อนผิวสีนั้นเป็นการทำคุณงามความดีแบบหนึ่งในสังคมแอฟริกาใต้ อีกทั้งอาจารย์ผิวสีจำนวนหนึ่งยังถูกประเมินว่าสอนไม่ดี เพียงเพราะพวกเขามีสำเนียงการพูดแบบคนผิวสี (Black accent) และนี่เองคือวิธีการที่แนวคิดการแบ่งแยกสีผิวได้ทำงานอย่างแยบยลและเป็นระบบในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ (institutional racism)
สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือภาพจำลองของสังคมแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน ที่การแบ่งแยกสีผิวเผยโฉมให้เราเห็นต่อหน้าต่อตาอย่างเป็นปกติ ไม่ว่าจะในร้านอาหาร ผับบาร์ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล การแบ่งแยกชนชั้นผ่านสีผิวที่ปรากฏอยู่ในทุกอณูของสังคมเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่รุนแรง และอาจรวมไปถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย
กระแส Rhodes Must Fall
ในเช้าวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2015 แม็กเวลนำอุจจาระมาสาดใส่รูปปั้นของ Rhodes พร้อมกับตะโกนว่า “วีรบุรุษและบรรพบุรุษของพวกเราอยู่ที่ไหน?” การประท้วงของแม็กเวลได้กระตุ้นความรู้สึกโกรธเกรี้ยวของคนผิวสีรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่ต่างจากเขา เริ่มมีการรวมตัวของนักศึกษาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการฉีดพ่นภาพกราฟฟิกบริเวณรูปปั้นเซซิล โร้ดส์ การคุมรูปปั้นด้วยถุงขยะ พร้อมไปกับการขับร้องบทเพลงของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิวในอดีต เสียงกลองกระหึ่มไปทั่วมหาวิทยาลัย มีการบุกยึดอาคารเรียน รวมไปถึงการปราศรัยให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคการแบ่งแยกสีผิว
พวกเขากล่าวว่า รูปปั้นนี้คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสถาบันแห่งนี้เชิดชูแนวคิดอาณานิคมและวัฒนธรรมของคนผิวขาวมากเพียงใด หลักสูตรที่มีแนวความคิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) สภามหาวิทยาลัยที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ในขณะที่การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาผิวสีนั้นกลับไม่ได้รับความใส่ใจ พวกเขาจึงเรียกร้องให้รื้อถอนรูปปั้นเซซิล โร้ดส์และเรียกขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า Rhodes Must Fall (RMF)
แม็กซ์ ไพรซ์ (Max Price) อธิการบดีในขณะนั้นรีบบินกลับจากการประชุมที่บังคลาเทศในทันที พร้อมมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกคนออกจากมหาวิทยาลัย เขายอมรับว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาผิวสีนั้นชอบธรรม มันไม่ใช่เพียงการรื้อถอนรูปปั้นแต่พวกเขากำลังพูดถึงสิ่งที่กว้างกว่านั้น กล่าวคือ ความรู้สึกแปลกแยกในสถาบันการศึกษา การประท้วงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระแสไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ เช่น Stellenbosch และ Witwatersrand จนในที่สุด รูปปั้นเซซิล โร้ดส์ ก็ถูกรื้อถอนออกในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2015 หลังจากตั้งอยู่ใจกลางมหาลัยวิทยาลัยเคปทาวน์ยาวนานถึง 81 ปี
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 การเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall ได้จุดประกายการเคลื่อนไหวสำคัญอย่าง “Fees Must Fall” ที่เรียกร้องให้ลดค่าศึกษาเล่าเรียน รวมไปถึงการมีนโยบายเรียนฟรีสำหรับนักศึกษายากจน เพื่อให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้อย่างเท่าเทียม สถานการณ์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น นักศึกษาราว 10,000 คน เดินขบวนไปยังรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลในกรุงพริทอเรีย จนในที่สุดประธานาธิบดีจาคอบ ซูม่า (Jacob Zuma) ได้ออกมาประกาศระงับการขึ้นค่าเทอมของทุกสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall และ Fees Must Fall ว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่ชายผิวสีเป็นสำคัญได้นำไปสู่การเคลื่อนไหว “Patriarchy Must Fall” ที่ต้องการรื้อถอนระบอบชายเป็นใหญ่ โดยสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของผู้หญิง รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ ในสังคมแอฟริกาใต้
กระแสต่อต้านขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall
“อะไรที่เป็นอดีต จงปล่อยให้มันเป็นอดีต” (What is verby is verby)
ในวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1994 แมนเดลาเดินออกมาที่ระเบียงทำเนียบ จับมือทักทายเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก (Frederik Willem de Klerk) ประธานาธิบดีผิวขาวคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ พร้อมกับตะโกนเป็นภาษาแอฟริคานส์มีใจความดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ในขณะที่หลายคนเห็นว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษานั้นสมเหตุสมผลและมีความชอบธรรม แต่หลายฝ่ายยังคงไม่เห็นด้วยกับท่าทีอันแข็งกร้าวของนักศึกษา อดีตนักเคลื่อนไหวหลายคนเห็นว่า ขบวนการนักศึกษานั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและกำลังดึงสังคมแอฟริกาใต้ให้กลับไปยังจุดเดิมด้วยการทำลายความสงบสุขและสันติภาพที่คนรุ่นก่อนได้ทุ่มเทต่อสู้เพื่อให้ได้มาอย่างยากลำบาก รวมไปถึงความเคลือบแคลงสงสัยความรู้สึกเจ็บปวดของคนรุ่น ‘born frees’ ว่าเหตุใดจึงรู้สึกโกรธเกรี้ยวและเจ็บปวดกับระบบแบ่งแยกสีผิวทั้งที่ตนเองไม่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านั้น ผู้ใหญ่บางคนพูดด้วยท่าทีดูแคลนว่าเด็กรุ่นใหม่เพียงต้องการแสวงหาตัวตนโดยใช้ความเจ็บปวดของคนรุ่นพ่อแม่เป็นเครื่องมือ ขณะที่บางคนพูดด้วยความห่วงใยว่าเรื่องราวในอดีตนั้นเลวร้ายและไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องมารับรู้ พวกเขาควรเป็นอิสระจากอดีตอันเจ็บปวดเหล่านั้น
ในระหว่างการประชุมสภามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ครั้งหนึ่ง ประธานสภาอย่าง มุขมนตรี จอนกอนกูลู ดุนกาเน่ (Archbishop Njongonkulu Ndungane) อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิวที่ถูกคุมขังพร้อมกับแมนเดลาที่ Robben Island ได้ว่ากล่าวกลุ่มนักศึกษาที่ปีนขึ้นมาเปิดหน้าต่างห้องประชุมด้วยท่าที่คึกคะนองเพื่อฟังการประชุมว่า “ใครกันที่แต่งตั้งให้คุณมาเป็นผู้พิทักษ์ดูแลความโกรธเกรี้ยวของคนผิวสี? เพียงเพราะคุณเป็นคนผิวสีเหมือนกันอย่างนั้นเหรอ?” ท่าทีดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับขบวนการ Rhodes Must Fall ของคนรุ่นใหม่ในฐานะตัวแทนหรือกระบอกเสียงของคนผิวสีในสังคมแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนรุ่นใหม่ยืนยันว่าการแบ่งแยกสีผิวในยุคปัจจุบันนั้นเลวร้ายกว่าในอดีตมาก มันแยบยลและถูกละเลยโดยผู้คนส่วนใหญ่ แม้แต่ผู้ที่เคยเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวมาก่อน พวกเขาเพียงเข้ามาสานต่องานที่ยังไม่เสร็จของคนรุ่นก่อน ภารกิจของพวกเขาคือ การขุดรากถอนโค่นการแบ่งแยกสีผิวที่กัดกินสังคมแอฟริกาใต้มาเป็นเวลานาน
สายรุ้งที่ไม่มีอยู่จริง
ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ตั้งอยู่บนข้อถกเถียงเรื่องสันติภาพและความยุติธรรม (Peace and Justice Dilemma) ว่าอะไรคือเป้าหมายหลักสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงไปสู่สังคมที่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ที่ปราศจากความรุนแรงและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล พรรคการเมืองอย่าง ANC รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นก่อน มีอุดมการณ์อันแรงกล้าในการสร้าง “ชาติสายรุ้ง” (Rainbow nation) ที่เน้นย้ำเรื่องศีลธรรมของการให้อภัย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและสันติภาพภายในสังคม จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่รัฐสนับสนุนและเรียกร้องให้คนผิวสีให้อภัยกับการกระทำอันโหดร้ายของคนผิวขาวในอดีตอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional forgiveness) นั้น เป็นการผลักภาระทางศีลธรรมให้กับเหยื่อ (moral responsibility of victim) และสร้างวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดให้เกิดขึ้นในสังคม (culture of impunity) ดังนี้ ภาวะแห่งสันติสุขในแอฟริกาใต้ภายหลังความขัดแย้ง จึงเป็นเพียงสภาวการณ์ความสงบแบบผิวเผินที่ปราศจากการใช้กำลังการต่อสู้ (negative peace) หากแต่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาอยู่เสมอ ความรู้สึกเจ็บปวดและไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนผิวสีจากกระบวนการสร้างความปรองดอง รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเบ้าหลอมความผิดหวังและโกรธเคืองในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
คนผิวสีรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมในเชิงโครงสร้างที่เป็นผลมาจากยุคแบ่งแยกสีผิว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาล ANC ที่เคยเป็นความหวังกลับทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างเป็นระบบ (state capture) การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างขบวนการเคลื่อนไหว Rhodes Must Fall มิใช่เป็นเพียงภาพสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการเปลี่ยนผ่านสังคมภายหลังยุคแบ่งแยกสีผิว แต่ยังเป็นเสียงเรียกร้องให้ทุกคนหันมายอมรับความจริงทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงการแสวงหาวิธีการโอบกอดอดีตอันโหดร้ายของชาติไว้อย่างสร้างสรรค์และการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมที่มีสันติภาพและเป็นธรรม (just peace) ดังที่ทุกคนใฝ่ฝันไว้
อ้างอิง
Arbour, L. (2007). Economic and Social Justice for Societies in Transition. Journal of International Law and Politics, 1, 1-27.
Castro, A., Tate, A. (2017). Rhodes Fallen: Student Activism in Post-Apartheid South Africa. History in the Making, 10(11). Retrieved from https://scholarworks.lib.csusb.edu/history-in-the-making/vol10/iss1/11
Chantiluke, R., Kwoba, B., Nkopo, A. (2018). Rhodes Must Fall: The Struggle to Decolonise the Racist Heart of Empire. London, UK: Zed Books.
Fairbanks, E. (2015). The Birth of Rhodes Must Fall. Retrieved from https://www.theguardian.com/news/2015/nov/18/why-south-african-students-have-turned-on-their-parents-generation
Head, T. (2018). Inequality has increased in South Africa since apartheid. Retrieved from https://www.thesouthafrican.com/inequality-increase-apartheid-south-africa/
Herwitz, D. (2012). Heritage, Culture, and Politics in the Postcolony New York, NY: Columbia University Press.
Lundy, P., McGovern, M. (2008). Whose Justice? Rethinking Transitional Justice from the Bottom Up, Journal of Law and Society. 35 (2). 265-292.
Nyamnjoh, A. (2015). The Phenomenology of Rhodes Must Fall: Student Activism and the Experience of Alienation at the University of Cape Town, Strategic Review for Southern Africa, 39(1), 256-277.
Nyamnjoh, F.B. (2018). #RHODESMUSTFALL: Nibbling at Resilient Colonialism in South Africa. Bamenda, Cameroon: Langaa RPCIG.
Schaap, A. (2008). Reconciliation as Ideology and Politics, Constellations: International Journal of Critical and Democratic Theory, 15(2), 249-264.
Waldorf, L. (2012). Anticipating the Past: Transitional Justice and Socio-Economic Wrongs, Social and Legal Studies, 21(2), 171-186.
ประวัติผู้เขียน
คุณนฤมล เตือนภักดี
Senior project executive -International research ที่Rapid Asia
ความสนใจทางวิชาการ: พัฒนาการทางเมืองเศรษฐกิจและสังคมในแอฟริกา, ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งในแอฟริกา, ประวัติศาสตร์อาณานิคมและชาติพันธุ์, การพัฒนาระหว่างประเทศ
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk