วิกฤตโควิด-19: การเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง

บทนำ: วิกฤตโควิด-19 และโอกาสในการเปลี่ยนแปลง

     ในปี 2020 นี้ เหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญคงจะหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แสดงให้เห็นได้ชัดว่าการเมือง (politics) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกได้จากชีวิตประจำวัน โรคอุบัติใหม่ได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตที่ว่ามันเพียงปัญหาด้านสาธารณะสุขสู่ปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ แม้ในระยะแรกของการระบาดผู้คนมักมีความเชื่อว่าเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติ (indiscriminate) ต่อผู้ใดทั้งนั้น ประเด็นนี้ยิ่งได้รับการตอบย้ำจากการที่แม้กระทั่งเจ้าฟ้าชายชาร์ล หรือ ทอม แฮงค์ ต่างก็เคยเป็นผู้ติดเชื้อด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าหลังจากที่ไวรัสทวีความรุนแรงมากขึ้นจนนำมาสู่นโยบาย Lock Down ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการนานาชนิดเพื่อใช้ในการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การปิดห้าง ร้านค้า สถานบันเทิง รวมไปถึงการปิดน่านฟ้าห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศ โรคระบาดนี้กลับได้ส่งผลกระทบแบบเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจอันนำมาซึ่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความมั่นคงของปัจเจกเป็นอย่างยิ่ง

      จากมุมมองทางด้านสาธารณะสุข นโยบายข้างต้นอาจจะมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการระบาด รวมทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากการระบาดในระดับโลก ทว่าหากเราศึกษาและวิเคราะห์นโยบายนี้จากมุมมองทางสังคมและเศรษฐกิจ นานาประเทศต่างพบกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากนโยบายนี้ เนื่องจากในขณะเดียวกัน นโยบายนี้ได้สร้างผลกระทบทางอ้อมให้แก่ผู้คนอย่างมหาศาล ทั้งยังเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนต่อผู้มีรายได้ต่ำ แรงงานไม่ประจำ และผู้ที่ไม่ได้รับการประกันรายได้ใด ๆ ผู้คนจำนวนมากพบกับความยากลำบากและความไม่แน่นอนแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน (extraordinary hardship and uncertainty) หลังจากที่มาตรการล็อคดาวน์ได้เริ่มดำเนิน มีผู้คนมากมายขาดรายได้เนื่องจากจำเป็นต้องยุติกิจการชั่วคราว หรือโดนเลิกจ้างเนื่องจากอาชีพที่ทำอยู่นั้นได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและมาตรการที่จะรับมือต่อโรคระบาด ผลกระทบซึ่งเลือกปฏิบัตินี้ทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้ที่จะเข้าถึงปัจจัยสี่ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หลายคนไม่มีอาหาร ที่พัก ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขได้ ในขณะเดียวกันบุตรหลานของคนเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการถูกตัดโอกาสจากการเข้าถึงการศึกษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ตและดาวเทียม

      ในขณะเดียวกันในแง่ของเศรษฐกิจระดับมหภาค หลายๆ องค์กรได้คาดการณ์เอาไว้ว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโตช้าและถดถอยจากโควิด-19 จะไม่ได้รุนแรงและฉับพลันเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ทว่าผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดนั้นจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอ โดยไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงในเร็ววันหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล และอาจจะส่งผลกระทบยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปีค.ศ. 1929 (Sakurai 2020: 1)

      เป้าหมายของผู้เขียนไม่ได้ต้องการที่จะโทษไปที่ตัวนโยบายว่าเป็นต้นเหตุทั้งหมดของผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ สาเหตุจริงๆ ของผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐ อุดมการณ์ทางการเมือง ระบอบการปกครอง และโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้อิทธิพลจากแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism)  อันนำมาซึ่งปัญหาด้านความไม่มั่นคงทั้งในระดับปัจเจกซึ่งเกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคทางสังคม (Social Disparities)  และความไม่มั่นคงในวงกว้างซึ่งเกิดขึ้นจากตลาดซึ่งกำกับดูแลตัวเอง (self-regulating market)

      ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าปัญหาความไม่มั่นคงทั้งในระดับปัจเจก และระดับมหภาคซึ่งประจักษ์ให้เห็นในทุกวันนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ทว่าปัญหานี้มีการสั่งสมมานานโดยมีลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นต้นตอ เพียงแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ช่วยเน้นให้เห็นถึงผลกระทบของปัญหาซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานานจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้อย่างชัดเจนในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ข่าวที่ออกทางทีวีไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย, เด็กที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา, กิจการมากมายจำเป็นต้องปิดตัว, การขาดสภาพคล่องทางการเงิน, พนักงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง หรือรวมไปถึงคนอดอยากจำนวนมากในช่วงนี้ ทำให้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขได้ถูกเปิดเผยออกมาให้เห็น อันแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในหน้าที่ของรัฐ ซึ่งความล้มเหลวนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล

      การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ชี้ให้เห็นได้ว่ารัฐและระบอบการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันทั้งอ่อนแอและล้มเหลวในหน้าที่ของตนเองที่จะมอบสวัสดิภาพและความมั่นคงสู่ประชาชน ทว่าท่ามกลางความล้มเหลวนั้นโควิด-19 ได้มอบ “โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Opportunity to Change) ในหลายๆ ครั้งวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเสมือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นักประวัติศาสตร์อย่าง Doris Kearns Goodwin ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ในลักษณะเดียวกันว่า อย่างน้อยวิกฤตก็เปิดโอกาสให้คุณคิดถึงสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ Tackett และ Boak กล่าวว่าในขณะนี้การเมืองและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 สั่นคลอนอย่างหนักภายใต้รากฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 20 ทว่าในขณะเดียวกันวิกฤตก็เปิดโอกาสอันสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่บทสรุป (Synthesis) ใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 (Goodwin 2020)

      บทความชิ้นนี้จึงต้องการเสนอว่าวิกฤตโควิด-19 ได้มอบโอกาสสำคัญให้กับแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) แม้ว่าวิกฤตนี้ได้ส่งผลกระทบอันรุนแรงนานัปการทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจดังที่ได้เกริ่นเอาไว้ข้างต้น ทว่าเราไม่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นต้นเหตุ แท้ที่จริงแล้วโควิด-19 ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ตัวกระตุ้น (catalyst) ที่ทำให้เราเห็นและรู้สึกถึงปัญหาความไม่มั่นคง (insecurity) ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สะสมมาเนิ่นนานและไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ดังนั้นวิกฤตนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้แนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยได้กลายเป็นบทสรุปของนโยบายของรัฐ อุดมการณ์ทางการเมือง ระบอบการปกครอง และโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากไม่เพียงจะช่วยคลี่คลายปัญหาในปัจจุบันผ่านแก้ไขและเยียวยาปัญหาความไม่เท่าเทียม และผลกระทบของตลาดเสรีซึ่งส่งผลต่อสวัสดิภาพและความมั่นคงของประชาชนที่กรอบแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ยังสามารถป้องกันหรืออย่างน้อยก็บรรเทาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่จะตามมาและส่งผลกระทบต่อทั้งรัฐและปัจเจกอย่างสาหัส

 สังคมนิยมประชาธิปไตย คำตอบใหม่ในวิกฤตโควิด-19

      บทเรียนที่มีประโยชน์ที่สุด และเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางที่สุดจากการเริ่มต้นของวิกฤตนี้คือ: รัฐสวัสดิการจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21

–         Eloi Laurent, Munck (Laurent 2020)

      ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 รัฐจะกลับเข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางซึ่งแสดงถึงจุดจบของยุคซึ่งอำนาจและความรับผิดชอบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจได้ถูกโอนย้ายจากรัฐไปสู่ตลาด

–         Philip Stephens (Stephens: 2020)

      อุดมการณ์ต่าง ๆ ที่จำกัดการแทรกแซงของรัฐทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจจะลดลงภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19

–         Yukio Sakurai (Sakurai 2020: 5)

      ในขณะที่ Francis Fukuyama ได้เคยใช้วิภาษวิธีของเฮเกล (Hegelian Dialectic) สรุปเอาไว้ว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมพร้อมกับระบบตลาดแบบเสรีจะเป็นจุดสุดท้ายของวิวัฒนาการทางอุดมการณ์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20  วิกฤตในปัจจุบันสามารถเป็นคำตอบอย่างดีได้ว่าบทสรุปสำหรับศตวรรษที่ 20 อาจจะไม่ใช่บทสรุปที่ถูกต้องสำหรับศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป วิกฤตโควิด-19 นั้นเปิดโอกาสให้สถาบันในระดับต่างๆ ตั้งแต่รัฐ, สถาบันนโยบาย, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงนักวิชาการณ์แขนงต่างๆ ในการการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายใหม่ (Reprioritization of the Goal) (McLeod: 2020) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นคำตอบที่ถูกต้องของศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้

      ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่าในการจัดความสำคัญของเป้าหมายใหม่ ทำไมสังคมนิยมประชาธิปไตยถึงได้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนจะขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างคร่าวๆ เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ดีขึ้นว่าเหตุใดสังคมนิยมประชาธิปไตยจึงควรเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดท่ามกลางวิกฤตนี้

      แม้ว่าจะได้รับค่านิยมและอิทธิพลมาจากแนวคิดสังคมนิยมในเรื่องของสังคมที่ยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้น แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นแตกต่างจากแนวคิดสังคมนิยม ผู้นิยมระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นต้องการพัฒนาสังคมในปัจจุบันให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม พัฒนาโครงสร้างสาธารณะพื้นฐานเพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็น การศึกษาขั้นพื้นฐาน บริการสาธารณะสุข และที่อยู่อาศัย ทั้งยังมอบหลักประกันให้แก่ปัจเจกในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่แน่นอนเกิดขึ้น โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวกลางและยังคงเป็นไปภายใต้ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยไม่ได้มีเป้าหมายเป็นการปฏิวัติ (revolution) เพื่อมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้รัฐเป็นผู้จัดการและเข้าควบคุมกิจการทางทรัพย์สิน (property relations) ทั้งหมดดังแนวคิดแบบสังคมนิยม

      ดังที่เห็นได้จากประเทศกลุ่มนอร์ดิก ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยสามารถส่งเสริมและให้หลักประกันในคุณภาพชีวิตทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ (social and economic well-being) แก่พลเมือง Sven Steinmo ได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับสังคมนิยมประชาธิปไตยในสวีเดนเอาไว้ว่า เป้าหมายของสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นคือความพยามยามที่จะทำให้ผลกระทบของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นอยู่ในระดับที่รับมือได้ ด้วยการประสานกับเข้ากับทุนนิยม และลดผลกระทบของมัน (harmonized and softened) (Steinmo 1988: 405) ในด้านของเศรษฐกิจนั้นผู้นิยมระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นสนับสนุนเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ซึ่งการเพิ่มอำนาจให้แก่ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ (การผลิต, การลงทุน, การจ้างงาน) การจัดสวัสดิการ และการกระจายรายได้ โดยการเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดซึ่งปราศจากการควบคุมอันนำมาซึ่งความไม่แน่นอน

      ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมเสรี (Liberal Capitalism) เข้าสู่ทุนนิยมระบบ (Organized Capitalism) ซึ่งเพิ่มอำนาจแทรกแซงกลไกตลาดให้แก่รัฐ แต่มิได้มีเป้าหมายที่จะปฏิเสธตลาดเสรี เพียงแต่ต้องการลดผลกระทบของตลาดเสรีอันจะมีต่อปัจเจกไม่ว่าจะผ่านการจัดเก็บภาษีเพื่อการกระจายความมั่งคั่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสวัสดิการรัฐ  อำนาจนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับจุดมุ่งหมายของสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งเชื่อว่าทั้งรัฐและตลาดนั้นต่างมีหน้าที่ ที่จะต้องรักษาความเสมอภาค เสรีภาพ และความยุติธรรมในสังคม (Equality, Liberty and Social Justice) อันจะนำมาซึ่งสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิตซึ่งถูกลิดรอนหรือได้รับผลกระทบจากในแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบัน

      รัฐซึ่งได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย เช่นในสแกนดิเนเวียนั้นนโยบายของภาครัฐมีบทบาทในการมอบหลักประกันทางสังคมเพื่อรับรองว่าประชนทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน การศึกษา บริการสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางผ่านมาตรการการจัดเก็บภาษีเพื่อการกระจายความมั่งคั่ง ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดสภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ รัฐจะช่วยรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ อันสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

      ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแนวทางของสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นมีโอกาสที่จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับวิกฤตโควิด-19 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นในบทนำ ผลกระทบจากนโยบาย Lockdown ที่เลือกปฏิบัติต่อปัจเจกอย่างชัดเจนนั้น ส่งผลให้ประชาชนในกลุ่มเปราะบางจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ คนเหล่านี้แบกรับภาระจากนโยบายนี้อย่างหนัก แรงงานจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงานโดยปราศจากประกันการว่างงาน (Unemployment Insurance) หลักประกันทางสังคม หรือสวัสดิการรัฐที่จะป้องกันไม่ให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ตกอยู่ในความยากจน ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถแม้กระทั่งจะเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่พัก การบริการทางสาธารณสุข ในขณะเดียวกันบุตรหลานของคนเหล่านี้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลให้พวกเขาถูกบังคับให้ต้องทนอยู่ในสภาวะขาดสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิต ในขณะเดียวกันแนวคิดตลาดเสรีก็เปิดโอกาสเพียงน้อยนิดให้รัฐเข้าไปมีบทบาทสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนในยามวิกฤต

      ปัญหานี้ยังทำให้เกิดเป็นวงจรสะท้อนกลับเชิงลบอีกด้วย (Negative Feedback Loop) คนจำนวนมากยังคงไปทำงานแม้จะมีความเสี่ยงจากโรคระบาด ในประเทศที่ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ คนจำนวนมากเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์เนื่องจากปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศดังที่ Hermisson ได้เสนอเอาไว้ในกรณีของสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลให้จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีแต่จะทำให้วิกฤตนี้กินเวลาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งท้ายที่สุดคนส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องทนอยู่ในสภาวะขาดสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิต (Hermisson: 2020)

      ดังนั้นนโยบายจากภาครัฐอันได้อิทธิพลมาจากอุดมการณ์แบบสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งรับรองว่าประชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาขั้นพื้นฐาน บริการสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย ทั้งยังมอบหลักประกันแก่พลเมืองและภาคธุรกิจในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงและยังมีความพยายามที่จะรักษา คงไว้ และนำมาซึ่งความยุติธรรมและเสมอภาคในสังคม จะเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมานด้านสวัสดิการทางสังคม จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ไม่มีรายได้หรือว่างงาน, รวมทั้งมอบปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและช่วยเหลือธุรกิจให้ยังดำเนินต่อไปได้

     ผู้เขียนอยากจะย้ำว่า สาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในปัจจุบัน คือ ความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งแทรกซึมไปยังทุกปริมณฑลและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน วิกฤตโควิด- 19 เพียงแต่ทำให้ปัญหาเหล่านี้โผล่ขึ้นมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่หลายๆ ท่านอาจจะได้ใช้วันหยุดอย่างสบายในช่วง lockdown คนหลายต่อหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายเนื่องจากขาดปัจจัยที่จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตต่อได้

      ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะเสนอคือ อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นไม่ควรจะเป็นเพียงแค่ค่านิยมที่นำไปปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อตอบสนองต่อผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะสั้นเท่านั้น แม้มาตรการเยียวยาโควิด-19 ของแต่ละประเทศจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐในการสร้างความมั่นคงในชีวิตของพลเมืองและระบบเศรษฐกิจ แต่มาตรการระยะสั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกซึ่งทำให้ประชาชนต้องเผชิญสภาวะขาดสวัสดิภาพและความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ดังนั้นแนวทางแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยจึงไม่ควรเป็นเพียงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่ควรเป็นทางออกระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (Remake of Society) ในระยะยาวสังคมนิยมประชาธิปไตยจะเป็น สัญญาใหม่ที่ “ใหม่” กว่าเดิม (“New” New Deal) ที่จะทำการ บรรเทา กอบกู้ และปฏิรูปปัญหาความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกในสังคม รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Economic Depression) ตามมาในอนาคตด้วย

 สัญญาใหม่ของศตวรรษที่ 21

      เมื่อพูดถึงสัญญาใหม่หรือ New Deal แน่นอนว่าทุกท่านต้องนึกถึงมหาวิกฤติในต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การระบาดของไข้หวัดสเปน จนถึงมาถึงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 ซึ่งทำให้แรงงานมากกว่า 1 ใน 4 กลายเป็นผู้ว่างงานโดยไม่มีแม้แต่หลักประกันหรือสวัสดิการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt จึงได้ผลักดันโครงการ “สัญญาใหม่” อันนำมาซึ่งการปฏิรูปทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อบรรเทา ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความยากจนและการว่างงาน พร้อมทั้งมอบหลักประกันทางสังคมให้แก่ชนชั้นแรงงาน ในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ก็เช่นกัน วิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีสัญญาใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือผู้ที่ได้ผลกระทบจากวิกฤต และเพื่อปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอันเป็นสาเหตุของวิกฤตรอบนี้  วิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงด้านที่เลวร้ายของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนในแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข

      ในช่วงยุคทองของทุนนิยม (The Golden Age of Capitalism) ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นผลจากสัญญาใหม่ของ Roosevelt ได้สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่คนจำนวนมาก ทว่าภายหลังจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น (Stagflation) แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ได้ถูกนำมาแทนที่พร้อมกับการอ้างว่า บทบาทในตลาดของรัฐซึ่งมากเกินไปจะนำมาซึ่ง สภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่เติบโตช้า โดยมีการเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ตลาดเสรีและการค้าเสรี

      ในปัจจุบันนั้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ไม่ได้หยุดบทบาทไว้ที่ปริมณฑลทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงนโยบายของรัฐ  อุดมการณ์ทางการเมือง ระบอบการปกครอง และโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงทั้งในระดับปัจเจกและรัฐภายใต้ฉันทาติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่ง Steger และ Roy กล่าวไว้ว่าฉันทามตินี้ก็เปรียบเสมือนคำพ้องความหมาย (synonym) ของเสรีนิยมใหม่นั่นเอง (Steger และ Roy 2010: 19)

      การที่เสรีนิยมใหม่นั้นลดบทบาทของรัฐในการเข้ามากำกับดูแลตลาด ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันกันในตลาดอันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุด (Maximization of Interests)  เสรีนิยมใหม่นั้นยังเปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้ที่คอยสร้างผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม (public goods) เป็นเพียงแค่ตัวละครหนึ่งในตลาด ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐ (public expenditure) ถูกลดลง ในขณะเดียวกันการปฏิรูปภาษีอากรเพื่อให้ภาคธุรกิจลงทุนมากขึ้นยังลดโอกาสในการกระจายความมั่งคั่งในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ บทบาทของรัฐด้านสวัสดิการที่ถูกลดทอนลงไปส่งผลให้ชีวิตของแรงงานจำนวนมากที่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำนั้นขาดความมั่นคงในชีวิต ทำให้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของแรงงานถูกบั่นทอน เป็นผลให้ปัจเจกขาดทั้งสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิต

      ในขณะเดียวกัน การเปิดเสรีทางการเงินและการค้า การแข่งขันกันของอัตราแลกเปลี่ยน การส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ แม้จะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐได้เป็นอย่างมาก แต่ในอีกมุมนึงนโยบายเหล่านี้ก็ได้สร้างความผันผวนรุนแรงในตลาดโลก อันนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายตลาดเสรีที่ขาดการควบคุมกำกับจากรัฐ เมื่อเกิดความผกผันก็ขาดความมั่นคงและขาดความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทั้งปัจเจกและธุรกิจทั้งหลายไม่อาจคงสภาพคล่องและอยู่รอดต่อไปได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19

      แม้ในอดีตผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่จะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดดังที่ James Busumtwi-Sam ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ระบบเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบตะวันตกเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคงนานัปการได้ถูกมองข้ามไป” ทั้งยังกล่าวย้ำอีกว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมาระบบและสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลกแทบไม่เคยถูกตั้งคำถามในฐานะสาเหตุของความไม่เท่าเทียมและความยากจน” (Busumtwi-Sam 2002: 254, 265) ทว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ ความเลวร้ายของเสรีนิยมใหม่อันเป็นรากฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 20 ซึ่งทำลายสวัสดิภาพและความมั่นคงของทั้งปัจเจกและเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน ได้ถูกเปิดเผยให้เห็นอย่างชัดเจนในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน วิกฤตโควิด-19 เปิดโอกาสในการแก้ไขโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวให้แก่ประชาคมโลก ซึ่งจะสามารถแก้ไขสาเหตุต้นตอของสภาวะขาดความมั่นคงได้ในระยะยาว หากโลกยังดำเนินไปภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่มองผลประโยชน์สูงสุดในตลาดเป็นหลัก ย่อมไม่มีทางที่จะช่วยเหลือประชาชนในวงกว้างได้ (Busumtwi-Sam 2002: 265)

      เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ในอนาคต แต่ละรัฐจำเป็นต้องพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ดำรงไว้ซึ่งมนุษยธรรมและความยุติธรรมแก่ทุกคน เพื่อสร้างสวัสดิภาพและความมั่นคงทั้งต่อปัจเจกและระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยป้องกันสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันซึ่งอาจก่อตัวเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต Heather Boushey ประธานศูนย์การเติบโตอย่างเท่าเทียมวอชิงตัน (Washington Center for Equitable Growth) กล่าวเอาไว้ว่า ความช่วยเหลือจากรัฐบาลนั้นจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” (Tackett and Boak, cited in Boushey 2020) ดังนั้นสัญญาใหม่จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

      ดังที่ได้เน้นย้ำไว้ก่อนหน้านี้ว่าสาเหตุของปัญหาในปัจจุบันไม่ใช่เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เป็นเพราะความไม่มั่นคงทางสังคม อันเป็นผลมาจากแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้นโยบายรัฐที่สะท้อนถึงอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยอันจะนำมาซึ่งสวัสดิภาพและความมั่นคงของปัจเจกในการดำรงชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยจึงถือเป็นสารัตถะสำคัญของสัญญาใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะใช้เพื่อบรรเทา (relief) และฟื้นตัว (recovery) จากผลกระทบของวิกฤต

      ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นโยบายซึ่งได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาวิกฤตในปัจจุบันในรูปแบบของมาตรการเยียว สวัสดิการสังคม และหลักประกันสังคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นต่ำในการดำเนินชีวิตได้ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังคงสามารถคงสภาพคล่องต่อไปได้ แม้ในระยะสั้นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้นานาชาติได้นำอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยเข้าไปเป็นแกนกลางของนโยบายตนเอง ทว่าเพียงแค่การบรรเทานั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของวิกฤตครั้งนี้ได้ นโยบายเหล่านี้ทำได้แค่ให้ความช่วยเหลือในระยะสั้นแต่ไม่สามารถช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้สามารถจัดการกับวิกฤตหรือความไม่แน่นอนซึ่งอาจจะพบในอนาคตอย่างยั่งยืน ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาที่อาจนำมาซึ่งปัญหาขนาดใหญ่กว่าในอนาคต ดังนั้นสัญญาใหม่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่การแก้ปัญหาชั่วคราว แต่จำเป็นต้องเข้าไปฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้และปฏิรูปสภาพสังคมและเศรษฐกิจอันเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งหมด

      ในการฟื้นฟูนั้น มาตรการของรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ Harvard Ash Center ได้ระบุเอาไว้ว่ามีนักคิดหลายคนได้เสนอว่าควรมีโครงการจัดหางานขนาดใหญ่จากภาครัฐ (Massive public jobs program) ซึ่งยึดเอา New Deal Civilian Conservation Corps ในสมัยของประธานาธิบดี Roosevelt เป็นแม่แบบ ซึ่งทำหน้าที่จ้างงานผู้ว่างงานให้สามารถกลับมามีรายได้ดังสถานการณ์ปกติ (Harvard Ash Center: 2020) ในขณะเดียวกันแนวคิดกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจแบบ Shielder Strategy ซึ่งพบในประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยในแถบสแกนดิเนเวียได้เสนอให้รัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือช่วยคราว เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบในสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอนจนกว่าสถานการณ์จะฟื้นฟูกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณสาธารณะอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งพยายามจะลดบทบาทของรัฐและควบคุมวินัยทางการเงินของรัฐ และมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์สูงสุดของเอกชน จึงเป็นอันตรายอย่างมากในฐานะอุปสรรคของรัฐในการฟื้นสู่สภาวะปกติ

      แม้จะสามารถฟื้นฟูเศรษกิจให้กลับเข้ามาสู่สภาวะปกติได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะไม่เกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นอีก Heather Boushey ได้กล่าวเอาไว้ว่าการแก้ปัญหาโดยไม่ได้นำมาซึ่งความยั่งยืนและความยืดหยุ่นต่อสภาวะผกผันในอนาคตนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง Tackett และ Boak (cited in Boushey 2020) ดังนั้นสุดท้ายแล้วแทนที่จะแค่ฟื้นฟูโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 20 ในปัจจุบันรัฐจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอันเป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งหมดใหม่ รัฐสวัสดิการ และระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมอันเป็นผลมาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวิกฤตในปัจจุบัน วิกฤตโควิด-19  แสดงให้เห็นแล้วว่าความไม่มั่นคงนั้นไม่เพียงแต่จะกระทบตัวปัจเจกแต่ยังกระทบถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอีกด้วย

      นักวิชาการหลายท่านมีข้อเสนอในแนวเดียวกันว่าหนทางเดียวที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้คือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน สำหรับผู้เขียน วิกฤตนี้ไม่ได้หยุดความหมายไว้ที่วิกฤตโควิด-19  แต่แท้จริงหมายถึงสภาวะขาดสวัสดิภาพและความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระดับปัจเจกและมหภาคซึ่งสั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะนำมาสู่วิกฤตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อถูกกระตุ้นอย่างแรงด้วยตัวกระตุ้นเช่นการแพร่ระบาดของไวรัสในปัจจุบัน โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งเป็นผลผลิตจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในศตวรรษที่20 อันนำความไม่มั่นคงมาสู่ทั้งปัจเจกและในวงกว้างจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป โดยเสียงส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกันว่า แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดต่อสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยผู้เขียนจะอิงจากกลยุทธ์ของรัฐ (State Strategy) ของประเทศซึ่งปกครองด้วยอุดมการณ์แบบสังคมนิยมประชาธิปไตยในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่สามารถมอบสวัสดิการในระดับสูงให้แก่ประชาชน (Palan, Abbott และ Dean 1996: 104)

      ประการแรก ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุผลเพื่อผลประโยชน์สูงสุด (Interest Maximization) ของเสรีนิยมใหม่ทำให้ภาครัฐเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ที่คิดคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจก่อนสาธารณประโยชน์ อันนำมาซึ่งนโยบายรัดเข็มขัด (Austerity Policy) ซึ่งทำให้สวัสดิการต่างๆ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงถูกลดจนเหลือเพียงขั้นต่ำสุด ซึ่งไม่สามารถสร้างความมั่นคงใดๆ ในชีวิตและไม่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นได้ กลยุทธ์ของรัฐภูมิภาคสแกนดิเนเวียเสนอไว้ว่า รัฐจำเป็นต้องกลับมามีบทบาทสำคัญในการจัดหาปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น อาหาร บริการสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่จะใช้เยียวยาในยามวิกฤต แต่เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตอันจะช่วยให้คนเหล่านี้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง (Palan, Abbott และ Dean 1996: 104) โดยถือเอาหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน (Egalitarianism and Equity) เอาไว้เป็นใจกลาง ในระยะยาวแนวคิดเหล่านี้จะนำมาซึ่งระบบสวัสดิการในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระจายรายได้และความมั่นคง ซึ่งแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความไม่มั่นคงของปัจเจกในโลกของทุนนิยมเสรีได้

      ประการที่สอง โครงสร้างอันเป็นผลจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ซึ่งเปิดตลาดเสรีและลดบทบาทของรัฐในการเข้ามาควบคุมดูแล เป็นสาเหตุโดยตรงของสภาวะความไม่มั่นคง เนื่องจากไม่มีผู้ใดที่คอยให้ความช่วยเหลือหรือจัดการสภาวะไม่แน่นอน กลยุทธ์ของรัฐภูมิภาคสแกนดิเนเวียเสนอไว้ว่านโยบายของรัฐนั้นควรจะเป็นแบบตามเป้าหมาย (Targeted Policy) ซึ่งจะไม่ได้ให้บทบาทรัฐเข้าไปควบคุมตลาด และปกป้องธุรกิจจนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดี แต่จะเป็นนโยบายที่ให้รัฐคอยเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจเมื่อเกิดสภาวะผันผวนขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงในสภาวะผันผวนของตลาดโลก

      ท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนจึงเห็นว่าหากรัฐทั้งหลายเลือกที่จะไม่สนใจต่อความไม่มั่นคงเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดขึ้นและไม่เริ่มที่จะบรรเทา ฟื้นฟู พร้อมทั้งปรับปรุง แก้ไข และปฏิรูปโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญแล้วนั้น ไม่ช้าก็เร็วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาติที่กำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็สามารถถูกลากเข้าไปในสภาวะการขาดสวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิตได้ด้วยกันทั้งสิ้น  วิกฤตโควิด-19 ทำให้โลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงก่อนที่โครงสร้าง ณ ปัจจุบันจะพังทลายลงมาและไม่สามารถที่จะแก้ไขได้อีกต่อไป โดยอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยจะเป็นตัวการสำคัญอันนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งหลายนี้ (Palan, Abbott และ Dean 1996:113)

 บทสรุปของประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

      หากมองกลับมาที่วิภาษวิธีของเฮเกลซึ่ง Fukuyama นำมาอ้างว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะเป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นยังคงดำเนินต่อไป และยังได้พบกับความขัดแย้ง (antithesis) ใหม่อันจะนำมาซึ่งบทสรุปใหม่ (synthesis) ของศตวรรษที่ 21 ภายใต้บริบทและเงื่อนไข ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานที่อันนำมาซึ่งปัญหาที่แตกต่างออกไป คำตอบของปัญหาก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนไป เพราะหากนำคำตอบเดิมไปตอบปัญหาใหม่ๆ คำตอบที่เคยถูกนั้นก็จะกลายเป็นคำตอบที่ผิด ดังนั้นในศตวรรษ 21 เมื่อโลกได้พบกับปัญหาใหม่ในเรื่องสวัสดิภาพและความมั่นคงของประชาชน ซึ่งความท้าทายนี้ถูกทำให้ชัดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งประชาคมโลกและรัฐทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องร่วมกันคิดถึงคำตอบใหม่ และสร้างบทสรุปใหม่ภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป

      ในบทความนี้ผู้เขียนเสนอให้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นบทสรุปใหม่ของศตวรรษที่ 21 ประการแรกแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ได้แสดงให้เห็นว่าตัวแนวคิดนั้นสามารถเป็นคำตอบได้อย่างดีต่อความท้าทายใหม่ในปัจจุบันเนื่องจากรัฐจำนวนมากเลือกนำเอาแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมาใช้เพื่อบรรเทาวิกฤต ประการที่สอง ลัทธิเสรีนิยมใหม่ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในปัจจุบัน แม้จะเป็นคำตอบที่ดีในปัญหาของศตวรรษที่ 20 แต่ในปัจจุบันคำตอบนั้นกลับกลายมาเป็นปัญหาของปัจจุบันเสียเอง ผู้เขียนจึงเห็นว่าแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยเหมาะที่จะเป็นคำตอบต่อปัญหานี้ ผ่านการปรับปรุง แก้ไข และปฏิรูปโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอันเป็นผลผลิตของลัทธิเสรีนิยมใหม่

      ท้ายที่สุด หากในอนาคตประชาคมโลกและรัฐยังคงดื้อรั้นและคิดว่าคำตอบเก่าๆ ของตนนั้นถูกที่สุด รัฐและปัจเจกทั้งหลายก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับผลกระทบด้านความมั่นคงอันไม่อาจหวนกลับ


Bibliography

Asia, S. (2020, May 01). A Social Democratic and Welfare State Antidote to the COVID-19 Crisis (English only). Retrieved August 30, 2020, from https://alliance-progressiste.info/2020/05/01/a-social-democratic-and-welfare-state-antidote-to-the-covid-19-crisis-english-only-2/
Bol, D., Giani, M., Blais, A., & Loewen, P. J. (2020). The effect of COVID?19 lockdowns on political support: Some good news for democracy? European Journal of Political Research. doi:doi.org/10.1111/1475-6765.12401
Bothwell, E. (2020, April 28). Could welfare state research rise from the rubble of Covid-19? Retrieved August 30, 2020, from https://www.timeshighereducation.com/news/could-welfare-state-research-rise-rubble-covid-19
Busumtwi-Sam, J. (2002). Development and Human Security: Whose Security, and from What? International Journal, 57(2), 253-272. doi:10.1177/002070200205700207
B?rner, S. (2020, June 01). Lessons from the pandemic for the conservative welfare state – Stefanie B?rner. Retrieved August 30, 2020, from https://www.socialeurope.eu/lessons-from-the-pandemic-for-the-conservative-welfare-state
COVID-19. (2020). Retrieved August 30, 2020, from https://www.gndforeurope.com/covid
Hadas, E. (2020, May 13). Breakingviews – Hadas: Welfare states will be big Covid-19 winners. Retrieved August 30, 2020, from https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-welfare-breakingvi/breakingviews-hadas-welfare-states-will-be-big-covid-19-winners-idUSKBN22P25E
Harvard Ash Center. (2020, June 13). A New Deal During COVID-19: A Million-Person Health Corps? Retrieved August 30, 2020, from https://ash.harvard.edu/event/new-deal-during-covid-19-million-person-health-corps
Hermisson, B. (2020, April 29). The social dimension of the coronavirus crisis in the USA: Heinrich B?ll Stiftung: Brussels office – European Union. Retrieved August 30, 2020, from https://eu.boell.org/en/2020/04/29/social-dimension-coronavirus-crisis-usa
Johnson, C. (2020, April 20). Coronavirus highlights the painful political truth about health inequality. Is social democracy the answer? Retrieved August 30, 2020, from https://theconversation.com/coronavirus-highlights-the-painful-political-truth-about-health-inequality-is-social-democracy-the-answer-135543
Kastning, T. (2013). Basics on Social Democracy. Friedrich Ebert Stiftung.
Larkin, M. (202o, May 14). The European Green Deal must be at the heart of the COVID-19 recovery. Retrieved August 30, 2020, from https://www.weforum.org/agenda/2020/05/the-european-green-deal-must-be-at-the-heart-of-the-covid-19-recovery/
Leuchtenburg, W. (1963). Franklin D. Roosevelt And The New Deal. New York: Harper & Row.
McLeod, J. (2020, March 25). COVID-19 and a New New Deal. Retrieved August 30, 2020, from https://www.resilience.org/stories/2020-03-25/covid-19-and-a-new-new-deal/
Menon, R. (2020, April 18). Pandemics and the State of Welfare. Retrieved August 30, 2020, from https://developingeconomics.org/2020/04/18/pandemics-and-the-state-of-welfare/
Munck, J. (2020, April 29). Three responses to the coronavirus crisis. Retrieved August 30, 2020, from https://www.opendemocracy.net/en/democraciaabierta/three-responses-coronavirus-crisis/
Palan, R., Abbott, J., & Dean, P. (1996). The Shielders’ strategy: The competitive advantage of social democracy. In State strategies in the global political economy (pp. 103-120). Pinter Pub.
Sakurai, Y. (2020). A Provisional Illustration of Welfare State in Post-Covid-19 (Unpublished master’s thesis). Yokohama National University.
Steger, M. B., & Roy, R. K. (2010). Neoliberalism: A very short introduction. Oxford: Oxford University Press.
Steinmo, S. (1988). Social Democracy vs. Socialism: Goal Adaptation in Social Democratic Sweden. Politics & Society, 16(4), 403-466. doi:10.1177/003232928801600401
Stephens, P. (2020, March 26). How coronavirus is remaking democratic politics. Retrieved August 30, 2020, from https://www.ft.com/content/0e83be62-6e98-11ea-89df-41bea055720b
Tackett, M., & Boak, J. (2020, April 25). Out of pandemic crisis, what could a new New Deal look like? Retrieved August 30, 2020, from https://apnews.com/06bc980d01efba6f1252ad042ea7d29b
UNESCO. (2020, May 13). Welfare of most vulnerable learners will be test of COVID-19 recovery. Retrieved August 30, 2020, from https://bangkok.unesco.org/content/welfare-most-vulnerable-learners-will-be-test-covid-19-recovery
ไอยะรา, ต. (2020, May 01). โลกดิจิทัล โลกนอกระบบ และโลกร้อน: สัญญาทางเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19. Retrieved August 30, 2020, from https://www.the101.world/the-new-deal-after-covid19/


ประวัติผู้เขียน

ศศิมณฑ์ วิริยากุล

กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ ภาคBMIR มหาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ: แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม ปรัชญาการเมือง การเมืองไทย การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk