อนุภูมิภาคอเมริกากลางตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศเม๊กซิโกและทางเหนือของประเทศโคลอมเบีย ตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบไปด้วย 7 ประเทศได้แก่ เบลิซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซาลวาดอร์ นิการากัว คอสตาริก้า และปานามา ภูมิประเทศโดยส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและเทือกเขาโดยมีพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขาและที่ราบต่ำตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกและตะวันตก จำนวนประชากรจากการรวบรวมของธนาคารโลกเมื่อปี 2019 จำนวน 49.03 ล้านคน[1] โดยอนุภูมิภาคนี้มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและมีประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม และอีกส่วนหนึ่งทำงานในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมและการบริการ การอพยพย้ายถิ่นโดยทั่วไปมีทั้งแบบการอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศและการอพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศ การอพยพภายในประเทศมักเกิดขึ้นจากคนจากพื้นที่ชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในอเมริกากลางการอพยพย้ายถิ่นจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นออกนอกประเทศเป็นส่วนมากซึ่งเกิดขึ้นมากตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ในขณะที่เอลซาลวาดอร์ กัวเตมาลา และนิการากัวเกิดสงครามกลางเมือง ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันการอพยพย้ายถิ่นของคนจากอนุภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลายเท่าตัว แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนแต่ประมาณการณ์จำนวนของผู้อพยพจากอเมริกากลางมีมากหลายแสนคนจนถึงหลักล้านคนต่อปี การอพยพย้ายถิ่นของคนจากอเมริกากลางไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกประเทศต้นทาง กล่าวคือคนจากกัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซาลวาดอร์ นิการากัว อพยพย้ายถิ่นออกนอกประเทศมากกว่าคนจากคอสตาริก้า ปานามาและเบลิซ โดยประเทศปลายทางคือสหรัฐอเมริกา เม๊กซิโก และคอสตาริก้า ผู้อพยพมักมีลักษณะร่วมกันหลายประการได้แก่ มีอายุน้อย ประสบภาวะยากจน ไม่มีทักษะและการศึกษาสูง ไม่มีความหวังต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และความปลอดภัยในประเทศ ผู้อพยพในปัจจุบันมีทั้งผู้หญิงและเด็ก นอกจากนี้ยังมีการอพยพที่มาเป็นครอบครัว และเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองมาด้วยมากขึ้นกว่าหลายปีก่อนที่ผู้อพยพมักเป็นผู้ชาย ผู้อพยพจากอเมริกากลางมักใช้วิธีการเดินเท้าผ่านพรมแดนธรรมชาติ เช่น ภูเขา ที่ราบในทะเลทราย และแม่น้ำ เพื่อลักลอบเข้าสู่สหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย ผู้อพยพต้องเสี่ยงชีวิตในการเดินทางจากสภาพภูมิประเทศสภาพภูมิอากาศและการหนีจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ชายแดนของสหรัฐอเมริกา
ทำไมคนถึงต้องอพยพ
ความยากจนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนจากอนุภูมิภาคนี้ต้องอพยพย้ายถิ่น จากการจัดกลุ่มประเทศตามรายได้ของกองประชากรสังกัด Department of Economic and Social Affairs ของสหประชาชาติในปี 2019 มีเพียงปานามาเท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง อีก 6 ประเทศในอเมริกากลางอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับกลางและค่อนข้างต่ำ[2] นอกจากนี้ข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าฮอนดูรัสเป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนรองจากเฮติ[3] ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาวะยากจน ในขณะที่กัวเตมาลาซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกากลางมีอัตราความยากจนสูงและมีประชากรที่ประสบภาวะขาดสารอาหารมากเป็นอันดับหนึ่งของละตินอเมริกาและแคริบเบียน และเป็นอันดับสี่ของโลก[4] จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานมีมากสวนทางกับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งส่งผลกระทบให้เกิดภาวะการว่างงานของประชากรในวัยทำงาน นอกจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตมากมาเป็นเวลานานประกอบกับการที่รัฐบาลไม่สามารถหาบริการพื้นฐานให้ประชาชนได้ ทำให้ประเทศเหล่านี้อยู่ในภาวะยากจน ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปาและไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงในหลายพื้นที่ในประเทศในอเมริกากลาง
อาชญากรรมและความรุนแรงจากอาชญากรรมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คนต้องอพยพออกนอกประเทศ อเมริกากลางตั้งอยู่ระหว่างประเทศผู้ผลิตยาเสพติดจากอเมริกาใต้และตลาดสำคัญในสหรัฐอเมริกา ทำให้เป็นเส้นทางการค้าและการลักลอบขนยาเสพติด นอกจากนี้ในเอลซาลวาดอร์และกัวเตมาลายังมีกลุ่มอาชญากรรมที่ก่ออาชญากรรม ใช้ความรุนแรง รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อข่มขู่และเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นมากอีกด้วย องค์การไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรสื่อ Insight Crime สรุปอัตราการฆาตกรรมต่อประชากรหนึ่งแสนคนในประเทศต่าง ๆในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนพบว่าในอนุภูมิภาคอเมริกากลางประเทศฮอนดูรัสมีอัตราการฆาตกรรมสูงถึง 38 คน รองลงมาคือเบลิซ 24 คน เอลซาลวาดอร์ 20 คน และกัวเตมาลา 15 คน ทำให้อเมริกากลางเป็นอนุภูมิภาคที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงอันดับต้นของโลก[5] การฆาตกรรมมาจากหลายสาเหตุตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งของกลุ่มอาชญากรรรมหลายกลุ่ม การค้าและลักลอบขนส่งยาเสพติด ไปจนถึงระบบการควมคุมและลงโทษผู้กระทำผิดที่ล้มเหลว
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนต้องอพยพออกนอกประเทศคือ การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ถูกควบคุมด้วยนักการเมืองที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศ แม้ทุกประเทศในอเมริกากลางจะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่การสรรหาผู้แทนไม่มีความโปร่งใส สื่อถูกคุกคาม การทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีผิดกฎหมายอย่าง การลักพาตัวและการลอบสังหาร นอกจากการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว การทุจริตของรัฐบาลก็เกิดขึ้นมากในหลายประเทศ รวมทั้งสถาบันทางการเมืองที่ไม่มีความชอบธรรม ดำเนินการละเมิดกฎหมายและไม่สามารถให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกับประชาชนได้เช่น กรณีคอรัปชั่นในกัวเตมาลาที่ได้รับการเปิดโปงจากคณะกรรมการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติส่งผลให้ประธานาธิบดี ฝ่ายบริหาร และนักการเมืองหลายคนต้องลาออกและถูกดำเนินคดี การฉ้อโกงเงินด้านสาธารณสุขในฮอนดูรัสจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้คนออกมาประท้วงรายสัปดาห์แต่รัฐบาลก็ยังอยู่ในอำนาจต่อไป ประธานาธิบดีของฮอนดูรัสและน้องชายถูกศาลของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกาฟ้องข้อหาลักลอบนำเข้าโคเคน ในเอลซาลวาดอร์ประธานาธิบดีใช้อำนาจเกินขอบเขตสั่งการให้ทหารและตำรวจเข้ามาในรัฐสภาเพื่อกดดันฝ่ายนิติบัญญัติเรื่องงบประมาณด้านอุปกรณ์ พาหนะและเครื่องแบบของทหารและตำรวจ
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนต้องอพยพออกนอกประเทศคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดพายุเฮอริเคนที่มีระดับความรุนแรงสูงทำให้บ้านเรือน และพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติ คนขาดรายได้และมีอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภคและส่งผลระยะยาวทางด้านเศรษฐกิจ ในปี 1998 ประเทศในอเมริกากลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอนดูรัสและนิการากัวได้รับความเสียหายอย่างหนักจาก Hurricane Mitch ที่ทำให้บ้านเรือนและเส้นทางคมนาคมเสียหาย เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มในหลายพื้นที่ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2020) Hurricane Eta และ Iota ที่มีระดับความรุนแรงสูงพัดขึ้นฝั่งในอเมริกากลางในช่วงเวลาห่างกันเพียง 2 สัปดาห์ ลมพายุที่รุนแรงและปริมาณน้ำฝนจำนวนมากสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในอนุภูมิภาคนี้จำนวนมาก นอกจากพายุเฮอริเคนแล้วภัยจากแผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากชายฝั่งตะวันตกของอเมริกากลางอยู่ในเขต Ring of Fire ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวมากประกอบกับที่อนุภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในขอบของแผ่นเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ภัยธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางคือ ภูเขาไฟระเบิด เมื่อปี 2018 ภูเขาไฟในกัวเตมาลาระเบิดส่งผลให้ลาวาไหลท่วมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงและเกิดเถ้าภูเขาไฟและควันหนาปกคลุมหลายพื้นที่ นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้หลายพื้นที่ในเอลซาลวาดอร์ ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และนิการากัวประสบภัยแล้งทำให้ไม่สามารถใช้ปลูกข้าวโพดและถั่วซึ่งเป็นอาหารหลักเพื่อบริโภคและจำหน่ายได้ บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมหนักเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ในเขตเมืองหลวงของกัวเตมาลาที่เป็นชุมชนที่คนอาศัยหนาแน่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และไร้ที่อยู่จำนวนมาก
ผลกระทบจากการอพยพ
ผลจากการอพยพที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งคือรายได้ที่ส่งมาจากนอกประเทศให้คนในประเทศ ข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2019 พบว่า รายได้จากการทำงานนอกประเทศและส่งกลับไปยังประเทศภูมิลำเนาคิดเป็น 21.5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในฮอนดูรัส และ 20.9 % ของ GDP ในเอลซาลวาดอร์[6] รายได้เหล่านี้เป็นรายได้สำคัญที่คนในครอบครัวของผู้อพยพที่อยู่ในประเทศภูมิลำเนาใช้ในการใช้จ่ายเรื่องที่พักอาศัย อาหาร และยา รวมถึงการเข้าถึงสินค้าและบริการพื้นฐานในประเทศ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้อพยพที่เข้าไปอาศัยและทำงานในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายส่งเงินกลับไปประเทศภูมิลำเนาเพื่อเป็นเงินออมและแผนสำรองด้านการเงินหากถูกส่งตัวกลับอีกด้วย โดยเงินที่ผู้อพยพส่งมาจากนอกประเทศให้คนครอบครัวในกัวเตมาลาและเอลซาลวาดอร์ 90% และฮอนดูรัส 85% มาจากผู้อพยพที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา[7]
คนจากอเมริกากลางส่วนใหญ่ที่อพยพเป็นคนในวัยแรงงาน ดังนั้นในด้านประชากรศาสตร์จะเกิดผลกระทบเรื่องการที่ประชากรในภาวะพึ่งพิงได้แก่ เด็กและเยาวชนก่อนวัยทำงาน และผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นในอเมริกากลางไม่สมดุลกับประชากรในวัยแรงงาน ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมคือการพัฒนาด้านการศึกษาที่ไม่ได้รับการสนุบสนุน เนื่องจากผู้อพยพจากอเมริกากลางถึงแม้จะได้รับการศึกษาจากประเทศภูมิลำเนา แต่เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกามักทำงานที่ใช้แรงงานและเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าหลายอาชีพที่ใช้ทักษะสูงในประเทศของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุจูงใจในการพัฒนาการศึกษาในประเทศภูมิลำเนา[8]
การจัดการของประเทศต้นทางของผู้อพยพ
การอพยพย้ายถิ่นของคนจากอนุภูมิภาคอเมริกากลางมักเดินทางขึ้นมาทางเหนือของประเทศตัวเองผ่านทางพรมแดนทางธรรมชาติจากเม๊กซิโกเข้าสู่สหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลของประเทศในอเมริกากลางเองพยายามใช้วิธีการต่าง ๆ ในการลดการอพยพย้ายถิ่นเช่น การแก้ปัญหาอาชญากรรมในประเทศด้วยการเจรจาระหว่างรัฐบาลเอลซาลวาดอร์กับกลุ่มอาชญากรรม รัฐบาลฮอนดูรัสและรัฐบาลกัวเตมาลาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างชาติรวมถึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อส่งอาหารและสิ่งของบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนจากพายุเฮอริเคน รัฐบาลกัวเตมาลาส่งทหารสกัดกั้นการเดินทางของผู้อพยพจากฮอนดูรัสที่ต้องเดินเท้าผ่านกัวเตมาลาเข้าสู่เม๊กซิโกเพื่อจุดหมายปลายทางคือสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
วิธีการที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการต่อการอพยพจากอเมริกากลาง
ภาพรวมของมาตรการต่าง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการดำเนินการต่อการอพยพจากอนุภูมิภาคอเมริกากลางแบบออกเป็น 3 แนวทางกว้าง ๆ ได้แก่ 1. การให้ความช่วยเหลือกับประเทศในอนุภูมิภาค 2. การจัดการชายแดนและการจัดระเบียบผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย 3. การจัดการต่อผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว
แนวทางแรกเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาผู้อพยพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือพิเศษเช่นการให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุเฮอริเคนและภูเขาไฟระเบิด และผลกระทบข้างเคียงจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ในระยะยาวเป็นความช่วยเหลือที่มุ่งให้ประเทศในอเมริกากลางมีสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น ในระดับที่ประชากรในประเทศสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยความปลอดภัยและพ้นจากสภาวะความยากจน สหรัฐอเมริกาอนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2016-2021 ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในอนุภูมิภาคอเมริกากลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอลซาลวาดอร์ กัวเตมาลาและฮอนดูรัส[9] โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณนี้ในการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและด้านเทคนิคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงจากกลุ่มอาชญากรรม การลักลอบขนส่งยาเสพติด และการปรับปรุงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ในรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน แต่งตั้งให้รองประธานาธิบดีแฮร์ริส เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดการเรื่องผู้อพยพจากอเมริกากลาง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมารองประธานาธิบดีแฮร์ริส ประกาศความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในอเมริกากลางที่มีจุดมุ่งหมายระยะสั้นในการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนและเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ การพัฒนาการเงินและการทำธุรกิจดิจิทัล ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร การปรับเปลี่ยนและบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาการศึกษาและแรงงาน และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข[10]
แนวทางที่สองคือการจัดการชายแดนและการจัดระเบียบผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ปลายปี 2018 สหรัฐอเมริกาประกาศระเบียบ Migrant Protection Protocols ซึ่งให้ผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายผ่านชายแดนทางภาคพื้นดินจากเม๊กซิโกกลับไปเม๊กซิโกเพื่อรอดำเนินการเข้าประเทศให้ถูกต้องตามกฎหมาย[11] สหรัฐอเมริกาประกาศใช้ระเบียบนี้เพื่อจัดการกับการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของผู้อพยพจากเม๊กซิโกและอเมริกากลางที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกระเบียบนี้ การจัดการกับผู้อพยพจากอเมริกากลางที่คล้ายคลึงกันคือข้อตกลง Asylum Cooperative Agreements หรืออีกชื่อหนึ่งที่ใช้อย่างไม่เป็นทางการคือ Safe Third Countries Agreements ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐอเมริกาเจรจาความร่วมมือกับกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซาลวาดอร์ในการลดจำนวนผู้ขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา และจัดการปัญหาและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อพยพที่พยายามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย[12] ในข้อตกลงนี้ให้อำนาจหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาส่งคนที่เดินทางเข้ามาทางชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม๊กซิโกออกไปยังประเทศที่สามในสามประเทศนี้เพื่อทำเรื่องเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเหล่านี้อย่างยุติธรรม โดยปราศจากการคุกคามเรื่องเชื้อชาติสัญชาติการเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและความคิดเห็นทางการเมือง ข้อตกลงนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพื้นฐานเรื่องผู้อพยพและประเทศต้นทางและประเทศที่จะดำเนินการเรื่องการเป็นผู้ลี้ภัย กล่าวคือผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากอนุภูมิภาคเดียวกันและต้องการอพยพจากปัญหาพื้นฐานที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยมีเป้าหมายคือการได้มาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ข้อตกลงนี้ให้ผู้อพยพเหล่านั้นขอเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศที่สามที่มีปัญหาพื้นฐานเหมือนกัน ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อตกลงนี้ถูกระงับไปตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2020 และเมื่อสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ต้นปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้เริ่มการพิจารณาการยกเลิกข้อตกลงนี้
การจัดการชายแดนทางกายภาพคือการมีแนวกั้นระหว่างพรมแดนของสหรัฐอเมริกาและเม๊กซิโก ในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีการสร้างแนวกั้นแนวชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม๊กซิโกใหม่จากที่ไม่เคยมีแนวกั้นมาก่อน 80 ไมล์ (129 กิโลเมตร) และปรับปรุงต่อเติมแนวกั้นเดิมที่เคยมีอยู่รวม 453 ไมล์ (729 กิโลเมตร)[13] ข้อมูลจากหน่วยงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริการะบุว่าชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม๊กซิโกยาว 1,933 ไมล์ (3,111 กิโลเมตร)[14] แนวกั้นสามารถลดจำนวนผู้ลักลอบเข้าสหรัฐอเมริกาจากการเดินทางทางภาคพื้นได้จำนวนหนึ่ง แต่ผู้ที่ต้องการลักลอบเข้าประเทศรวมทั้งผู้ที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายยังคงหาช่องทางในการเข้าประเทศต่อไป รัฐบาลปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการสร้างแนวกั้นเพิ่ม แต่จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นในการจัดการพื้นที่ชายแดน
แนวทางที่สามคือการจัดการต่อผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว การให้สถานะคุ้มครองชั่วคราว (Temporary Protected Status) แก่ผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้วเพื่ออนุญาตให้ผู้อพยพได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศในขณะที่ประเทศภูมิลำเนายังไม่ปลอดภัย ผู้สนับสนุนกฎนี้เห็นว่าผลดีของกฎนี้คือ ผู้อพยพจะสามารถทำงานและส่งเงินกลับไปช่วยเหลือครอบครัวในประเทศของตัวเองได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศของผู้อพยพดีขึ้น ส่งผลในระยะยาวในการลดการอพยพย้ายถิ่น ผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎนี้เห็นว่าการให้สถานะคุ้มครองชั่วคราวจะเป็นแรงจูงใจให้คนจากประเทศที่ได้รับสถานะนี้เดินทางเข้ามาประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น
Deferred Action for Childhood Arrivals (DACA) program เป็นมาตรการที่สหรัฐอเมริกาใช้ให้ผู้อพยพที่ถูกพาเข้ามาสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ยังเป็นเด็กได้รับสิทธิคุ้มกันการถูกส่งกลับประเทศและอนุญาตให้อาศัยเรียนและทำงานชั่วคราวในสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2020 พบว่าผู้อพยพจากเม๊กซิโกได้รับสิทธิจาก DACA จำนวนมากที่สุด รองลงมาคือผู้อพยพจากเอลซาลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัสตามลำดับ[15] มาตรการนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นหนทางที่จะทำให้ผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2001 รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาถกเถียงและอภิปรายความเป็นไปได้ในการออกกฎหมาย Development, Relief, and Education for Alien Minors (DREAM) Act เพื่อให้ผู้อพยพที่ถูกพาเข้ามาสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นเด็กได้รับการศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา และไม่เคยก่ออาชญากรรมได้มีสิทธิดำเนินการตามเงื่อนไขและขั้นตอนในการได้รับสัญชาติอเมริกันและเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา จนถึงปัจจุบัน DREAM Act อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา
[1] The World Bank, “Population, total – Costa Rica, Honduras, El Salvador, Guatemala, Belize, Nicaragua, Panama,” available at https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?end=2019&locations=CR-HN-SV-GT-BZ-NI-PA&name_desc=false&start=1960&view=chart.
[2] The World Bank, “World Population Prospect 2019,” available at https://population.un.org/wpp/Publications/Files/WPP2019_Volume-I_Comprehensive-Tables.pdf.
[3] The World Bank, “Overview: Honduras,” May 28, 2021, available at https://www.worldbank.org/en/country/honduras/overview.
[4] The World Bank, “Overview: Guatemala,” May 31, 2021, available at https://www.worldbank.org/en/country/guatemala/overview.
[5] Parker Asmann and Katie Jones, “InSight Crime’s 2020 Homicide Round-Up,” Insight Crime, January 29, 2021, https://insightcrime.org/news/analysis/2020-homicide-round-up/.
[6] The World Bank, “Personal remittances, received (% of GDP) – Guatemala, Honduras, Nicaragua, El Salvador,” available at https://data.worldbank.org/indicator/BX.TRF.PWKR.DT.GD.ZS?locations=GT-HN-NI-SV&name_desc=false.
[7] Matthew Higgins and Thomas Klitgaard, “Has the Pandemic Reduced U.S. Remittances Going to Latin America?,” Federal Reserve Bank of New York Liberty Street Economics, November 9, 2020, available at https://libertystreeteconomics.newyorkfed.org/2020/11/has-the-pandemic-reduced-us-remittances-going-to-latin-america.html.
[8] Sajitha Bashir, T. H. Gindling and Ana Maria Oviedo, “Better Jobs in Central America: The Role of Human Capital,” Document of the World Bank, May 2012, available at https://www.worldbank.org/content/dam/Worldbank/document/Better%20Jobs%20in%20Central%20America.pdf.
[9] Peter J. Meyer, “U.S. Strategy for Engagement in Central America: An Overview,” Congressional Research Service, February 16, 2021, available at https://fas.org/sgp/crs/row/IF10371.pdf.
[10] The White House, “FACT SHEET: Vice President Harris Launches a Call to Action to the Private Sector to Deepen Investment in the Northern Triangle,” Briefing Room, May 27, 2021, available at https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/05/27/fact-sheet-vice-president-harris-launches-a-call-to-action-to-the-private-sector-to-deepen-investment-in-the-northern-triangle/.
[11] U.S. Department of Homeland Security, “Migrant Protection Protocols,” January 24, 2019, available at https://www.dhs.gov/news/2019/01/24/migrant-protection-protocols.
[12] U.S. Department of Homeland Security, “Fact Sheet: DHS Agreements with Guatemala, Honduras, and El Salvador,” available at https://www.dhs.gov/sites/default/files/publications/19_1028_opa_factsheet-northern-central-america-agreements_v2.pdf.
[13] Mimi Dwyer, “Explainer: Why is Trump visiting the border wall in the last days of his presidency?,” Reuters, January 12, 2021, available at https://www.reuters.com/article/us-usa-immigration-wall-explainer/explainer-why-is-trump-visiting-the-border-wall-in-the-last-days-of-his-presidency-idUSKBN29H19S.
[14] Janice Cheryl Beaver, “U.S. International Borders: Brief Facts,” CRS Report for Congress, November 9, 2006, available at https://fas.org/sgp/crs/misc/RS21729.pdf.
[15] U.S. Citizenship and Immigration Services, “Approximate Active DACA Recipients: As of June 30, 2020,” available at https://www.uscis.gov/sites/default/files/document/reports/DACA_Population_Receipts_since_Injunction_Jun_30_2020.pdf.
ประวัติผู้เขียน
อ.สิเรมอร อัศวพรหมธาดา
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : การเมืองและนโยบายต่างประเทศของรัฐในลาตินอเมริกา, การรวมกลุ่มระดับภูมิภาค (Regional integration) ของลาตินอเมริกา, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับลาตินอเมริกา
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม https://djrctu.com/