นหลายปีที่ผ่านมานั้น มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้เพิ่มความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratic disaffection) และเพิ่มความขัดแย้งทางทางสังคมในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองบางท่าน เช่น Andrew Cumbers และ Robert McMaster จาก University of Glasgow, UK ที่ได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยนักวิชาการเหล่านี้มองว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบทางลบจากระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และอาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่เศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และโอกาสในชีวิตของประชาชน
บทความสั้น ๆ ชิ้นนี้นำเสนอแนวคิดและหลักการสำคัญของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงจากงานของ Andrew Cumbers เป็นหลัก โดยย่อ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคลในการมีส่วนร่วมกำหนดและควบคุมการใช้แรงงานของตน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ (ทั้งในที่ทำงานและนอกไปจากที่ทำงาน) นอกจากนั้น Cumbers ได้เสนอว่าการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับที่ลึกขึ้น เพราะเป็นการท้าทายอำนาจของชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและการเมือง ช่วยเสริมอำนาจ (empower) ทางเศรษฐกิจให้แก่ปัจเจกบุคคลและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางสังคม
ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีเสาหลักสามประการ ดังนี้:
1) สิทธิทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล (individual economic rights)
แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของ Cumbers นั้นไม่ได้มีรากฐานมาจากการวิเคราะห์เชิงชนชั้นแบบมาร์กซิสท์ดั้งเดิม ที่เน้นว่าคนงานควรจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หากแต่เริ่มต้นมาจากการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคลในการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจาก the capabilities approach ของ Amartya Sen และ Martha Nussbaum นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Robert Dahl เรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลในการควบคุมแรงงานของตน (individual rights to self-government of labour) และงานเขียนแนวเฟมินิสท์ (feminist) เกี่ยวกับความสำคัญของแรงงานในครัวเรือนและการผลิตซ้ำของครัวเรือน (social reproduction)
Cumbers อ้างอิงแนวคิดของ Sen และเสนอว่า ปัจเจกบุคคลจะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจเมื่อมีทุน/ปัจจัย ความสามารถ และศักยภาพ (resources, competence, capability) เพียงพอที่จะสามารถพัฒนาตนเองและเลือกทางเดินในชีวิตที่มีคุณค่าได้ แต่ในขณะเดียวกัน ปัจเจกบุคคลก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการให้เสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคลในการใช้สิทธิทางเศรษฐกิจของตนนั้นก็ควรมีข้อจำกัด โดย Cumbers ชี้ให้เห็นว่า‘เสรีภาพ’ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบันนั้น ได้นำไปสู่การสะสมทรัพย์สิน ทรัพยากร และความมั่งคั่งแบบกระจุกตัวในลักษณะที่คนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมเช่นนี้จะกลับกลายมาบ่อนทำลายศักยภาพ (capabilities) และโอกาสทางเศรษฐกิจของคนส่วนมาก
2) การเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท/องค์กรทางเศรษฐกิจที่มีแนวทางประชาธิปไตยในหลาย ๆ รูปแบบ (diverse forms of democratic collective ownership of companies)
เสาที่สองของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคือการสนับสนุนบริษัทหรือองค์กรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ (เช่น สหกรณ์ และบริษัทที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของ) ที่ลูกจ้างเป็นเจ้าของร่วม (collective ownership) ในลักษณะต่าง ๆ กัน และมีแนวทางการดำเนินงานแบบประชาธิปไตยในลักษณะที่จะช่วยให้แรงงานหรือลูกจ้างนั้นมีสิทธิมีเสียงในการร่วมกำหนดและควบคุมการทำงาน/แรงงานของตนในบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ โดย Cumbers ชี้ให้เห็นว่าการเป็นเจ้าของกิจการทางเศรษฐกิจโดยรัฐนั้น ไม่ได้หมายความว่าประชาชน/ปัจเจกบุคคลจะสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารหรือการตัดสินใจอื่น ๆ เพราะการบริหารอาจจะขึ้นอยู่กับข้าราชการหรือผู้บริหารเพียงไม่กี่คนที่อาจจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม นอกจากนั้น การให้คนงาน/ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของบริษัทอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่เพียงพอ แต่ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและการบริการของบริษัทหล่านั้น สามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทด้วย (ยกตัวอย่างเช่น บริษัทสาธารณูปโภคด้านการไฟฟ้าหรือการประปา)
3) การมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ (public participation in economic decision-making)
ปัญหาหนึ่งในปัจจุบันที่ Cumbers ได้ชี้ให้เห็นคือ การที่เจ้าของปัจจัยการผลิต (ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม) มีอำนาจในการกำหนดว่าจะใช้ผลกำไรที่ได้นั้นอย่างไร เช่น จะใช้เพื่อการลงทุนหรือไม่และลงทุนในลักษณะไหน ซึ่งการตัดสินใจของผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แต่รัฐบาลมักจะสามารถทำได้แค่สร้างแรงจูงใจหรือแรงผลักดันเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งสุดท้ายแล้วการลงทุนมักจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนบางกลุ่มมากกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของสังคมโดยรวม
เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ได้กล่าวมา เสาที่สามของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคือการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นและกว้างขึ้นกว่าในระดับบริษัท/องค์กรของตน เช่น การสนับสนุน participatory budgeting หรือการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณ(เช่นในระดับท้องถิ่น) เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับเศรษฐกิจมหภาคนั้น จะเป็นไปไม่ได้ถ้าขาดปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ที่สนับสนุนความหลากหลายในสังคมและให้พื้นที่กับความเห็นที่แตกต่าง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ในสังคมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
ในบทความตอนที่ 2 (ตอนจบ) ผู้เขียนจะกล่าวถึงนโยบายและสถาบันที่สนับสนุนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ตัวอย่างจากประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
แหล่งอ้างอิง
- Cumbers, A. (2016) ‘Economic democracy: Reclaiming public ownership as the pragmatic left alternative’, Juncture, 22(4), pp. 324-328. doi: 10.1111/j.2050-5876.2016.00882.x.
- Cumbers, A. (2019) ‘Economic democracy: why handing power back to the people will fix our broken system’, The Conversation, 6 December. Available at: https://theconversation.com/economic-democracy-why-handing-power-back-to-the-people-will-fix-our-broken-system-126122.
- Cumbers, A. et al. (2020) ‘Reconfiguring Economic Democracy: Generating New Forms of Collective Agency, Individual Economic Freedom and Public Participation’, Work, Employment and Society, 34(4), pp. 678-695. doi: 10.1177/0950017019875935.
- Cumbers, A. (2020) The Case for Economic Democracy. Cambridge: Polity Press.
ประวัติผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ:เศรษฐศาสตร์การเมือง และ เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะด้านการพัฒนา), ภาคประชาสังคมข้ามชาติ (ด้านสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมทางสังคม), การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศ เศรษฐกิจสีเขียว และ ระบบเกษตรกรรม-อาหาร, กระแสการเมืองก้าวหน้าในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk