ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ/Economic Democracy (ตอนที่ 2): นโยบายและแนวปฏิบัติ

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนอธิบายความหมายและแนะนำหลักการสำคัญ ๆ ของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจโดยอ้างอิงจากงานของ Andrew Cumbers เป็นหลัก โดยเสาหลักสามประการของประชาธิปไตยเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันคือ 1) สิทธิทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล (individual economic rights) 2) การเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท/องค์กรทางเศรษฐกิจที่มีแนวทางประชาธิปไตยในหลาย ๆ รูปแบบ (diverse forms of democratic collective ownership of companies) และ 3) การมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น (greater public participation in economic decision-making) (Cumbers, 2019) ส่วนในบทความตอนจบชิ้นนี้ จะยกตัวอย่างนโยบายที่สนับสนุนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่สำคัญและให้ตัวอย่างแนวปฏิบัติจากประเทศต่าง ๆ

นโยบายที่สนับสนุนสิทธิทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล (individual economic rights)

สาแรกของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคลในการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน โดยนโยบายที่มีการถกเถียงกันมากในแวดวงนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าว่าอาจจะช่วยเสริมสร้างเสรีภาพทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้ คือนโยบายที่จะให้ Universal Basic Income (UBI) หรือรายได้พื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน (ที่อายุถึงขั้น) โดยไม่มีการทดสอบที่ยุ่งยากและไม่จำกัดว่าจะมีรายได้ ทรัพย์สิน หรือสถานะการจ้างงานอย่างไร ซึ่งมีข้อเสนอเกี่ยวกับUBIหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้เสนอมักจะเห็นตรงกันว่ารายได้พื้นฐานนั้นควรช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของปัจจัยสี่ได้อย่างครบถ้วน 

Erik Olin Wright และ Andrew Cumbers ได้เสนอเหตุผลหลายประการเพื่อสนับสนุน UBI สรุปโดยย่อคือ นอกจากจะเป็นการขจัดความยากจนแล้ว การให้รายได้พื้นฐานผ่าน UBI ทำให้ประชาชนมีทางเลือกและมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เพราะสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานหรือไม่และทำงานอะไร โดยไม่จำเป็นต้องทนทำงานในบางงานที่อาจจะมีสภาพเลวร้ายเพียงเพื่อหารายได้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าตอบแทนของงานหรืออาชีพที่น่าเบื่อ เสี่ยงอันตราย หรือไม่น่าพึงประสงค์นั้นสูงขึ้นอีกด้วยเพื่อดึงดูดให้มีคนทำงานนั้น ๆ และอาจจะกระตุ้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้มาแทนที่งานที่คนอาจจะไม่อยากทำ นอกจากนั้น ถ้าประชาชนทุกคนมี UBI บางคนอาจจะเลือกทำงานที่ให้ประโยชน์ต่อสังคมแต่ไม่ได้รายได้ (unpaid work) ไม่ว่าจะเป็นงานในครัวเรือน (เช่น การดูแลสมาชิกในครอบครัว) การร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน กิจกรรมเพื่อส่วนรวมอื่น ๆ หรือสร้างโครงการใหม่ ๆ ขึ้นมาที่มีประโยชน์แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจ เช่น การตั้งกลุ่มดูแลสวัสดิการคนในหมู่บ้าน การปลูกผักไร้สารพิษให้คนในชุมชน การจัดประชุมหรือสัมมนาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมในท้องถิ่น เป็นต้น

UBI ได้รับคำวิจารณ์ในหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าถ้ามี UBI แล้วจะมีแรงจูงใจอะไรให้คนทำงาน แต่หลักฐานจากประเทศกลุ่มนอร์ดิคที่มีการให้สิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมในระดับค่อนข้างสูงนั้น แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำงานและการจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น หรือทางเลือกอื่นนอกไปจาก UBI คือการสนับสนุน ‘participation income’ ตามแนวคิดของ Tony Atkinson ซึ่งเสนอว่าผู้ที่ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานนั้นควรจะทำประโยชน์แก่สังคม (social contribution) อะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ใช่การทำงานแบบได้รายได้ เช่น การดูแลสมาชิกในครอบครัว การศึกษาหรือฝึกทักษะของตนเอง นอกจากนั้น UBI อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ โดย Cumbers ได้เสนอว่าควรมีกฎหมายและวิธีการอื่น ๆ เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วย เช่นนโยบายรายได้ขั้นต่ำและการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าในระดับที่สูงกว่าปัจจุบัน หรือกำหนดเงินเดือนขั้นสูง (maximum wage) เป็นต้น

ตัวอย่างการเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท/องค์กรทางเศรษฐกิจที่มีแนวทางประชาธิปไตยในหลาย ๆ รูปแบบ (diverse forms of democratic collective ownership of companies)

เสาที่สอง ของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือการสนับสนุนบริษัทหรือองค์กรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ (เช่น สหกรณ์ และบริษัทที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของ)ที่ลูกจ้างเป็นเจ้าของร่วม (collective ownership) ในลักษณะต่าง ๆ กัน และมีแนวทางการดำเนินงานในลักษณะประชาธิปไตย ที่ช่วยให้แรงงานหรือลูกจ้างนั้นมีสิทธิมีเสียงในการร่วมกำหนดและควบคุมการทำงาน/แรงงานของตนในบริษัทหรือองค์กรนั้น ๆ โดยตัวอย่างสำคัญขององค์กรทางเศรษฐกิจที่ให้ลูกจ้างเป็นเจ้าของร่วมและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างเป็นประชาธิปไตย คือเครือข่ายสหกรณ์มอนดรากอนในแคว้นบาสก์ (Basque Region) ในสเปน ซึ่งเป็นเครือข่ายสหกรณ์เก่าแก่ที่คนงานเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นในสหกรณ์ และสามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่ได้) มีการกำหนดเงินเดือนสูงสุดและต่ำสุดของคนที่ทำงานในสหกรณ์ไม่ให้ต่างกันมากจนเกินไป มีการตั้งสหกรณ์/บริษัทเพื่อการผลิตสินค้าและการบริการหลายแบบ (ซึ่งรวมทั้งสินค้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรม สินค้าเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายร้านค้า ธนาคาร การประกัน มหาวิทยาลัยและการวิจัย เป็นต้น) และยังมีกิจการข้ามชาติอีกด้วย

นอกจากนั้น ในปัจจุบันมีเมืองและเทศบาลท้องถิ่นในหลาย ๆ ประเทศที่พยายามนำการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นด้านการประปา พลังงาน การคมนาคม และอื่น ๆ กลับมาแป็นของสาธารณะและของคนในท้องถิ่น (remunicipalization) โดยจัดตั้งบริษัทที่เทศบาลหรือรัฐท้องถิ่นเป็นเจ้าของและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในหลายรูปแบบ เช่นในเมือง Wolfhagen ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในประเทศเยอรมนี มีการยึดเครือข่ายไฟฟ้ากลับมาจากบริษัทใหญ่ชื่อ Eon ในปี 2006 และแทนที่ด้วยบริษัทที่สหกรณ์ของคนท้องถิ่น (local community cooperative) เป็นเจ้าของหุ้น 25% ซึ่งในปัจจุบันบริษัทนี้ได้ขยายตัวและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกแบบ100% โดยเน้นพัฒนาพลังงานลม (wind turbines) และพลังงานจากแสงอาทิตย์ (solar cells) และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โรงเรียนอนุบาลในท้องถิ่นอีกด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ The Mittelgrunden complex ซึ่งเป็นฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งของเมืองโคเปนเฮเกนในประเทศเดนมาร์กที่ตั้งขึ้นในปี 2001 ซึ่งหุ้น 50% เป็นของบริษัทท้องถิ่นชื่อ Copenhagen Energy ที่มีเจ้าของคือสภาเทศบาลเมือง (city council) ส่วนหุ้นอีก 50% เป็นของสหกรณ์ซึ่งตั้งขึ้นโดยสภาเทศบาลเมืองและประชาชนในเมือง ซึ่งมีสิทธิซื้อหุ้นของสหกรณ์ได้ (อ้างอิงข้อมูลและตัวเลขจาก Cumbers 2020, 87-88)

นโยบายสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ (public participation in economic decision-making)

เสาที่สาม ของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นและกว้างขึ้นกว่าในระดับบริษัทหรือองค์กรของตน เช่น จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่Royal Society for the Arts (RSA) ในประเทศอังกฤษเคยสร้างโครงการ ‘สภาเศรษฐกิจประชาชน’ หรือ ‘Citizen’s Economic Council’ ที่นำประชาชน (โดยเฉพาะจากย่านที่ค่อนข้างยากจน) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจและตัวเลือกทางนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งข้อเสนอสำคัญอย่างหนึ่งของสภาเศรษฐกิจประชาชนคือการขอให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเศรษฐกิจนั้นพยายามสื่อสารกับประชาชนโดยใช้ศัพท์ทางเทคนิคให้น้อยลง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจประเด็นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากนโยบายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการประชาชนที่จะช่วยให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจทางเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England) ชื่อ Andrew Haldane ก็เคยจัดโครงการรับฟังเสียงประชาชนตามเมืองต่าง ๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณ หรือที่เรียกว่า ‘participatory budgeting’ (PB) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองปอร์ตู อาเลเกร (Porto Alegre) ที่ประเทศบราซิล โดยมีการให้ประชาชนในย่านต่าง ๆ ของเมืองลงคะแนนเสียงว่าควรให้ความสำคัญแก่ประเด็นไหนมากที่สุดในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาเมือง ซึ่งผลที่ได้จากการลงคะแนนเสียงนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการวางแผนระดับเมือง ซึ่งมีงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า PB มีส่วนสำคัญในการช่วยปรับปรุงเมือง เช่น มีส่วนกระตุ้นให้มีการปรับปรุงระบบประปา บริการด้านสาธารณสุข โรงเรียน และระบบคมนาคมขนส่ง ทำให้แนวปฏิบัติแบบ PB นี้ได้ถูกนำไปใช้ทั่วประเทศบราซิลในอีก 120 เมือง และยังมีการนำไปใช้ในประเทศอื่นด้วย นอกจากนั้น PBในบราซิลช่วยลดการคอร์รัปชั่นเพราะมีความโปร่งใสในการบริหารและใช้จ่ายงบมากขึ้น และมีงานศึกษาที่พบว่างบประมาณถูกนำไปใช้ในด้านสุขภาพแลการศึกษาในย่านที่ค่อนข้างยากจนในเมืองมากขึ้นอีกด้วย (อ้างอิงข้อมูลและตัวเลขจาก Cumbers 2020, 97-98)

บทสรุป

บทความชิ้นนี้ (ทั้งตอน1และ2) นำเสนอแนวคิดด้านประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแบบเบื้องต้นและอ้างอิงแนวคิดของAndrew Cumbers เป็นหลัก แต่เป็นที่แน่นอนว่ามีนักวิชาการท่านอื่น ๆ ที่อาจจะให้คำนิยามและความหมายของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไป นอกจากนั้น ยังมีนโยบายที่ช่วยสนับสนุนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้

ผู้อ่านในประเทศไทยอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจหลังอ่านบทความนี้จบว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสนใจเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในตอนนี้ ในเมื่อประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานในประเทศยังไม่สามารถพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์? แต่สำหรับผู้เขียนนั้น ไม่มีคำว่า ‘เร็วเกินไป’ สำหรับการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่จะสนับสนุนการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนั้น อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองและทางเศรษฐกิจมีลักษณะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อย่างที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่าการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับที่ลึกขึ้น เพราะเป็นการท้าทายอำนาจของชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนั้นยังช่วยเสริม (empower) อำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่ปัจเจกบุคคล และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางสังคมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับเศรษฐกิจมหภาคนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้หากขาดวัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) และแนวปฏิบัติแบบประชาธิปไตย หรือขาดปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ที่สนับสนุนความหลากหลายในสังคมและให้พื้นที่กับความเห็นที่แตกต่าง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ในสังคมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ


แหล่งอ้างอิง

  • Cumbers, A. (2019). ‘Economic democracy: why handing power back to the people will fix our broken system’, The Conversation, 6 December. Available at: https://theconversation.com/economic-democracy-why-handing-power-back-to-the-people-will-fix-our-broken-system-126122.
  • Cumbers, A. (2020). The Case for Economic Democracy. Cambridge: Polity Press.

ประวัติผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล 
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ:เศรษฐศาสตร์การเมือง และ เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะด้านการพัฒนา), ภาคประชาสังคมข้ามชาติ (ด้านสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมทางสังคม), การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศ เศรษฐกิจสีเขียว และ ระบบเกษตรกรรม-อาหาร, กระแสการเมืองก้าวหน้าในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk