ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญ อันเนื่องจากการตื่นตัวและเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในนามของ “ราษฎร” และความรุนแรงที่ก่อร่างขึ้นจากความพยายามกดปราบของรัฐบาล ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย’ ในวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปฏิบัติการไร้ความรุนแรงและการ “ถอดสลัก” ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีวิทยาการทั้งที่เป็นนักกิจกรรม ผู้มีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหว ได้แก่ สมบัติ บุญงามอนงค์ จากมูลนิธิกระจกเงา, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ จากวงสามัญชน, สิรภพ อัตโตหิ จากกลุ่มเสรีเทยพลัส และภัทรพงษ์ น้อยผาง จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ได้แก่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ
เนื่องจากเนื้อหาจากการเสวนามีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าใจความขัดแย้ง นำเสนอมุมมองและประสบการณ์ของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการที่มีต่อความขัดแย้งและปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รวมทั้งข้อเสนอต่อขบวนการเคลื่อนไหว รัฐ และสังคมโดยรวม ที่อยู่บนฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม จึงได้เรียบเรียงเนื้อหาที่สำคัญบางส่วนนำเสนอต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้
1. ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ความหมาย และภาคปฏิบัติการ
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าต่อความเข้าใจ “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ประสบการณ์ภาคปฏิบัติและความท้าทายของวิทยากรแต่ละท่าน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ (รสช.) ปี 2535 และการรัฐประหารในปี 2549 เน้นว่า “ในสังคมทั่วไปผู้คนไม่ได้ใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ” ดังนั้น โจทย์ในการคิดเรื่องการต่อสู้ของเขา คือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราสื่อสารมีประสิทธิภาพและได้รับความสนใจ รวมทั้งลดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรง จึงเป็นที่มาของการเลือกใช้วิธีการไร้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว ด้วยปูมหลังของตนเองที่ทำละครเวทีมาก่อน เมื่อต้องมาออกแบบการเคลื่อนไหวจึงมีเครื่องมือและทำได้อย่างยืดหยุ่นและมีสีสันมากกว่า เสียดสีกึ่งเล่นกึ่งจริง โดยใช้ศิลปะผสมเพื่อสร้างความสนใจและสื่อสารทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม การทำกิจกรรมของเขามักถูกวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมในทุ่งลาเวนเดอร์ โรแมนติก เป็นการแสดงออกของคนโลกสวยเท่านั้น แต่ไม่มีประสิทธิผลหรือส่งผลสะเทือนทางการเมือง จนหลัง 19 พฤษภาคม 2553 ที่คนเสื้อแดงโดยปราบปรามอย่างหนัก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ถูกดำเนินคดี ต้องหลบหนีลี้ภัย จนต้องยุติการเคลื่อนไหว ภายใต้บรรยากาศที่ตึงเครียดนี้ เขานำสันติวิธีมาใช้อีกครั้งโดยไปผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ แม้กิจกรรมนี้จะดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ในมุมมองของเขา ด้วยความ “ถูกที่ถูกเวลา” ประกอบกับการตอบสนองของรัฐที่ห้ามการผูกผ้า อีกทั้งยังถอดป้ายแยก ”ราชประสงค์” ออกไป ทำให้มีผลสะเทือนอย่างมาก เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาควบคุมตัวเขา ทำให้คนเริ่มกลับมาสนใจและกล้าแสดงออกอีกครั้ง เขายังได้นำเสนอแนวคิด “แกนนอน” เพื่อคนอื่นเข้ามาร่วมปฏิบัติการด้วยและสุดท้ายแล้วกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงและมีคนเข้าร่วมมากขึ้น
สำหรับสิรภพ อัตโตหิ หรือ “แรพเตอร์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ สาขาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกลุ่มเสรีเทยพลัสที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเพศ เริ่มจัดกิจกรรมแรก คือ “ม็อบตุ้งติ้ง” ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของกลุ่ม LGBT นอกจากปราศรัยเรื่องเพศสภาพและประชาธิปไตยแล้ว ยังมีกิจกรรมเชิงล้อเลียนเสียดสีที่เอาวัฒนธรรมเควียร์มาเล่น มาล้อเลียนการเมือง โดยเชื่อว่าจะดึงความสนใจคนมาเข้าร่วมได้มาก และทำให้คนมีส่วนร่วมกับการชุมนุม สนุกกับกิจกรรม และมาชุมนุมอีกในครั้งถัดไป การเคลื่อนไหวครั้งแรกของกลุ่ม LGBT นี้ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี กลายเป็นมิติใหม่ของการชุมนุม มีความสนุกสนาน มิติความเบิกบานกลับเข้ามาในการชุมนุม
สิรภพเน้นย้ำว่า “การต่อสู้อย่างสันติวิธีจะเป็นกระบวนการที่ หนึ่ง คนเข้าร่วมได้ง่าย และสอง มีความสุขที่จะเข้าร่วมได้ อันนี้เป็นพื้นฐานของการเคลื่อนไหวที่เบิกบาน เราใช้ตรงนี้เป็นจุดในการดึงคนและให้เขามีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป”
ในทำนองเดียวกัน ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ สมาชิกวงสามัญชนเล่าว่าตัวเองเริ่มต้นด้วยการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิคนพิการแล้วพบว่าปัญหาการกระจายอำนาจทำให้ทรัพยากรกระจุกตัวที่คนบางกลุ่ม ขณะที่ชนชั้นสูงผลิตซ้ำ “วัฒนธรรมการบริจาค” หรือสงเคราะห์ ซึ่งทำให้คนพิการอยู่ในตำแหน่งแห่งที่น่าสงสาร เป็นชนชั้นสอง จึงต้องผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจให้คนพิการมีสิทธิมีเสียงในโครงสร้างการตัดสินใจ แต่รัฐประหารสองครั้งรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น แค่ประชาชนออกไปพูดปัญหาของตัวเองยังโดนจับ สังคมที่อยากเห็นเป็นไปได้ยากในสังคมแบบนี้เลยออกมาร่วมการเคลื่อนไหว
ชูเวชอธิบายว่าเขา มี 2 บทบาทในการเคลื่อนไหว คือ นักดนตรี และวิทยากรกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ในฐานะนักดนตรี “ดนตรีที่เราเลือกเล่นบนเวทีอย่างแรกเลยนี่คือไม่เชียร์ไปฆ่าใคร จะไม่เชียร์ให้จับอาวุธ ไม่เชียร์ให้สละชีวิต” นอกจากนั้นจะพูดถึง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” เพื่อคืนความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีให้กับเหยื่อ โดยเชื่อว่า นอกจากจะป้องกันไม่ให้เหยื่อกลับมาใช้ความรุนแรงแก้แค้น ทำให้เสียงของเขาถูกได้ยินแล้ว ยังทำให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมได้ด้วย
เมื่อจัดกิจกรรมที่มหิดลจึงอ่านรายชื่อวีรชนมหิดล แล้วมีผลต่อเนื่องนำไปสู่การอ่านรายชื่อเสื้อแดงในการชุมนุมที่เชียงใหม่ กลุ่มนักเรียนเลวอ่านรายชื่อนักเรียนที่ฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงศึกษาธิการ “เราพยายามสร้างบรรยากาศของการโอบกอดประวัติศาสตร์ รวมถึงคนเสื้อแดง การอ่านบทกวีของคนเสื้อแดงที่จุฬาฯ ก็เป็นการเรียกวิญญาณของเสื้อแดงกลับมา การเล่นดนตรีที่ราชดำเนิน เราก็ทำสคริปต์เพื่อขอบคุณคนเสื้อแดงหนีตายที่มาร่วมชุมนุมและอดทนต่อความเกลียดชัง” กิจกรรมในวันนั้นเองที่ “ปลดล็อค” พวกเขาเองด้วย เพราะนานมาแล้วที่พวกเขาเห็นคนเสื้อแดงเข้าร่วมการชุมนุมแต่ไม่กล้าพูดถึง การให้พื้นที่และศักดิ์ศรีกับพวกเขานั้น นำไปสู่การเชื่อมรุ่นและเยียวยาบาดแผลในขบวนการที่มีความหลากหลาย แสดงถึงความเป็นพรรคเป็นพวกและช่วยเสริมความมั่นคงภายในซึ่งกันและกัน
ในฐานะวิทยากรกระบวนการเรียนรู้ เขาเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างฉันทามติ “แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง เราก็จะคุยกันว่าการชุมนุมครั้งนี้จะมีผู้บาดเจ็บไหม มีการประเมินเพื่อหาทางออกที่รับผิดชอบต่อมวลชนมากที่สุด” ขณะที่บทปราศรัยจะไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้จะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามก็ตาม “การปราศรัยมันปราบเซียนอย่างหนึ่ง แม้อยู่ล่างเวทีเราจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เมื่ออยู่บนเวที เราจะพยายามกลบความเป็นตัวเล็กของเราลง ทำให้เราใหญ่ขึ้นด้วยการด่า พูดตะโกนเสียงดัง ฟังไม่รู้เรื่อง หรือกระทั่งลดความเป็นมนุษย์มากขึ้น การทำให้เกิดความมั่นคงภายใน จะทำให้เราอยู่ในสคริปต์มากขึ้น ลดเงื่อนไขที่จะลดทอนความเป็นมนุษย์กับคนอื่น”
สำหรับภัทรพงษ์ น้อยผาง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเติบโตมากับเรื่องเล่าของพ่อและอาในเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 จึงออกมาต่อสู้และใช้วิธีการไร้ความรุนแรงเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก เขาเล่าว่าในการจัดชุมนุม 19 กันยายน 2563 ผู้จัดประชุมกันอย่างหนักว่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร หลังจากประกาศว่าเดินไปทำเนียบรัฐบาลแล้วมีการจัดวางกำลังสกัดและพร้อมใช้ความรุนแรง พวกเขาจึงตัดสินใจหลีกเลี่ยง เดินไปที่สำนักราชเลขาธิการแทน และหากในวันนั้นเจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรงอีก “เพนกวินจะรับบทประกาศกับผู้ชุมนุมว่า ถ้าเดินไป แกนนำสั่งหยุดต้องหยุดนะ สัญญาว่าจะไปไม่ใช้ความรุนแรง แกนนำต้องทำหน้าที่สื่อสารกับมวลชนไม่ให้ใช้ความรุนแรง เราต้องประเมินกันว่าแบบไหนที่เราจะยอมรับได้ ซึ่งตอนนั้น แบบบาดเจ็บก็ไม่เอาละ เพราะเป็นห่วงทุกคน”
นอกจากนักกิจกรรมแล้ว ยังมีนักวิชาการอีก 2 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนจากมุมมองว่าด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และประสบการณ์ในการผลักดันนโยบาย
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้เข้าร่วมและสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเห็นว่า แม้มีคนเห็นว่าการเคลื่อนไหวแบบไร้ความรุนแรงต้องประนีประนอม ไม่ควรขยับเพดานให้สูงขึ้นเกินไปเพราะจะถูกตอบโต้จากรัฐหรือสังคม ทั้งต้องรักษาเส้นบางอย่างไว้เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ แต่เธอแย้งว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงสามารถตั้งคำถามแบบถอนรากถอนโคนได้โดยเฉพาะในมิติวัฒนธรรมที่ถูกสั่นคลอนจากสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเพียงการเสียดสีหรือทำให้ขบขัน เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจึงเป็นการท้าทายอย่างถึงแก่น ตั้งคำถามอย่างถึงรากกับระบบอำนาจต่าง ๆ ในสังคมแห่งนี้และเปิดโปงให้เห็นความไม่ชอบธรรม ทั้งนี้ การโต้กลับของรัฐยิ่งทำให้เห็นว่าสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทำได้สั่นคลอนผู้ที่อยู่ในอำนาจ ประสบความสำเร็จในการท้าทายความเชื่อหรืออะไรบางอย่าง “ส่วนการพูดคำหยาบ การท้าทายทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือของคนไร้อำนาจรัฐ เป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือที่คนไร้อำนาจรัฐจะทำได้ และท้าทายอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างมาก” แม้เส้นแบ่งอาจเปราะบาง แต่ต้องขยับเพดานยืนยันว่าการด่า ไม่ใช่การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
ด้านชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอความคิดที่แตกต่างจากวิทยากรคนอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นที่ “สันติวิธีของรัฐ” เขากล่าวว่าขณะที่คนทั่วไปมักรู้สึกว่า “สันติวิธี” กับ “รัฐ” ขัดกันด้วยตัวมันเอง เพราะรัฐเป็นองค์กรผูกขาดการใช้ความรุนแรง เป็นตัวการที่ใช้ความรุนแรง จึงต้องป้องกันไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงมากไปกว่านี้ ตนเองและผู้คนที่อยู่ในสายปฏิบัติไร้ความรุนแรงจึงไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับรัฐเพื่อเปลี่ยนนโยบายของรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรง เช่นคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ชัยวัฒน์เป็นกรรมการ เคยเสนอความคิด “สันติเสนา” เพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ คือ เป็นกองกำลังทหารแต่ไม่ติดอาวุธ เมื่อหน่วยเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งชาวบ้านจะเชื่อได้ว่าไม่ใช้อาวุธอย่างแน่นอน
ชัยวัฒน์ สรุปว่า “สันติวิธีของรัฐ” ไม่ใช่การเปลี่ยนจากรัฐเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย หรือการปฏิรูปแต่อย่างใด แต่สนใจวิธีการที่รัฐจัดการกับปัญหา กรณีนี้คือจัดการกับมหาชนที่ออกมาเรียกร้องบนถนนในพื้นที่สาธารณะ ไม่ให้เป็นอย่างที่เห็นในเมียนมา โดยพยายามถอดสลักบางตัวออกไปเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างประชาชนกับรัฐเพราะเครื่องมือบางอย่างก่อปัญหาให้กับรัฐเอง แม้ว่า “สันติเสนา” จะแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ แต่ “ถ้าลดความรุนแรงจากภาครัฐได้ก็อาจจะลดความรุนแรงที่โต้ตอบภาครัฐไปได้ด้วยเลยอาจจะเปิดช่องว่างให้เกิดโอกาสที่จะหาทางออกอื่นได้อีก”
2.การถอดสลักและหลีกเลี่ยงความรุนแรง
ประเด็นต่อมาที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยน ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลใช้วิธีการกดปราบผู้ชุมนุมอย่างหนัก รวมทั้งเงื่อนไขจากฝ่ายผู้ชุมนุมเอง ในภาวะแบบนี้ จะถอดสลักและหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างไร
สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สนทนา และเน้นว่ายิ่งมีข้อเรียกร้องที่แหลมคมและไม่คุ้นเคย พื้นที่การสนทนายิ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องขึ้นมาให้ได้ เนื่องจากมีกับดักหรือผลข้างเคียงของความขัดแย้งที่อาจปูทางให้เกิดความรุนแรง จึงเสนอว่า หากไม่ต้องการให้รัฐใช้ความรุนแรงนอกจากผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรงเองแล้ว ต้องไม่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บช้ำให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่กระทำภายใต้ความเกลียดชัง นำเสนอด้วยความปรารถนาดี เพื่อดึงความเป็นมนุษย์ของคู่ขัดแย้งออกมา นี่จะเป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อให้ข้อถกเถียงเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยกัน ไม่อย่างนั้นจะถูกกลบด้วยประเด็นอื่นและไม่เกิดผลตามตั้งใจไว้ “ยิ่งถ้าเป็นเรื่องยาก ๆ ช้าก็ไม่เป็นไร คำว่าจบที่รุ่นเรา คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จบมัธยมปลายหรือมหาลัย แต่หมายถึงช่วงชีวิต”
ในฐานะที่ต่อสู้มายาวนาน เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงการเมืองกับการดำรงชีวิตตามความมุ่งหมายที่มีมาก่อนของตัวเองไปด้วยกันได้ เขาเสนอว่าไม่ควรเร่งรีบจนเกินไป “แต่ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วก็ถ้ามันจะเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือแม้แต่การส่งไม้ต่อให้รุ่นต่อไป มันก็ทำให้เราไม่ตึงเครียดจนเกินไป” และเน้นว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในหลายมิติมิใช่เพียงคู่ขัดแย้งยอมแพ้เท่านั้น “พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริงนั้น เป็นพื้นที่ของการต่อสู้ในสำนึก ความนึกคิดของผู้คนในวงกว้าง การดำรงอยู่ของคู่ขัดแย้งนั้นอาจเป็นความจำเป็นหรือเงื่อนไขที่จะสร้างการรับรู้ หากเราเห็นพื้นที่การต่อสู้เช่นนั้นแล้ว ช่วงเวลาที่เราอยู่ในความขัดแย้ง เราจึงต้องใช้ประโยชน์ของสถานการณ์ขยายความรับรู้ เป็นห้วงเวลาของความเข้าใจ ตกผลึก พัฒนาวิธีคิดความเข้าใจในสังคมให้กว้างขวางออกไป”
เมื่อถามว่าพื้นที่ของศิลปะจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือดึงสลักจากฝ่ายรัฐราชการ ผู้มีอำนาจได้อย่างไร สิรภพจึงย้อนภาพการ “ลงถนน” ในช่วงแรกแล้วมีคำถามว่าจะ “พาคนไปตาย” หรือเปิดช่องให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปราม ผู้จัดจึงใช้รูปแบบที่เปลี่ยนไปจากอดีต ที่เคยเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ตัวอย่างเช่น การวิ่งแฮมทาโร่ เป็นความพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสียงทางการเมืองได้โดยรัฐไม่มีความชอบธรรมในการปราบปรามหรือใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกันเป็นการละเล่นและเล่นกับสื่อ โดยเขาชี้ให้เห็นว่า “การใช้ศิลปะหรือละครขยายพื้นที่การรับรู้ได้ง่าย อะไรที่เทรนดี้คนอยากจะติดตาม อยากฟัง ทำให้เกิดไดอะล็อคในสังคมได้ง่าย ที่รัฐไม่มีความชอบธรรมในการปราบปราม”
สิรภพเห็นว่า ศิลปะเข้าถึงใจคนได้ง่าย เมื่อหัวใจเปิดกว้างก็พร้อมฟังในข้อมูล เรื่องราว ประสบการณ์ส่วนบุคคล ความรู้สึกของคนจะสัมผัสกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น หากหวังดึงคนที่ยังไม่เห็นด้วยมาเป็นพวก เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิด ต้องทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัยในการเจรจาหรือรับฟัง ซึ่งพื้นที่ของศิลปะ ดนตรีหรือว่าสันติวิธีนี้จะสร้างพื้นที่ของการสื่อสารกันระหว่างคนและความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน แม้จะเห็นด้วยกับเราแต่อาจไม่เข้าร่วมหากไม่มีพื้นที่ปลอดภัย การจัดการชุมนุมของกลุ่ม LGBT เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของคนหลากหลายทางเพศและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่สามารถเข้ามาในพื้นที่ของการชุมนุมทางการเมืองได้ เป็นการชุมนุมที่โอบอุ้มหรือมีชุมชนของตัวเองและสร้างแนวร่วมได้
เขาย้ำจากประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า บรรยากาศของการชุมนุมมีความสำคัญในการป้องกันความรุนแรง หากสร้างบรรยากาศของความปลอดภัย สนุกสนาน ความบันเทิงสามารถลดแรงปะทะกันได้มากขึ้น
ชูเวชระบุว่ามีสิ่งจำเป็น 3 เรื่องสำหรับการบรรลุเป้าหมายนี้ คือ หนึ่ง พื้นที่ทางการเมือง ที่สามารถนำข้อขัดแย้งที่อยู่ใต้พรมมาคุยกันได้ พื้นที่นี้หายไป หลังการยุติรายการทางไทยรัฐทีวีของจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ การเคลื่อนไหวทั้งหมดถูกพาดหัวข่าวแค่ชุมนุมที่ไหน ไม่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ปรากฏในพื้นที่สื่อเลย แบบนี้อันตรายต่อชีวิตของผู้ชุมนุมมาก
สอง ข้อเสนอ เมื่อเล่นเพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” ซึ่งเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ มักมีตำรวจและนักเรียนมาคุยว่าเหมือนกับชีวิตของตนเอง จำใจเป็นข้าราชการเพราะ “ภาระข้างหลัง” ความต้องการของพ่อแม่ ซึ่งทำให้ “นายสั่งมา พี่ไม่อยากทำเลย” เข้มแข็ง ดังนั้น หากต้องการทำให้เขาหันมาสนับสนุน นอกจากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องชูธงรัฐสวัสดิการควบคู่ไปด้วย
หลังถูกสลายการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 แล้วมีการชุมนุมที่ราชประสงค์ในวันถัดมา เขาปราศรัยเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี รัฐสวัสดิการ “ตำรวจนั่งกันตาแป๋วเลย” เมื่อการชุมนุมยุติ ประชาชนเดินฝ่าแนวตำรวจกั้นอยู่ไม่มีการปะทะ บางคนมาจับมือแล้วบอกว่า “พี่ก็อยากให้มันออกเหมือนกัน” เขายืนยันว่ามีตำรวจที่เป็น “พวกเรา” ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อถูกเกณฑ์มาปะทะกับผู้ชุมนุมจึงมีความตึงเครียดระหว่างกันได้ เหตุการณ์วันนั้นเป็นตัวอย่างว่าผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปจัดการความรู้สึกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยเมื่ออยู่ในที่ชุมนุมได้
สาม แหล่งฟูมฟัก หรือ โรงเรียนการเมือง ถ้าเชื่อว่าวัฒนธรรมการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ ต้องกลับไปดูว่าเมื่อนักเรียนทำกิจกรรม จัดงานไหว้ครู หรือทำป้ายผ้า พาเหรดกีฬาสีล้อการเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการแสดงออกที่มีอยู่แล้วแต่ถูกกดด้วยโรงเรียน จะต้องคิดอย่างจริงจังว่า จะสนับสนุนหรือมีหลักประกันรองรับการแสดงออก ทำให้เขี้ยวเล็บของเขาไม่ถูกกุดตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตยที่ต้องให้ความสำคัญหากคิดต่อสู้ในระยาว
ขณะที่ภัทรพงษ์ชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงของรัฐ การใช้กระสุนยาง ไม่ได้เกิดกับทุกการชุมนุม และถ้ามองจากแนวนอนจะเห็นปฏิสัมพันธ์และการช่วงชิงพื้นที่ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ การปรากฏตัวครั้งแรกของตำรวจควบคุมฝูงชน ในการชุมนุม 19 กันยายน 2563 ตำรวจบอกกับการ์ดว่าถ้าจะขยายพื้นที่ชุมนุมให้ตัดรั้วที่ตรงไหน “แล้วพี่จะได้วิ่ง” ซึ่งสะท้อนว่าที่อ้าง “ตามนายสั่ง”นั้น จริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำร้ายเพื่อรับใช้นาย แต่ทำในลักษณะประนีประนอมกันได้ ต่อมาเมื่อมีการยั่วยุ ใช้ความรุนแรงจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ พื้นที่ปฏิสัมพันธ์หน้างานน้อยลง มีการใช้อารมณ์มากขึ้น หน่วยควบคุมฝูงชนที่ปกติเดินเป็นแนววิ่งหลุดแนวเข้าไปหาผู้ชุมนุมก่อน ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้แล้วยังไม่หยุดใช้ความรุนแรง ในช่วงหลังเขายอมรับว่าผู้ชุมนุมบางคนยกระดับตัวเองขึ้น และตำรวจควบคุมฝูงชนเองไม่ได้แยกแยะว่าใครใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงแต่ไล่จับทุกคนที่หนีไม่ทัน เขาเสนอว่า การมองปฏิสัมพันธ์แบบแนวนอนจะเห็นความเป็นไปได้ในถอดสลักความรุนแรง และผู้ชุมนุมต้องยึดหลักสันติวิธีอย่างเคร่งครัด มีเส้นที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นหรือไมเป็น เพื่อไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงมากขึ้น แล้วเราโต้กลับจนล้ำเส้นไปทำให้มีความรุนแรงมากขึ้นขึ้นกว่าเดิม
ส่วนเบญจรัตน์ได้ยกเหตุการณ์สลายการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ที่ยึดหลักสันติวิธี มีกฎระเบียบเคร่งครัด และที่สำคัญไม่ได้เคลื่อนขบวนด้วยซ้ำ มาเตือนว่า เรา หมายถึง สังคมโดยรวมผลักภาระให้ผู้ชุมนุมมากเกินไปการจัดการดูแลการชุมนุม ควบคุมไม่ให้มีความรุนแรง ไม่ให้เกิดการยั่วยุ แต่เรียกร้องจากรัฐน้อยเกินไป และต้องทำให้สังคมเห็นว่า “เราสามารถที่จะการแสดงออก รวมตัวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ และต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รัฐจะต้องเคารพตรงนี้ ให้เป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมโดยที่ไม่ต้องไปสนใจว่าข้อเรียกร้องของเราคืออะไร”
เธอเน้นว่าคู่ขัดแย้งของขบวนการเคลื่อนไหวไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐหรือควบคุมฝูงชน แต่คือชุดความคิดในสังคมที่ต้องการรักษาระบบอำนาจบางอย่างไว้ ดังนั้น แม้ตำรวจจะเห็นด้วยกับข้อเสนอรัฐสวัสดิการก็ตาม แต่ก็ยากจะต่อสู้หรือทัดทานได้ เพราะชุดความคิดใหญ่ครอบคลุมทุกอย่างที่พูดถึงและถกเถียงไม่ได้ แม้เธอค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายแต่เมื่อประเมินการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา เธอกลับเห็นว่า ประสบความสำเร็จในการท้าทาย สร้างพื้นที่การพูดคุยใหม่ ๆ นับตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2563 ที่รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยบนเวที “ดิฉันมือเย็นเท้าเย็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ มาถึงวันนี้ที่การพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ ระบบวัฒนธรรมไทย กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดกันอย่างทั่วไป”
3. การสร้างแนวร่วม
เมื่อการต่อสู้ในระยาวและการหลีกเลี่ยงความรุนแรงเป็นโจทย์ร่วมกัน ในตอนท้ายจึงมีการแลกเปลี่ยนว่าจะสร้างแนวร่วมกับคน 2 กลุ่มที่สำคัญคือ 1) ฝ่ายที่ 3 หรือ คนที่ยังไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายของขบวนการ และ 2) คนที่เห็นด้วยกับเป้าหมายแต่ไม่เชื่อว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจะนำไปสู่เป้าหมายหรือเป็นทางเลือกได้อย่างไร
ภัทรพงษ์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เสนอว่า ต้องมองคนที่ไม่เข้าใจว่ามีสติปัญญาเหมือนกับเราเพียงแต่ถูกกดไว้ และแม้เข้าใจแล้วการเปลี่ยนฝั่งนั้นยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องกลับหัวกลับหางสิ่งที่เคยเชื่อ ต้องเปลี่ยนชีวิตทั้งหมด การใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียวคงไม่พอแต่ต้องต่อสู้ทางวัฒนธรรมด้วย อย่างการไม่ยืนในโรงหนังเมื่อก่อนทำได้ยากแต่ตอนนี้เลือกไม่ยืนได้แล้ว ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ต้องทำให้เห็นว่า เราจัดงานวัฒนธรรมได้ยิ่งใหญ่กว่า สนุกมากกว่า แสดงออกได้โดยไม่มีใครชี้หน้าว่าเป็นความผิด สำหรับฝั่งเดียวกันแต่ยังไม่เห็นว่าจะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจะนำไปสู่เป้าหมายนั้นต้องมีกระบวนการ การรับสมัครฝ่ายสันติวิธีของแนวร่วมฯ มีการฝึกอบรม ทำให้เห็นว่า “สันติวิธีไม่ใช่การนั่งอยู่เฉย ๆ เราสามารถที่จะแสดงออกได้อย่างหลากหลาย แล้วมันก็ล้ำกว่าที่เคยคิด เมื่อเขาเห็นด้วยในเป้าหมายอยู่แล้ว มีโอกาสมากกว่าที่เขาจะเห็นดีเห็นงามด้วย”
สิรภพ จากเสรีเทยพลัส เห็นว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนคนที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการ ที่เห็นดีเห็นงามกับการสังหารคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาหรืออยากให้เพื่อนเราตายได้ แต่พอทำให้คนที่ยังเห็นเราเป็นคนมาเห็นอกเห็นใจได้ โดยทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเรามากขึ้น เช่น โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ที่ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ แต่ทำให้เห็นว่านักศึกษาที่ถูกฆ่าในธรรมศาสตร์เป็นคนเหมือนกับเรา มีพ่อแม่ มีพี่น้อง มีอาหารที่ชอบ มีคนรออยู่ที่บ้าน จนเริ่มมีความเห็นอกเห็นใจ มนุษยธรรมจะเริ่มกลับมา เหมือนพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกทำให้เป็นปีศาจร้าย เมื่อพูดถึงความโหดร้ายที่กระทำต่อเสื้อแดง นำบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่คนที่เคยไม่เข้าใจหรือต่อต้านก็ถูกสะกิดความเป็นมนุษย์ในตัวออกมา ยกตัวอย่างการรณรงค์ “คนบางกลอยอยากกลับบ้าน” ที่เริ่มจากตั้งคำถามว่า คุณใช้เวลากลับบ้านกี่นาที แต่คนบางกลอยใช้เวลา 25 ปีแล้วยังไม่ได้กลับบ้าน การสร้างสภาวะที่เชื่อมโยงเรื่องที่พื้นฐานแบบนี้ นำไปสู่ความสนใจ เห็นอกเห็นใจ แต่ต้องเล่นกับอารมณ์ที่คนเชื่อมต่อกันได้ สำหรับฝั่งเดียวกันนั้น เขาคิดว่าส่วนมากเป็นสันติวิธีเพียงแต่เพดานสูงไม่เท่ากัน การทำให้เขาเห็นความสำคัญของสันติวิธีนั้น ต้องทำให้ดูว่าวิธีการที่เลือกนี้ ทำงานดีอย่างไร และมีวิธีการหลากหลายมากกว่าการนั่งฟังปราศรัยเฉย ๆ เขายกตัวอย่างการชุมนุม 24 มีนาคม 2564 โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ว่าได้เปลี่ยนภาพของการชุมนุมที่มีการปะทะ มีความรุนแรงสูง มาเป็นสันติวิธีจริง ๆ จนมีคนเรียกว่า “สันติวิธีแบบสุดโต่ง” มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้จริง ในจังหวะที่คนกำลังต้องการแสดงออกอย่างปลอดภัย “มันทำให้คนเห็นว่าแนวทางนี้ก็ปลอดภัยได้ ถ้าเราพยายามที่จะควบคุมหรือพยายามจัดการมันอย่างดี” บางครั้งต้องรอจังหวะ ความพอเหมาะพอเจาะและมีประสิทธิภาพทำให้สันติวิธีกลายเป็นกระแสหลักได้
ส่วนชูเวชยอมรับว่าตัวเองไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในการพูดคุยกับคนที่ไม่เห็นด้วย เมื่อมีคนบอกให้ลดเพดาน ไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ เขารู้สึกเหมือนกับหักหลังไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เหมือนสิ่งที่เพื่อนสู้มาไม่มีความหมาย กรณีผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับสันติวิธีนัก มีกรอบคำอธิบายหรือเหตุผลหลัก 2 แบบ หนึ่ง คือ พวกเขาต้องการปลดปล่อยพลัง เพราะไม่มีตัวตน เสียงของพวกเขาไม่ถูกได้ยิน สอง คือ พวกเขาต่อสู้มานานแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเห็นประสบการณ์จากที่อื่น ใช้กิโยตินแล้วสำเร็จ
วิธีการรับมือกับผู้ชุมนุม กลุ่มแรก สมมุติเพิ่งถูกสลายการชุมนุม วันถัดมาให้ทำอะไรที่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ จะควบคุมผู้ชุมนุมไม่ได้ “เพราะมันเดือด” เขาเสนอว่าวิธีการอย่างหนึ่ง คือ การกระจายอำนาจการแสดงออก เช่น มีพื้นที่ให้ วาดรูป ปราศรัย ได้สร้างสรรค์ กระบวนการนี้จะเปลี่ยนผู้เข้าร่วมเฉย ๆ เป็นผู้ลงมือทำเองด้วย มวลชนจะเก่งขึ้น อย่างที่สอง คือ ต้องมีจัดตั้ง เป็นสเก็ตเตอร์ก็รวมกลุ่มเล่นสเก็ต เป็นแดนเซอร์ก็จัดกลุ่มเต้น แม้ช่วงที่ม็อบแผ่ว กลุ่มที่มีการจัดตั้งยังมาร่วมอย่างต่อเนื่อง เพราะได้ยกระดับตัวเองจากเป็นผู้ตามมาเป็นผู้คิดและทำ การรวมกลุ่มจะสร้างความเป็น “เรา” ความเป็นเจ้าของม็อบ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีมวลชนมาร่วมกิจกรรม
กลุ่มที่สองที่รู้สึกว่า “สู้มานานแล้ว” แต่ไม่สำเร็จด้วยสันติวิธี อาจชวนคุยว่า เราไม่ได้มีกองทัพ ยุทโธปกรณ์ ดังนั้น ในสนามของการใช้อาวุธ อำนาจของเราด้อยกว่ามาก ขณะที่รัฐมีความชอบธรรมในการใช้อาวุธตามกฎหมาย “เรานี่เป็นโจรไปเลย” ดังนั้น ขบวนการด้อยกว่าทั้งความชอบธรรมและทรัพยากรในการใช้ความรุนแรง แม้บางคนบอกต้องเคารพและไม่ดูถูกแนวทางของกลุ่มอื่น แต่สำหรับชูเวชแล้ว นั่นเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ “การที่คุณเลือกใช้ความรุนแรง มันไม่ได้จบที่คุณไง หมายความว่ารัฐยิงหัวเด็กในม็อบได้เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเรียกร้องความรับผิดชอบกันว่าถ้าคุณใช้ความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใบอนุญาตฆ่า”
ประวัติผู้เขียน
อ.อุเชนทร์ เชียงเสน
อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย, ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk