เส้นทางประชาธิปไตยกับการเมืองบนท้องถนนในสาธารณรัฐเกาหลี

วันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2020 เป็นวาระครบรอบ 33 ปี ของการลุกฮือประท้วงรัฐบาลเผด็จการเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเกาหลีโดยประชาชนทั้งประเทศ (the June 10 Democratic Protest) นำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของประเทศเกาหลีใต้ ในพิธีรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีมุนแจอิน (Moon Jae-in) กล่าวสุนทรพจน์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเดินหน้าเพื่อสร้างความหลากหลายและความยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นกระบวนการพัฒนาที่ต้องไม่หยุดนิ่ง ประธานาธิบดีมุนยังกล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งต้องมีการแบ่งปัน ความสามัคคี และความร่วมมือระหว่างกัน (Yonhap 2020)

บทความชิ้นนี้จะย้อนสำรวจปัจจัยความสำเร็จของเส้นทางประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี และความต่อเนื่องเรื่องการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นเหมือน “ลายเซ็น” ของประชาธิปไตยแบบเกาหลี คือ การเดินประท้วง หรือ การเมืองบนท้องถนนนั่นเอง

เส้นทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้

เส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ เริ่มต้นอย่างขลุกขลักพร้อม ๆ กับความพยายามก่อร่างสร้างประเทศหลังสงคราม อันเป็นสถานการณ์คล้ายกันกับหลาย ๆ ประเทศในโลก แม้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 (May 16 Coup) โดยนายพลพัคจองฮี (Park Chung-hee) จะนำเกาหลีใต้เข้าสู่ร่มเงาเผด็จการ แต่นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพัคจองฮีที่มีการรักษาอำนาจเป็นเป้าประสงค์สำคัญ กลับทำให้เกิดปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตยในอีกเกือบ 30 ปีให้หลัง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่รัฐบาลอำนาจนิยมและประธานาธิบดีพัคจองฮีไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

หลังสงครามเกาหลี ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1950 – 1953 เกาหลีใต้บอบช้ำอย่างหนักจากทั้งจากสงครามโลกและสงครามบนคาบสมุทร ณ เวลานั้น ทั่วโลกมองว่าเกาหลีเหนือดีกว่าเกาหลีใต้ ทั้งสถานการณ์ด้านปากท้องและความมั่นคง (Kang 2002, pp.34-35) สหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มหาหนทางลดค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนเกาหลีใต้ ทำให้เกาหลีใต้ต้องเริ่มมองหาวิธีป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางด้านความมั่นคง และสถานการณ์อันเลวร้ายทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยปัญหาทั้งหมดนี้เอง รัฐบาลพัคจองฮีตระหนักดีว่า หากต้องการอยู่ในอำนาจก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ในระยะยาว เมื่อประกันความมั่นคงปลอดภัยได้ด้วยกำลงทหารแล้ว พัคจองฮีก็ตัดสินใจเปลี่ยนเกาหลีใต้จากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมในระดับที่แข่งขันกับนานาชาติได้ เนื่องจากตระหนักดีว่า เกาหลีใต้ไม่อาจพึ่งพาการอุ้มชูจากสหรัฐอเมริกาได้ตลอดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความมั่นคง และเป้าหมายที่รัฐบาลเกาหลีใต้หมายตาว่าจะต้องข้ามผ่านให้ได้ในช่วงเวลานั้นก็คือญี่ปุ่น (Mo and Weingast 2013: 65)

รัฐบาลพัคจองฮีตัดสินใจดำเนินนโยบายการเติบโตอย่างแบ่งปัน (Shared Growth) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้ภัยคุกคาม 2 ชั้นจากประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือเกาหลีเหนือและจีน นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มต้นจากเรื่องพื้นฐานอย่างการพัฒนาการศึกษา สร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ระบบตลาด เปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ

ความสำเร็จของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้เกี่ยวโยงถึงนโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งในทางหนึ่งนั้นเป็นการทำลายรากฐานทางการเมืองของขุนนางเจ้าที่ดิน โดยรัฐจะจัดการแบ่งที่ดินให้ชาวนายากจนในชนบทให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองโดยไม่ต้องเป็นหนี้ต่อเจ้าที่ดิน รวมถึงจัดสรรที่ดินให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนเพื่อให้เป็นทรัพยากรตั้งต้นในการตั้งบรรษัท นโยบายปฏิรูปที่ดินเหล่านี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเขตชนบทได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-1989 (Haggard, Cooper and Collins 1994) ในช่วงเริ่มต้นของเกาหลีใต้ที่ประชาธิปไตยยังขลุกขลักอยู่นั้นมีรูปแบบคล้ายกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกประเทศอื่น คือ ประชาชนมีสิทธิในพื้นที่และโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สิทธิทางการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องรองลงไปและถูกจำกัด (Campos and Root 1996) รัฐบาลอำนาจนิยมและแนวร่วมเองก็ตระหนักดีว่า การขาดการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์และพันธมิตรภายในประเทศจะนำพาความเสี่ยงที่ทำให้ระบอบอำนาจนิยมที่รัฐบาลต้องการรักษาไว้พังพินาศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจนำไปสู่การขยายตัวของภาคแรงงานและชนชั้นกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งสองกลุ่มจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1987

งานศึกษาของ Jongryn Mo และ Barry M. Weingast (2013) เสนอมุมมองการเปลี่ยนผ่านของเกาหลีใต้จากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ พวกเขาเสนอหลักสองสมดุล (Double Balance) ว่าด้วยความสมดุลระหว่างการเปิดเสรีทางการเมืองและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากด้านใดด้านหนึ่งพัฒนารุดหน้ามากกว่าอีกด้านจะนำไปสู่อสมดุล ซึ่งจะทำให้เกิดความพยายามที่จะสร้างสมดุลจากด้านที่พัฒนาน้อยกว่า สิ่งสำคัญคือต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลของทั้งสองด้าน ซึ่งในกรณีเกาหลีใต้นั้นเกิดสภาวะที่มีการเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่มีการเปิดเสรีทางการเมือง

นอกจากนี้ การทำให้ประเทศเปลี่ยนจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมระดับสูงนั้น ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับระบอบอำนาจนิยมใน 4 ประการด้วยกัน คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การสร้างผลประโยชน์สาธารณะ การลดบทบาทของรัฐในการควบคุมเศรษฐกิจ และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินที่มั่นคงปลอดภัย ความอสมดุลนี้ทำให้เกิดแรงกดดันต่อการเปิดเสรีทางการเมืองซึ่งทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมต้องสูญสิ้นอำนาจในท้ายที่สุด

ในขณะที่ทฤษฎีการพัฒนาให้ทันสมัยของ Seymour Martin Lipset (1959) ที่เสนอว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเติบโตของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางจะเรียกร้องให้เกิดสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกและการเปิดเสรีทางการเมือง อันส่งผลให้ผลประโยชน์สาธารณะเพิ่มพูนขึ้น และจะทำให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตย สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 9 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ถึง 1987 ทำให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางและความไม่พอใจต่อระบอบอำนาจนิยม Mo และ Weingast (2013: 109) ยังเสนออีกว่า การสนับสนุนประชาธิปไตยของชนชั้นกลางนั้นเป็นมากกว่าการสนับสนุนทางศีลธรรม (Moral Support) ชนชั้นกลางเกาหลีใต้ร่วมเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1987 และการกระทำนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในเกมการต่อรองอำนาจระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย

กระนั้น การเคลื่อนไหวเรียกร้องและขับเคลื่อนประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ยังมีแนวร่วมที่ประกอบด้วยตัวแสดงทางสังคมกลุ่มอื่นๆ อย่าง ขบวนการแรงงาน นักเรียน นักศึกษา ชาวนา กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง และกลุ่มศาสนา ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงตัวแสดงภายนอกอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1987 ประสบผลสำเร็จ

Jennifer S. Oh (2017) เสนอว่า การเปลี่ยนผ่านในปี ค.ศ. 1987 ประสบความสำเร็จเพราะเกิดจุดร่วมจากทั้งฝ่ายประธานาธิบดีช็อนดูฮวาน (Chun Doo-hwan) และพรรครัฐบาล กับฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งยังเกิดความไม่ลงรอยกันในหมู่ชนชั้นปกครอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถสร้างฉันทามติที่แข็งแกร่งพอที่จะไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงได้

Oh บอกว่า มีเหตุผล 4 ประการที่ทำให้ประธานาธิบดีช็อนดูฮวานเห็นด้วยกับการยอมปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศให้เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย 

  • ประการแรก คือ เกิดความแตกแยกในพรรครัฐบาลระหว่างกลุ่มที่มีความคิดและท่าทีแข็งกร้าว (Hardliner) กลุ่มที่มีท่าทีประนีประนอม (Softliner) และกลุ่มที่เป็นกลาง นักการเมืองในกลุ่ม Hardliner เป็นกลุ่มทหารและกลุ่มผู้สนับสนุนช็อนดูฮวาน ซึ่งต้องการระบบการเมืองแบบรัฐสภาซึ่งจะอนุญาตให้ช็อนดูฮวานเป็นประธานาธิบดีเชิงสัญลักษณ์ และโนแทอู (Roh Tae-woo) เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่นักการเมืองกลุ่ม Softliner ต้องการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนผ่านกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งยังเชื่อว่าพรรครัฐบาลมีโอกาสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง เพราะการเลือกตั้งโดยตรงนี้จะนำพาความแตกแยกไปสู่กลุ่มฝ่ายค้าน ส่วนกลุ่มนักการเมืองที่เป็นกลางนั้นมีแนวคิดใกล้กับกลุ่ม Hardliner แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง โนแทอูอยู่ในกลุ่มนี้ โดยโนแทอูต้องการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีโดยไม่ใช้การเลือกตั้งทางตรง แต่ก็ต่อต้านการใช้กำลังทหารกับฝ่ายประชาธิปไตย
  • ประการที่สอง คือ ในปี ค.ศ. 1987 การใช้กำลังทหารไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีอีกต่อไป เนื่องจากกองทัพไม่ต้องการใช้กำลังเข้าปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างการสังหารหมู่ที่ควังจู (Gwangju Massacre) อีก ฝ่ายตำรวจก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับกองทัพ คือ ไม่ต้องการใช้กำลังบังคับเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย
  • ประการที่สาม คือ สภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้นักการเมืองกลุ่ม Softliner เสนอว่า พรรคมีโอกาสรักษาอำนาจไว้ได้แม้ว่าจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องจากการที่โนแทอูจากพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ
  • ประการสุดท้าย คือ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจัดขึ้นในกรุงโซล ในปี ค.ศ. 1988 ทำให้ช็อนดูฮวานและรัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงภายในและภาพลักษณ์ไม่ดีต่อนานาชาติ

ในปี ค.ศ. 1987 กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มเป็นกลางเป็นฝ่ายแข็งแกร่งกว่ารัฐบาล เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย หนึ่ง ชนชั้นกลางที่อยู่ในกลุ่มเป็นกลางและไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่คุกคามและกระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่ม สอง สื่อและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม แต่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือที่จะส่งผลให้อภิสิทธิ์ที่ตนมีถูกลดทอนลงไป สาม สหรัฐอเมริกา สนับสนุนให้เกิดระบอบประชาธิปไตยตราบเท่าที่เสถียรภาพภายในเกาหลีไม่ถูกคุกคาม ตัวแทนของสหรัฐฯเข้าพบเหล่าผู้นำของพรรคฝ่ายค้าน และแสดงจุดยืนชัดเจนว่า สหรัฐฯจะต่อต้านการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมือง สี่ กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่เกิดการแบ่งแยกภายในกลุ่ม ระหว่าง กลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นกลาง นำโดย กลุ่ม 3 คิม คือ คิมแดจุง (Kim Dae-jung) คิมยองซัม (Kim Young-sam) และคิมจงพิล (Kim Jong-pil) ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมาย คือ ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหัวรุนแรง เช่น กลุ่มนักศึกษา กลุ่มแรงงาน และกลุ่มศาสนา

และวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1987 การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กับการเข้าสู่สาธารณรัฐที่ 6 ของเกาหลีใต้ โนแทอูชนะการเลือกตั้งหลังจากขับเคี่ยวอย่างดุเดือดกับผู้สมัครจากกลุ่ม 3 คิม และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่มาโดยวิธีการเลือกตั้งโดยตรง

ผลคือระบบการเมืองเกาหลีใต้เปลี่ยนจากระบบรัฐสภาเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา โดยให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงทุกๆ 5 ปี และเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 4 ปี ข้อกำหนดนี้ทำให้ประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระไม่พร้อมกัน แต่ก็ทำให้คณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ไม่ได้มาจากสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ทำให้ฝ่ายบริหารไม่ต้องตอบแทนพรรคด้วยการให้ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี แม้ฝ่ายบริหารและเสียงส่วนใหญ่จากฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากพรรคเดียวกันก็ตาม แต่ระบบนี้อาจทำให้เกิดภาวะความยากลำบากในการบริหาร เมื่อประธานาธิบดีกับเสียงข้างมากในสภามาจากคนละพรรค

การเดินขบวนประท้วงของคนเกาหลี

การเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อผลักดันวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับใดถือเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองเกาหลีมาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ประชาชนเกาหลีใช้ช่องทางนี้แสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ประท้วงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง จนถึงการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ ดังที่เราเห็นในเส้นทางสู่ประชาธิปไตยอันขรุขระของเกาหลีแล้วว่า การมุ่งสู่ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมีประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ไม่ใช่ปล่อยให้การตัดสินใจเรื่องนโยบายหรือการเมืองจำกัดอยู่เฉพาะกับชนชั้นนำ

การเมืองบนท้องถนนเป็นช่องทางการขับเคลื่อนและแสดงออกทางการเมืองของคนเกาหลีมาอย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จ หากย้อนออกไปช่วงก่อนหน้าจะเป็นสองเกาหลีอีกสักนิด คนเกาหลีเดินประท้วงเก่งกันมาตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แน่นอนว่าวาระในตอนนั้น คือ การเรียกร้องเอกราชให้ประเทศ

การเดินประท้วงหยั่งรากลึกลงในการเมืองแบบเกาหลี รีซึงมัน (Rhee Syng-man) ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ ที่วางแผนจะออกกฎหมายเพื่อเอื้อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศได้ตลอดชีวิตก็ต้องลงจากอำนาจเพราะเกิดการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่จากประชาชน แม้แต่ในช่วงเวลาที่ระบอบอำนาจนิยมเข้มข้นและแข็งแกร่ง อย่างในสมัยของพัคจองฮีและช็อนดูฮวาน ก็ยังไม่อาจต้านแรงกดดันจากการเดินขบวนประท้วงอย่างกว้างขวางที่นำโดยนักศึกษา นักวิชาการ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังมีชนชั้นรากหญ้าที่เป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวจนโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ในปี ค.ศ. 1987 (Lee 2017: 9)

หลังจากเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ ความแข็งแกร่งของการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบนี้ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไป ทั้งยังได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยเกาหลี โดยมีการจัดแสดงเรื่องราวการประท้วงดวงเทียนจรัสแสง (candlelight vigils) ในนิทรรศการของบลูเฮ้าส์ หรือ ชองวาแด (Cheongwadae – Blue House) อันเป็นสำนักประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ด้วย

ขบวนการแรงงานที่แม้จะไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก เดินประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานในปี ค.ศ. 1987 และ 1997 คนเกาหลีเดินประท้วงเพื่อต่อต้านนักการเมืองคอร์รัปชั่นในปี ค.ศ. 2000 เดินขบวนต่อต้านความล้าสมัยของการมีฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศเกาหลีในปี ค.ศ. 2002 การต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่และต่อต้านการนำเข้าเนื้อจากอเมริกาเพราะการระบาดของเชื้อวัวบ้าในปี ค.ศ. 2008 รวมถึงการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีพัคกึนฮเย (Park Geun-hye) ลาออกในช่วงปี ค.ศ. 2016-2017 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการชุมนุมอย่างสงบโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ก็ล้วนผ่านช่องทางการชุมนุมประท้วงทั้งสิ้น ประสบการณ์ประท้วงหลายทศวรรษของคนเกาหลีก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเรื่องการประท้วงของกลุ่มประชาสังคมเกาหลี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแสดงที่โดดเด่นในกระบวนการทางการเมืองของประเทศ (Lee 2014) และการหมั่นชุมนุมและเดินประท้วงทุกสุดสัปดาห์นี่เองที่เปลี่ยนจัตุรัสควังฮวามุน (Gwanghwamun Square) จากแลนด์มาร์คกลางเมืองให้เป็น “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ขนาดใหญ่ที่มีประชาชนนับล้านคนมาเดินขบวนและชุมนุมประท้วงในวาระและประเด็นต่างกันออกไป โดยมีให้เห็นทุกๆ สุดสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงที่ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางจนเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมเกาหลีใต้สะท้อนความแข็งแกร่งของภาคประชาสังคม แต่อีกทางหนึ่งก็สะท้อนความอ่อนแอในการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน (weak party institutionalization) ความอ่อนแอนี้ทำให้ตัวกลางที่มีหน้าที่ประนีประนอมระหว่างรัฐและประชาสังคมขาดหายไปจากระบบ และอาจเป็นจุดอ่อนในระบอบประชาธิปไตยแบบเกาหลี

การขาดหายของสถาบันตัวกลางที่มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนอย่างกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองเป็นปัจจัยที่ใช้อธิบายได้อย่างดีว่า เหตุใดความไม่พอใจของสังคมต่อรัฐจึงออกมาในรูปแบบการเดินประท้วงบนท้องถนน (Oh 2012) สถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถจัดหาหรือเป็นช่องทางการเรียกร้องความต้องการของสังคมและส่งต่อไปสู่รัฐได้ ส่งผลให้ประชาชนต้อง “ลงถนน” เพื่อให้รัฐบาลรับฟังข้อเรียกร้องของตน แม้ว่าภาคประชาสังคมเกาหลีจะแข็งแกร่งมาก แต่การเคลื่อนไหวของประชาสังคมเกาหลีส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ใหญ่และกว้างอย่างการปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปสังคม ไม่ได้เคลื่อนไหวในประเด็นเฉพาะ และการมีทัศนคติในแง่ลบต่อกลุ่มผลประโยชน์ ทำให้ประชาสังคม (civil society) และกลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) ที่ควรจะทำหน้าที่เป็นสถาบันตัวกลางเกิดความไม่ลงรอยกัน ส่งผลให้การขับเคลื่อนประเด็นย่อยไม่มีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองก็คลอนแคลนไม่แตกต่างจากประชาสังคมนัก ความต้องการของประชาชนจึงไม่มีที่ทางให้แสดงออก

พรรคการเมืองเกาหลีนั้นสลายตัวง่าย ยุบง่าย และเปลี่ยนชื่ออยู่บ่อยครั้ง ช่วงอายุเฉลี่ยของพรรคการเมืองเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 5 ปีเท่านั้น (Lee 2009) ทั้งยังขาดความแข็งแกร่งทางอุดมการณ์และความหลากหลายของนโยบาย ผลที่ออกมา คือ ประชาชนไม่มีทางเลือกเรื่องนโยบายมากนัก และไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์กับพรรคการเมือง (Kim 2009: 19-20) เพราะฐานการสนับสนุนจากมวลชนมักจะผูกติดอยู่กับผู้นำพรรค หรือ ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคนั้นๆ มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม 3 คิม (คิมยองซัม คิมแดจุง คิมจงพิล) พรรคการเมืองเกาหลีจึงมักพึ่งพาผู้นำพรรคมากกว่าที่นักการเมืองจะพึ่งพาพรรคการเมือง

เงื่อนไขทางโครงสร้างที่สำคัญที่ส่งผลให้พรรคการเมืองเกาหลีใต้อ่อนแอในด้านความเป็นสถาบัน คือ การแบ่งแยกทางสังคม (Social Cleavage) ที่มาในรูปแบบของภูมิภาคนิยม (Regionalism) แบ่งแยกเป็นภูมิภาคฮอนัม (Honam) อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และภูมิภาคยองนัม (Youngnam) ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นความขัดแย้งเรื้อรังมาตั้งแต่อดีต และมีผลใหญ่หลวงต่อรูปแบบและพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งประธานาธิบดี การแบ่งแยกทางสังคมแบบภูมิภาคนิยมนี้ทำให้พรรคการเมืองขาดแรงกระตุ้นในการเข้าหาเพื่อร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์เพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างเป็นระบบและเป็นทางการ เพราะพรรคการเมืองจะห่วงแต่การรักษาและเพิ่มคะแนนเสียงในภูมิภาค มากกว่าการพยายามสร้างฐานเสียงที่มาจากกลุ่มปัญหาและประเด็นทางสังคม ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จึงกล่าวได้ว่า พรรคการเมืองที่เป็นอีกหนึ่งสถาบันตัวกลางขาดความแข็งแกร่งในแง่ของการเป็นสถาบัน

สรุปว่าในเกาหลี สถาบันตัวกลางทั้งสองรูปแบบ คือ พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ยังขาดการพัฒนาและขาดความเป็นสถาบัน ผลประโยชน์ของสังคมจึงไม่ถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาและกำหนดนโยบายระดับชาติผ่านตัวแสดงที่เป็นรัฐและพรรคการเมืองได้ ทำให้กลุ่มที่เรียกร้องไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องและกดดันให้ภาครัฐออกนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการให้ได้

ภาคประชาสังคมทำให้การจัดการปกครองแบบประชาธิปไตย (democratic governance) แข็งแกร่งขึ้นด้วยการสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ปัจเจกชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนเพื่อเป็นพลเมืองประชาธิปไตย พวกเขาจะนำเสนอผลประโยชน์และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับประชาสังคม (Putnam 1993) ประชาสังคมเกาหลีที่แข็งแกร่งและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของขนาดและจำนวน และยังทำหน้าที่ผลักดันค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตยมากว่า 3 ทศวรรษ ทำให้ภาคประชาสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ดำเนินมาอย่างมั่นคงหลังจากการเปลี่ยนผ่านในปี ค.ศ. 1987

อย่างไรก็ดี การเติบโตและความแข็งแกร่งของประชาสังคมเกาหลีอาจนำความท้าทายมาสู่การจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยในระยะยาว (Oh 2012: 542) ประกอบกับสภาวะการขาดหายของสถาบันตัวกลางดังที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมอาจก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพและลดความสำคัญของสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ เช่น ในเกาหลี เมื่อพรรคการเมืองไม่ได้เสนอนโยบายที่แตกต่างกันมากนักและบีบให้ประชาชนไม่มีตัวเลือก ประชาชนก็พร้อมลงถนนเพื่อเรียกร้องด้วยตนเองโดยไม่ผ่านพรรคการเมืองหรือสถาบันในระบบ นั่นยิ่งจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและด้อยความสำคัญลงไปอีก และพรรคการเมืองที่อ่อนแอก็จะส่งผลในด้านลบต่อการก่อตั้งกลุ่มผลประโยชน์ เพราะกลุ่มผลประโยชน์ไม่เห็นว่าคู่เจรจาจะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะผลักดันประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นจริงขึ้นมาได้

แม้ว่าการเดินขบวนประท้วงของมวลชนที่มีฐานจากปัญหาทางโครงสร้างจะประสบความสำเร็จมาหลายครั้งจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประชาธิปไตยแบบเกาหลี แต่การเมืองบนท้องถนนดังกล่าวยังจำกัดการเสริมสร้างพลังทางการเมืองของพลเมืองเกาหลี การประท้วงและเดินขบวนของประชาชนนั้นชัดเจนว่าเป็นการเปิดพื้นที่และให้โอกาสแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมและแสดงออกทางการเมือง แต่การขับเคลื่อนพลังมวลชนใหญ่ๆ ในเกาหลียังมีปัญหาเรื่องการขาดแกนนำและเอกภาพทางอุดมการณ์ สิ่งเดียวที่รวมประชาสังคมและผู้คนจำนวนมากเอาไว้ด้วยกันคือ จุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับนโยบายรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่มีเป้าหมายและความคิดที่แข็งแกร่งพอที่จะนำไปสู่การผลักดันและเสนอนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มเรื่องเป้าหมายสูงสุดของการประท้วงทำให้การเคลื่อนไหวไม่ได้ส่งอิทธิพลหรือผลกระทบในด้านนโยบายมากนัก นอกจากนี้ กลุ่มประชาสังคมและประชาชนไม่มีช่องทางที่จะเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการ และการไม่ถูกรวมเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการนี่เองที่จำกัดอำนาจของประชาชนและประชาสังคมจากการกำหนดหรือตรวจสอบนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในระยะยาว หากยังไม่มีทางออกเรื่องการขาดความเป็นสถาบันของความร่วมมือระหว่างรัฐและสังคม อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาธิปไตยในเกาหลีได้

เส้นทางประชาธิปไตยเกาหลีไม่ได้ราบรื่นนักเช่นเดียวกับทุกประเทศ หลังจากเผชิญสงคราม เกาหลีใต้เสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อการก่อร่างสร้างประเทศจนพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนแทบจำสภาพตอนสิ้นสุดสงครามเกาหลีไม่ได้ ในด้านการเมือง เกาหลีออกจากร่มเงาเผด็จการมาได้ร่วม 3 ทศวรรษ ข้ามผ่านผู้นำที่เป็นเผด็จการทหารมาได้สองคน (ค.ศ. 1961-1987) และกองทัพก็ไม่เข้ามายุ่มย่ามเรื่องการเมืองอีกเลยนับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่าน ภาคประชาชนและประชาสังคมของเกาหลีที่เป็นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งมาก การชุมนุมประท้วงที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนก็ได้รับความนิยมจนกลายเป็นภาพจำของระบอบประชาธิปไตยแบบเกาหลี

เมื่อเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ การเมืองเกาหลีใต้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างภาคประชาสังคมที่เข้มแข้งกับกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองที่ขาดความเป็นสถาบัน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคต ระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่เพิ่งมีอายุ 30 ปีนั้นจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

* ผู้เขียนขอขอบพระคุณ Assoc. Prof. Jennifer Sejin Oh ผู้วางพื้นฐานความรู้ด้านการเมืองเกาหลีและเอเชียตะวันออกแก่ผู้เขียนมา ณ ที่นี้


รายการอ้างอิง

  • Kang, David C. Crony Capitalism: Corruption and Development in South Korea and the Philippines. Cambridge: Cambridge University Press, 2002.
  • Haggard, Stephan, Richard N. Cooper, and Susan Collins. “Understanding Korea’s Macroeconomic Policy.” In Macroeconomic Policy and Adjustment in Korea, by Stephan Haggard et al. Cambridge, MA: Harvard University Press, 1994.
  • Mo, Jongryn, and Barry R. Weingast. Korean Political Economy and Economic Development: Crisis, Security, and Institutional Balancing. Cambridge, MA: Harvard University Asia Center, 2013.
  • Campos, José Edgardo, and Hilton L. Root. The Key to the Asian Miracle: Making Shared Growth Credible. Washington, DC: Brookings Institution, 1996.
  • Lipset, Seymour Martin. Political Man. Baltimore: John Hopkins University Press, 1959.
  • Yonhap. The Korea Herald. June 10, 2020. http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200610000329 (accessed June 10, 2020).
  • Lee, Yoonkyung. “Popular Reset: South Korea Democracy in the Post-Park Era.” Global Asia 12, no. 2 (2017): 8-13.
  • Lee, Yoonkyung. “Political Parties and Social Movements: Patterns of Democratic Representation in Korea and Taiwan.” Asian Survey 54, no. 3 (2014): 419-444.
  • Oh, Jennifer S. “Strong State and Strong Civil Society in Contemporary South Korea: Challenges to Democratic Governance.” Asian Survey 52, no. 3 (2012): 528-549.
  • Oh, Jennifer S. “Democratic Transition and the Political Economy of East Asian Capitalism.” Presented at Class of East Asian Development, Graduate School of International Studies, Ewha Womans University. November 2, Seoul, Republic of Korea, 2017.
  • Lee, Yoonkyung. “Democracies without Parties? Political Parties and Social Movements for Democratic Representation in Korea.” Korea Observer 40, no. 1 (2009): 27-52.
  • Kim, Sunhyuk. “Civic Engagement and Democracy in South Korea.” Korea Observer 40, no. 1 (2009): 1-26.
  • Putnam, Robert. Making Democracy Work: Civic traditions in Modern Italy. Princeton: Princeton University Press, 1993.

ประวัติผู้เขียน

ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร

จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Graduate School of International Studies (GSIS) มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ประเทศเกาหลีใต้ สนใจการเมืองเอเชียตะวันออกและเกาหลี ปัจจุบัน เป็นนักวิจัยที่สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk