ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ต่อผู้เลือกตั้งชนบท

เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปีจะมีการรำลึกถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 คน1 แม้ว่าการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อพลเมืองของตนเองในครั้งนั้นจะถือเป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของพลเมืองไทยมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย แต่กลับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้รับการกล่าวถึง/ระลึกถึงอย่างกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะฝักฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมการเมืองไทยยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่าจะจัดวางเหตุการณ์นี้ลงในความทรงจำร่วมของสังคม (collective memory) อย่างไร อย่างไรก็ตามหลังจากที่การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎร 2563 ได้มีการกล่าวถึง-เชื่อมโยงถึง-และกล่าวขอโทษคนเสื้อแดง2 ก็ส่งผลให้การรำลึกถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ในเดือนเมษายน 2564 มีความคึกคักและกระทำกันในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สังคมออนไลน์

     การรำลึกถึงคนเสื้อแดงของกลุ่มราษฎร 2563 ตลอดการชุมนุมของพวกเขาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 ส่งผลให้เกิดการทำความเข้าใจคนเสื้อแดงใหม่3 การกระทำทางการเมืองของคนเสื้อแดงจะถูกอธิบายว่ามีคุณค่าและมีส่วนนำพาสังคมการเมืองไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสอดคล้องกับครรลองของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ม็อบรับจ้าง หรือคนโง่ จน เจ็บ ดังที่เคยถูกมองเห็นในช่วง 10 กว่าปีก่อน นอกจากนี้ยังเกิดการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ที่ยั่วล้อต่อสิ่งที่คนเสื้อแดงเคยถูกเหยียดหยาม เช่น คำว่า “ควายแดง” ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่เคยถูกใช้เพื่อลดทอนความสามารถในการใช้เหตุผลและการตัดสินใจทางการเมืองของคนเสื้อแดง กลับถูกหยิบมาใช้เป็นชื่อกลุ่มในสังคมออนไลน์-ควายแดงมาร์เก็ตเพลส เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ความเป็นคนเสื้อแดง หรือ “ควายแดง” สามารถเชิดหน้าอย่างภาคภูมิใจในสถานะของตนเองได้มากที่สุดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม แม้คนเสื้อแดงจะ “ได้รับเกียรติยศ” ดังคำบอกเล่าและตีความของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดงคนสำคัญ ที่ว่า “คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นคนกลุ่มแรกที่หยิบยื่นความเข้าใจ ความเห็นใจ และเกียรติยศให้แก่คนเสื้อแดง เป็นคนกลุ่มแรกที่ตะโกนเรียกคนเสื้อแดงกลางท้องถนน”4 แต่วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ที่เคยถูกใช้เป็นฐานความชอบธรรมในการผลักคนเสื้อแดงออกจากปริมณฑลทางการเมืองของรัฐไทยกลับยังคงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง หากแต่เป้าหมายของวาทกรรมนี้อาจจะย้ายจากคนเสื้อแดงไปยังคนชนบท หรือชนชั้นกลางระดับล่างกลุ่มอื่น ๆ แทน บทความนี้จึงต้องการพาผู้อ่านไปสำรวจว่าปฏิบัติการทางการเมืองของวาทกรรมนี้ทรงพลังในการกีดกันและลดทอนความชอบธรรมของผู้เลือกตั้งชนบทและชนชั้นกลางระดับล่าง หรือกระทั่งเป็นฐานความชอบธรรมให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ได้มากเพียงใด

ความรุนแรงทางวัฒนธรรม

     โยฮัน กัลตุงจำแนกความรุนแรงออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) ความรุนแรงทางตรง (direct violence) ซึ่งหมายถึง ความรุนแรงที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายและมีผู้กระทำเป็นที่มาของความรุนแรง (2) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) ที่อธิบายอย่างรวบรัดได้ว่าหมายถึง ความรุนแรงที่ถูกสร้างขึ้นและดำรงอยู่ในโครงสร้างและปรากฏออกมาในรูปของอำนาจที่ไม่เสมอกัน เป็นความรุนแรงที่อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ และส่งผลให้โอกาสแห่งชีวิตของมนุษย์แต่ละคนไม่เสมอกันไปด้วย และ (3) ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) ซึ่งหมายถึง ความรุนแรงที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในลักษณะที่วัฒนธรรมนั้นทำหน้าที่เป็นฐานความชอบธรรมให้กับความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และเป็นความรุนแรงที่อยู่ในระดับที่ลึกและเปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด5

     หากพิจารณาวาทกรรมโง่ จน เจ็บ จากกรอบนี้ จะพบว่าวาทกรรมดังกล่าวซึ่งถูกประกอบสร้างและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยวงการวิชาการ สื่อมวลชน ละคร วรรณกรรม หรือเพลง ฯลฯ ได้ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อผู้เลือกตั้งในชนบท และผู้เลือกตั้งที่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง หรือคนเสื้อแดงด้วย

วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ”: การประกอบสร้าง และปฏิบัติการ

     สำหรับแวดวงวิชาการนั้น นับตั้งแต่การเลือกตั้งค่อย ๆ กลายเป็นสถาบันการเมืองอันชอบธรรมในการได้มาซึ่งผู้แทนและผู้ปกครองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ราวกลางทศวรรษ 25106 การเลือกตั้งและผู้เลือกตั้งก็กลายเป็นหน่วยในการศึกษาวิเคราะห์ที่สำคัญของชุมชนวิชาการไทยศึกษา โดยเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งของการศึกษาวิจัยคือการบ่งชี้ปัญหาหรืออุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยและเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ข้อค้นพบที่สำคัญร่วมกันของชุมชนวิชาการในช่วงทศวรรษ 2510-2530 คือ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยคือ ผู้เลือกตั้งในชนบท ซึ่งมีลักษณะ “โง่ จน เจ็บ” และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจนไม่สามารถที่จะตัดสินใจทางการเมือง “อย่างมีคุณภาพ” ตามที่สังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงคาดหวังจากพลเมืองของตน7 ตามฐานคิดของทฤษฎีการทำให้ทันสมัยที่เชื่อว่าชนชั้นกลางเป็นฐานที่มั่นของการพัฒนาประชาธิปไตย และการศึกษา (ในระบบ) เป็นเครื่องมือสำคัญในการ “พัฒนา” ให้ชนชั้นล่างให้กลายเป็นชนชั้นกลาง8 โดยไม่ได้ตั้งคำถามกับกรอบคิดนี้ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การศึกษาอาจไม่ใช่เครื่องมือใน “พัฒนา” แต่อาจเป็นเพียงวิธีหนึ่งท่ามกลางวิธีการมากมายที่จะช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้สมาชิกของสังคมการเมือง “เปลี่ยน” ไปจากเดิม ดังนั้นคนที่ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาจึงไม่ใช่ผู้ที่ไม่พัฒนา หรือด้อยพัฒนา หากแต่คือคนที่ไม่ได้ถูกระบบการศึกษาทำให้เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง กระนั้นพวกเขาทั้งหลายก็ยังถูกกระบวนการอื่น ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนไปในลักษณะอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังที่งานวิจัยจำนวนมากอธิบายการกระทำและการตัดสินใจทางการเมืองของผู้คนในชนบทว่ามีความสลับซับซ้อน มีชุดเหตุผลรองรับ และมีพลวัตไม่ต่างไปจากชนชั้นกลางในเมือง เพียงแต่ชุดเหตุผลนั้นอาจจะต่างกัน ดังที่งานวิชาการด้านไทยศึกษาที่ผลิตออกมาในช่วงทศวรรษ 2550 พยายามอธิบาย9

     อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนงานวิชาการเหล่านั้นจะยังไม่สามารถเอาชนะวาทกรรม โง่ จน เจ็บ ที่ถูกประกอบสร้างและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องได้ ภาพของผู้เลือกตั้งในชนบทภายใต้วาทกรรมนี้มิได้ปรากฏอยู่เฉพาะในชุมชนวิชาการเท่านั้น แต่มีลักษณะเป็น “ความเชื่อร่วมกัน” ของสังคมไทยในวงกว้าง ทั้งในข่าวสาร วรรณกรรม บทเพลง ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ที่มักนำเสนอภาพของสังคมชนบท หรือผู้คนในชนบท (และในปัจจุบันอาจรวมไปถึงภาพของชนชั้นกลางระดับล่างที่อยู่ในเมืองด้วย) ให้มีลักษณะที่ไม่ต่างจากชนบทในทศวรรษ 2510 กล่าวคือ หากไม่ได้เป็นชนบทที่ยากไร้ ถูกรังแกเอารัดเอาเปรียบ ขาดความรู้และความอิสระ แต่มีความซื่อสัตย์ภักดีต่อผู้ให้การอุปถัมภ์ ก็จะเป็นชนบทที่ชวนฝัน เชื่องช้า ผู้คนมีน้ำใจใสซื่อ และเป็นที่สถิตแห่งคุณค่าความเป็นไทยในอดตีอันชวนโหยหา โดยไม่มีภาพของการแข็งขืนต่อรองต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุน ราวกับว่าตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาแม้ทั้งโลกและสังคมไทยจะล้วนเปลี่ยนแปลงไปมากมายมหาศาลเพียงไร แต่มีเพียงชนบท หรือ “ภาพของชนบท” เท่านั้นที่กลับไม่เคยเปลี่ยนไปเลย10

     ภาพแทนแบบเหมารวมและหยุดนิ่งของชนบทไทยและผู้เลือกตั้งในชนบทได้ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนกลายเป็นการสถาปนา “ความจริง” เกี่ยวกับชนบทและผู้เลือกตั้งในชนบทที่มีลักษณะอกาลิโก กล่าวคือ เป็นความจริงที่จริงแท้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2510 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และ “ความจริง” ชุดนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือลดทอนความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้เลือกตั้งในชนบท และถูกใช้เป็นฐานรองรับความชอบธรรมของกิจกรรมการเมืองจำนวนหนึ่ง เช่น

          – การออกแบบโครงสร้างการเมืองที่มุ่งปรับสมดุลทางอำนาจระหว่างผู้เลือกตั้งในชนบทและผู้เลือกตั้งในเมืองของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ นำเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (List Proportional System) มาใช้ เพื่อหวังให้มันทำหน้าที่รวมเสียงของคนเมืองที่แตกกระสานซ่านเซ็นอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นกลุ่มก้อนที่มีความหมายในการเลือกตั้ง และสามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรได้11

          – การใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทที่ผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเชื่อว่าพวกเขาเป็น “ม๊อบรับจ้าง” ผู้ไม่ประสีประสาทางการเมือง และไม่ได้เจตจำนงอิสระตามครรลองของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย12

          – การชุมนุมทางการเมืองและการปิดล้อมคูหาเลือกตั้งของผู้ชุมนุม กปปส. ที่มุ่งลดทอนความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ภายใต้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ที่วางอยู่บนฐานของความไม่ไว้วางใจในการตัดสินใจเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย13 จนนำมาสู่การรัฐประหารในปี 2557

ออกจากวาทกรรม: คืนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองให้คนไทยทุกกลุ่ม

     แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎร 2563 และความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จะส่งผลให้มีการตีความบทบาททางการเมืองของคนเสื้อแดงเสียใหม่ แต่วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” และมายาคติเกี่ยวกับการซื้อเสียงซึ่งเป็นผลผลิตจากปฏิบัติการของวาทกรรมนี้กลับยังคงทำงานอยู่ต่อไป ผู้เขียนพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี 2563 วาทกรรมนี้ยังคงถูกนำมาใช้อธิบายชัยชนะของบรรดาเจ้าพ่อ หรือตระกูลการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมรัฐบาล ว่าเป็นผลมาจากการตัดสินใจเลือกตั้งอย่างไม่เป็นอิสระของผู้เลือกตั้งในชนบท หรือชนชั้นกลางระดับล่าง

     ดังนั้น สำหรับผู้เขียนแล้วการปลดปล่อยคนเสื้อแดงจากพันธนาการทางวัฒนธรรมที่เคยกดทับและเหยียดหยามพวกเขาที่ดีที่สุดคือการก้าวให้พ้นวาทกรรมโง่ จน เจ็บ นี้ให้ได้ เพื่อคืนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองให้แก่คนไทยทุกกลุ่ม ไม่ว่าพวกเขาจะมีชุดเหตุผลในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร เพื่อลดโอกาสที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในสังคมการเมืองไทยจะต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับที่คนเสื้อแดงเคยประสบ เพราะความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่คนเสื้อแดงเคยประสบ มีวาทกรรมชุดนี้เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่คอยค้ำจุนให้ความชอบธรรมแก่มันอยู่นั่นเอง


อ้างอิง
[1] ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.). ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน – พฤษภาคม 2553. กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.
[2] “นิสิตจุฬาฯ อ่านบทกวี ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติ ยกเสื้อแดง สู้เพื่อปชต.”, มติชนออนไลน์, 14 สิงหาคม 2563, เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/politics/news_2307766
[3] แม้ว่าจะมีงานวิชาการศึกษาเกี่ยวกับคนเสื้อแดงเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา แต่งานเหล่านี้อาจจะยังไม่เผยแพร่ออกไปนอกชุมชนทางวิชาการมากนัก

[4] “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศเคียงข้างแกนนำ “ราษฎร””, บีบีซีไทย, 30 มีนาคม 2564, เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.bbc.com/thai/thailand-56574322.
[5] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา, 2557.

[6] เกษียร เตชะพีระ. “ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย”. ใน กาญจนี ละอองศรี, ธเนศ อาภรณ์สุรรณ (บ.ก.). กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2544.

[7] ประจักษ์ ก้องกีรติ (บก.). การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2555.

[8] อภิชาติ สถิตนิรามัย และอนุสรณ์ อุณโณ. รายงานวิจัย “การเมืองคนดี”: ความคิด ปฏิบัติการและอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย”. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2560.

[9] โปรดพิจารณางานวิชาการที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างแหลมคม ได้แก่ Nishizaki, Y. Political authority and provincial identity in Thailand: The making of Banharn-buri. New York: Cornell Southeast Asia Program Publications, 2011., Sopranzetti, Claudio. “Burning red desires: Isan migrants and the politics of desire in contemporary Thailand”. South East Asia Research, 20, 3, pp 361-379., แอนดรู วอล์คเกอร์. ชาวนาการเมือง อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย. (จักรกริช สังขมณี. ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2559., ประจักษ์ ก้องกีรติ. อ้างแล้ว, 2555. และ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, และนิติ ภวัครพันธุ์.  โครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2556.

[10] ตัวอย่างละครโทรทัศน์ เช่น มนต์รักลูกทุ่ง (2538, 2548 และ 2553), ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (2552), ลูกสาวกำนัน (2552) หรือแม้แต่ภาพยนตร์สั้นประกอบเพลงแม่เกี่ยว ของปาล์มมี่ อีฟ ปานเจริญ (2561)

[11] เอนก เหล่าธรรมทัศน์. สองนคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2550. และ เกษียร เตชะพีระ. บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ ไทย-อเมริกัน. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547.

[12] หทัยรัตน์ พหลทัพ. “พฤษภาฯ เลือดปี’53(11) – สงครามถ้อยคำกับวาทกรรม “ควายแดง””, เดอะอีสานเรคคอร์ด, 12 พฤษภาคม 2563 เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://theisaanrecord.co/2020/05/12/ten-years-after-april-may-2010-11-thai/
[13] ประจักษ์ ก้องกีรติ. “กระสุน ควันระเบิด การปะทะมวลชน และคูหาเลือกตั้ง”. ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ. ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2558.


ประวัติผู้เขียน

อ.ชาลินี สนพลาย
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : การเมืองท้องถิ่น, กีฬากับการเมือง, การเมืองของการเลือกตั้ง


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม http://www.polsci.tu.ac.th/direk