Book Review: ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่และขบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง

บทนำ

“ตายสิบเกิดแสน” เป็นความคิดที่ถูกอ้างถึงเสมอในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อเผชิญหน้ากับการปราบปรามของรัฐอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อปลุกปลอบใจหรือเชื่อมั่นอย่างแท้จริง ในเวลาเดียวกัน “ปราบปรามให้หนัก” กลายเป็นความคิดที่ไหลเวียนในผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของรัฐที่เชื่อว่า การใช้ความรุนแรงหรือปราบปรามอย่างหนักจะหยุดยั้งการต่อต้านได้ ความคิดทั้งสองแบบนี้เป็นสองด้านของข้อถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวกับผู้มีอำนาจ นั่นคือ การปราบปรามกดขี่ (Repression) และผลสะท้อนกลับในทางลบ (Backfire) หรือความย้อนแย้ง (Paradox)  ปัจจุบันประเด็นเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างมากในการศึกษาปฏิบัติการไร้ความรุนแรง/การต่อต้านอย่างอารยะ (civil resistance)

หนังสือ The Paradox of Repression and Nonviolent Movements (2018) ซึ่งมี เลสเตอร์ อาร์. เคิร์ตซ์ (Lester R. Kurtz) และลี เอ. สมิธตี (Lee A. Smithey) เป็นบรรณาธิการ เล่มนี้จะช่วยเปิดโลกให้ผู้อ่านเข้าใจการทำงาน  อำนาจ และความเป็นไปได้ของการไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับผู้มีอำนาจซึ่งมีทรัพยากรที่เหนือกว่าและใช้ความรุนแรงในการกดขี่ปราบปรามอย่างลึกซึ้งและรอบด้านขึ้น โดยรวบรวมบทความที่หลากหลายมิติและมุมมอง 12 ชิ้น จากนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยมายาวนานและนักกิจกรรม(ผู้เขียนบางส่วนเป็นทั้ง 2 อย่าง) ที่ถ่ายทดประสบการณ์แบบ “มือหนึ่ง” ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยตรง ด้วยองค์ประกอบแบบนี้ทำให้หนังสือสามารถนำเสนอได้ทั้งกรอบทฤษฎีและมโนทัศน์ที่สำคัญจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวจากกรณีศึกษา

หนังสือสามารถแบ่งตามเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก (บทที่ 1-5) มุ่งไปที่ด้านต่างๆ และกรณีศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเข้าใจภูมิทัศน์ของความย้อนแย้งได้ดีขึ้นกว่าการศึกษากรณีศึกษาเล็กๆ ที่ตัดขาดจากกัน ที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานวิชาการและเรื่องเล่าขานของนักกิจกรรม โดยให้ภาพรวมเชิงแนวคิดและประจักษ์  ประสานงานเชิงปริมาณและคุณภาพเข้าด้วยกัน ส่วนที่สอง (บทที่ 6-11) “การจัดการบริหารปราบปรามกดขี่ (repression management)” เป็นการกลับไปศึกษาว่า ผู้ต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง-รวมถึงตัวแทนของผู้ปราบปรามกดขี่- พยายามกำหนดรูปแบบผลลัพธ์ของการปราบปรามอย่างไรเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

ด้วยการนำกรณีศึกษา การวิเคราะห์เชิงวิชาการ และการสะท้อนกลับของนักเคลื่อนไหวเองมาร่วมกันไว้นี้ จึงสามารถให้ความกระจ่างกับผู้อ่านว่าความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่ทำงานอย่างไรในหลากหลายบริบท และนักกิจกรรมสามารถจัดการบริหารการปราบปรามกดขี่ได้อย่างไรเพื่อที่จะทำให้เกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบหรือเพิ่มอำนาจให้กับการต่อต้าน  ในแง่นี้ หนังสือจึงเหมาะสำหรับ 1) นักวิชาการ/นักศึกษาที่สนใจศึกษาปฏิสัมพันธ์ของรัฐและขบวนการเคลื่อนไหว นำกรอบคิดมาอธิบายปรากฎการณ์ที่ตนเองสนใจ 2) นักกิจกรรมที่นำมาปรับใช้สร้างความเข้าใจพลวัตของการปราบปรามกดขี่ และใช้ประโยชน์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเอง

ด้วยเนื้อหาและบทความที่หลากหลาย เพื่อความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น และเชิญชวนผู้สนใจร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน นอกจากภาพภาพรวมของหนังสือแล้ว บทความปริทัศน์นี้จึงนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญ 2 ส่วน คือ (1) มโนทัศน์และคำอธิบายที่จำเป็นในการเข้าใจความย้อนแย้งหรือผลสะท้อนกลับในทางลบ (2) สรุปประเด็นหรือธีมสำคัญในการศึกษาการปราบปรามกดขี่จากงานเขียนทั้งหมดในเล่มนี้ ของบรรณาธิการ และตบท้ายด้วยภาคผนวก เนื้อหาหรือประเด็นของบทความแต่ละชิ้นสั้นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งสามารถแยกออกไปได้อย่างอิสระ)  

การปราบปรามกดขี่และความย้อนแย้ง

            การปราบปรามกดขี่ของรัฐและผลสะท้อนกลับในเชิงลบ

  ความคิดเรื่องความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่ (Paradox of Repression)มาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ว่า เมื่อผู้ใช้อำนาจความรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มักเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบหรือตรงกันข้าม (backfire) ส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบอ่อนแอลงและเปลี่ยนมติสาธารณะไปคัดค้านผู้มีอำนาจเสียเอง ดังนั้น จึงเรียกว่า “ย้อนแย้ง (Paradox)” เพราะยิ่งชนชั้นนำใช้อำนาจความรุนแรงเท่าไหร่ พลเมืองหรือฝ่ายที่สาม (third party) จะไม่พอใจมากขึ้นเท่านั้น และบางครั้งนำไปสู่ความแตกแยกในระบอบเองจากความไม่พอใจที่เกิดขึ้นภายใน

เคิร์ตซ์ และ สมิธตี ในบทนำของหนังสือ อธิบายว่า “การปราบปรามกดขี่ (Repression)” เป็นความพยายามของผู้ครองอำนาจในการบั่นทอนการระดม (demobilize) ผู้คัดค้านและขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านระบอบ บรรษัท หรือสถาบันที่มีอำนาจอื่น โดยนักวิชาการมักนิยามการปราบปรามกดขี่นี้แบบแคบ ว่าเป็นการลงโทษทางกายภาพหรือคุกคามต่อบุคคลหรือองค์กร ภายในอำนาจของรัฐของตน เพื่อสร้างต้นทุนให้กับเป้าหมาย ตลอดจนยับยั้งกิจกรรมและ/หรือความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกเชื่อว่าจะเป็นการท้าทายต่อปฏิบัติการ  สถาบัน หรือบุคลากรของฝ่ายปกครอง  แต่ผู้เขียนเสนอว่าควรเข้าใจในฐานะปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและกว้างกว่าการคุกคามหรือลงโทษทางกายภาพ โดยมองเป็นเส้นของความต่อเนื่องจากความรุนแรงที่โจ่งแจ้ง (overt violence) ทางฝั่งซ้ายมือ ซึ่งมักจะเห็นได้ชัดเจนและถูกกล่าวถึงอย่างมาก เช่น การทุบตี ทรมาน การยิงผู้ชุมนุมที่ไร้อาวุธ หรือการจับกุม ไปยังอีกฝั่งขวามือ ซึ่งเป็นการครอบงำทางความคิดหรือสถาปนาอำนาจนำ (Hegemony) ที่เป็นวิธีการทำลายการระดมจัดตั้งของขบวนการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพที่สุด (ดูรายละเอียดในหัวข้อถัดไป)

เขาเสนอว่า ความย้อนแย้งจะแสดงบทบาทหน้าที่ได้อย่างทรงพลังเมื่อผู้ท้าทายสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของความขัดแย้งที่มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์และแหล่งที่มาของอำนาจที่หลากหลายซับซ้อน กล่าวคือ ความขัดแย้งเป็นปฏิสัมพันธ์ (interaction) อันเป็นลักษณะธรรมชาติของมนุษย์และดำเนินไปโดยวิธีการที่หลากหลายตามสเปกตรัม ตั้งแต่รุนแรงที่สุดไปจนถึงสันติที่สุด การปราบปรามเป็นเพียงการแสดงออกของอำนาจแบบหนึ่งที่เชื่อว่าจะบดขยี้หรือป้องกันบรรเทาการกำเริบเสิบสานของคนไร้อำนาจได้ แต่หากพิจารณาจากมโนทัศน์ของยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ว่า อำนาจไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เกิดจากแหล่งที่มาอันหลากหลาย และแหล่งสำคัญ คือ ความยินยอมของผู้ถูกปกครองแล้ว จะพบว่าหากผู้ถูกปกครองปฏิเสธหรือเลิกกลัว อำนาจพวกเขาจะหายไป

การเข้าใจความขัดแย้งและอำนาจในลักษณะนี้ นอกจากจะเปิดให้เห็น “อำนาจ” ของผู้ถูกปกครองหรือผู้ไร้อำนาจ ความเป็นไปได้ของการต่อต้านแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า การปราบปรามอาจจะไม่บรรลุผล หากไม่ได้รับการยอมรับจากเป้าหมาย ผู้เฝ้ามอง (bystanders) จะเข้าใจโครงการของขบวนการเคลื่อนไหวใหม่เมื่อถูกขับไสจากชนชั้นสูง ชนชั้นนำท้องถิ่นอื่นจะตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของระบอบ และนำไปสู่ความย้อนแย้งหรือผลสะท้อนกลับในเชิงลบในที่สุด

การจำกัดความกลัว การเตรียมการเพื่อเอาชนะการปราบปราม

อย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่า การปราบปรามไม่ได้นำไปสู่ผลสะท้อนกลับในทางลบเสมอไป หลายครั้งสามารถบั่นทอนการระดมหรือกดปราบขบวนการเคลื่อนไหวได้จริง ดังนั้นคำถามคือ ในสถานการณ์แบบไหนที่การปราบปรามประสบความสำเร็จ และในสถานการณ์ใดที่ส่งผลตีกลับในทางลบ  โดยแต่ละทฤษฎีจะอธิบายแตกต่างกันออกไปและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และที่สำคัญสุด คือ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี (ที่ปฏิสัมพันธ์กับโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ระบอบ และสาธารณชน) ที่ขบวนการปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อสร้างความได้เปรียบ เขาเน้นว่า ความย้อนแย้งไม่ได้เกิดจากการหลีกเลี่ยงแต่เกิดจากความอดทน หรือบางครั้งกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ  โทสะของประชาชนที่เป็นผู้ดู แล้วผู้ดูเหล่านั้นรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าข้างผู้ถูกปราบปราม

ความย้อนแย้งนี้เปรียบเทียบได้กับศิลปะการต่อสู้ยูยิดสุ (jiu-jitsu) ซึ่งใช้น้ำหนักและโมเมนตัมของฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อล้มฝ่ายตรงกันข้าม ที่ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงสามารถใช้ทรัพยากร ความต้องการ วัฒนธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อเป็นประโยชน์ของตนเอง ในแง่นี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับ การจัดการรับมือกับการกดปราบ โดยเชื่อว่าองค์กรการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มความเป็นไปได้ของความย้อนแย้งผ่านการเตรียมการที่ดี รวมถึงการเตรียมพร้อมต้านทานการปราบปราม การหลีกเลี่ยงเป็นการชั่วคราว หรือออกแบบการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ เพื่อทำให้คนคลื่นไส้หรือรับไม่ได้เมื่อนักกิจกรรมได้รับความทุกข์ทน และการนำเสนอกรอบโครงความคิดหรือการตีความ (framing) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโทสะทางศีลธรรม (moral outrage) กับสาธารณชนก็เป็นสิ่งจำเป็น  

โดยสรุปกล่าวได้ว่า ลักษณะและการกระทำของผู้ท้าทายนั้นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างการปราบปรามกดขี่และการต่อต้านอย่างไร การปราบปรามจะบดขยี้ผู้ต่อต้านหรือสนับสนุนการระดมของขบวนการเคลื่อนไหวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่หลากหลายมากกว่าระดับการกดขี่ปราบปราม (the level of repression) บางส่วนอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มที่ท้าทาย เช่น การจัดตั้ง ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว ขอบเขตของวิธีการและการผสมผสาน เป้าหมายของการต่อต้านขัดขืน และการสื่อสารทั้งภายในขบวนการเองและกับบุคคลภายนอกหรือ “ฝ่ายที่สาม”

การปรับตัวของรัฐและการกดปราบอย่างเฉียบแสบ (smart repression)

นอกจากการขาดการจัดการบริหารที่ดีพอแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดผลสะท้อนกลับในทางลบคือ การมีรูปแบบการปราบปรามที่สลับซับซ้อนและเนียนขึ้น เพราะรัฐเองได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนอย่างโจ่งแจ้งแบบเดิม จึงนำไปสู่การใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การปราบปรามแบบเฉียบแสบ (Smart repression)” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างตรึกตรองอย่างดีเพื่อทำลายขบวนการ ขณะเดียวกันสามารถลดและกำจัดผลสะท้อนกลับในทางลบได้ด้วย  

  ดังนั้น เคิร์ตซ์ และ สมิธตี จึงเสนอให้เข้าใจการปราบปรามในรูปของเส้นที่ต่อเนื่องของความพยายามลดทอนการเคลื่อนไหวประท้วง (A Continuum of Demobilization) เริ่มจากฝั่งซ้ายสุดของเส้นเป็นการปราบปรามแบบจารีตเดิมซึ่งค่อนข้างรุนแรง ไปยังฝั่งขวาที่พยายามทำให้เกิดการปิดปากหรือเซ็นเซอร์ตัวเองในหมู่นักเคลื่อนไหวแทน โดยเผยแพร่เรื่องเล่าที่สนับสนุนผู้มีอำนาจและประชาชนทั่วไปรับมาเป็นของตนเอง (internalized) มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

               ความรุนแรงแบบโจ่งแจ้ง (Overt Violence) เป็นการใช้กำลังทางกายภาพ ทำให้เกิดบาดเจ็บ ล้มตาย หรือสูญเสียอิสรภาพ เช่น การทุบตี การใช้หมากัด การยิงให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต การลอบสังหาร การจับกุม วิธีการนี้สามารถทำให้ผู้ประท้วงพ้นไปจากท้องถนนได้ แต่มีเป้าหมายพื้นฐาน คือ การป้องปรามที่วางอยู่บนฐานการทำให้กลัว เพื่อให้คนเข้าร่วมชุมนุมครั้งต่อไปลดลง 
            วิธีการที่ไม่ถึงตาย (Less-lethal” Methods) เป็นการควบคุมผู้ต่อต้านและเคลื่อนย้ายฝูงชนที่โดยตัวมันเองไม่รุนแรงมากถึงตาย เช่น การใช้กระสุนยาง กระบอง แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย   วิธีการนี้นอกจากช่วยลดทอนผลสะท้อนกลับในเชิงลบแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกผิดหรือมีแผลทางใจที่ต้องใช้ความรุนแรงน้อยลง  
               การข่มขู่คุกคาม (Intimidation)  เป็นการคุกคาม อาจเป็นทางกาย วาจา หรือผ่านการเขียนข้อความ รวมถึงกลวิธีอย่าง การล่วงละเมิด การจับจ้องเฝ้ามอง การตรวจสอบภาษี และความพยายามอื่น ๆ ที่จะทำลายการระดมเคลื่อนไหวหรือป้องปรามโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางตรง
            การปลุกปั่นชักใย/การควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามต้องการ (Manipulation) เป็นเทคนิคการลดทอนการระดมอีกอย่างหนึ่ง โดยการควบคุมผู้คัดค้านและองค์กร ผ่านเทคนิค เช่น การเอามาเป็นพวก การอำนวยความสะดวก การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และการสกัดกั้นการคัดสรรคน  รวมทั้งการบ่อนเซาะ แบ่งแยก เบี่ยงเบน หรือรบกวนองค์กรขบวนการเคลื่อนไหวและกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะเข้าร่วมขบวนการได้ 
            การปราบปรามแบบละมุน (Soft Repression) เป็นปฏิบัติด้านความคิด (hegemonic practices) ที่กัดเซาะการขัดขืนผ่านการสร้างกรอบโครงต่อต้าน (counter-framing) และการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) มีรูปแบบสำคัญเช่น การเย้ยหยัน (Ridicule) ทำให้เป็นบาดแผล (stigma) และ การปิดปาก/ทำให้เงียบ (silencing) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแบบไม่รุนแรงและมักไม่เป็นทางการ เพื่อจำกัดและกีดกันความคิดและอัตลักษณ์ของขบวนการออกจากเวทีสาธารณะ  

การครองความคิดจิตใจหรือสถาปนาอำนาจนำ (Hegemony) เป็นชนิดที่ก้าวหน้าที่สุดเพราะดูเหมือนไม่ใช่การปรามปรามแต่อย่างใด หรือเรียกว่า “การปราบปรามกดขี่แบบซ้อนเร้น (latent repression)” ซึ่งเป็นการควบคุมจิตสำนึก ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเหมือนมีอิสระ ไม่ได้ถูกกดบังคับ และยอมรับได้โดยง่าย 

ประเด็นสำคัญในการศึกษาการปราบปรามกดขี่  10 ประการ

ในบทสุดท้ายของเล่ม บรรณาธิการทั้งสองได้สรุปธีมและประเด็นสำคัญที่หนังสือได้นำเสนอเพื่อความเข้าใจการปราบปรามกดขี่และการศึกษาในอนาคต เป็น 10 ประเด็น ต่อไปนี้ 

• มโนทัศน์ว่าด้วยอำนาจแบบความสัมพันธ์ (the relational conception of power)

ขณะที่ความขัดแย้งมักถูกเข้าใจว่ามีลักษณะอสมมาตรหรือมีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ นั้น หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่ามีความเท่าเทียมมากกว่าที่คิด เพราะอำนาจเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมบนฐานของความสัมพันธ์ (a relational social construct) ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต่อรองระหว่างผู้คนที่มีสถานะ ความรู้ และทรัพยากรที่แตกต่างกันในสังคม เหมือนที่มหาตมะ คานธี อธิบายว่า อังกฤษไม่ได้ยึดครองอินเดียแต่คนอินเดียยกให้เขาต่างหาก เพราะเพียงกองทหารหลักแสนไม่สามารถที่ควบคุมคน 350 ล้านได้ และความไม่สมดุลของอำนาจจะถูกกระทบอย่างลึกซึ้งเมื่อผู้มีอำนาจใช้ไปในทางที่ผิดหรือถูกต่อต้าน นอกจากนั้น คู่ต่อสู้ในความขัดแย้งสามารถมีอิทธิพลต่ออีกฝั่งหนึ่งได้ผ่านการวางแผนหรือการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะชักจูง หรือบังคับ หรือต่อรอง ทั้งนี้ การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักกิจกรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และผู้ทำการกดขี่ปราบปราม 

• ตัวแทนผู้ทำการปราบปรามและความเป็นไปได้ของการแปรพักตร์ (agents of repression and the possibility of defections)

          การแปรพักตร์หรือไม่ให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและชนชั้นนำ ควบคู่กับการรักษาระดับการมีส่วนร่วมและการยกเลิกการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญ (Crucial Factors) ในการกำหนดผลลัพธ์ของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงว่าจะเป็นอย่างไร แต่ยังมีการศึกษาในด้านนี้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับด้านขบวนการเคลื่อนไหว ราเชล แมคแนร์ (Rachel MacNair : บทที่ 4) ได้สำรวจให้เห็นถึงต้นทุนทางจิตวิทยาของผู้แทนที่ทำการปราบปรามอันเกิดจาก“ความเครียดเชิงบาดแผลที่เกิดจากการเป็นผู้กระทำความผิดใช้ความรุนแรง” และโต้แย้งว่า “บาดแผลของความรุนแรงนั้นจริงแล้วส่งผลต่อผู้กระทำความรุนแรงหนักกว่าผู้ที่เป็นเหยื่อเสียอีก” ผลที่ตามมาทางจิตวิทยานี้มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การต่อต้านประสบความสำเร็จ ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้อธิบายการปฏิบัติการอียิปต์ในปี 2011 (บทที่ 9) ว่าภายใต้สถานการณ์ 3 กลุ่มของผู้กระทำ การไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงของผู้ประท้วงเมื่อถูกปราบปรามจากตำรวจ ทำให้เกิดพันธมิตรระหว่างผู้ประท้วงกับทหารที่ต่างโน้มน้าวซึ่งกันและกัน โดยทหารใช้ “ความร่วมมือในเชิงลบ (negative cooperation)” ไม่ยิงผู้ออกมาเดินขบวนในช่วงแรก และถอนการสนับสนุนในเวลาต่อมา จนโค่นล้มระบอบมูบารัคได้ในที่สุด

• การเตรียมพร้อมรองรับการกดขี่ปราบปรามและเอาชนะความกลัว (preparation for repression and overcoming fear)

มิติด้านจิตวิทยาที่สำคัญและทรงพลังอีกอย่างหนึ่ง คือ ความกลัว ซึ่งการปราบปรามต้องการสร้างขึ้นมา ดังนั้น การเตรียมการเพื่อเอาชนะความกลัวจึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการเคลื่อนไหว  จอร์จ เลคกี (George Lakey : บทที่ 11) และ เจนนี วิลเลียมส์ (Jenni Williams : บทที่ 6) ซึ่งเป็นนักกิจกรรมจึงให้ความสำคัญกับการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้เห็นว่าจะอะไรเกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์ปราบปราม นักกิจกรรมควรจะตอบสนองอย่างไร และควรถูกตีความหรือนำเสนออย่างไร เพื่อเน้นให้ผู้ชมในวงกว้างเห็นถึงความไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ การฝึกอบรมขั้นสูงจะช่วยให้นักกิจกรรมกำหนดกรอบโครงการตีการปราบปรามใหม่อย่างมีความหมายสำคัญต่อการกระทำของตน วางโครงสร้างองค์กรแบบกลุ่มที่ใกล้ชิดกันเพื่อความสมานฉันท์ในการกระทำรวมหมู่ นักจัดตั้งสามารถออกแบบปฏิบัติการที่ทำให้เกิด “ประสบการณ์ด้านบวก” ของการถูกปราบปรามได้ดีขึ้น และการปราบปรามอย่างรุนแรงทำได้ยากขึ้น

งาน จอร์จ เลคกี เน้นไปที่การจัดการความกลัวโดยสร้างความหมายให้กับความเจ็บปวดและความทุกข์ทน และการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อทำให้การปราบปรามทำงานไม่ได้ โดยเปลี่ยนความกลัวเป็นความตื่นเต้น (excitement) ตีความใหม่ในฐานะโอกาสที่จะได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชนของผู้คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ เจนนี วิลเลียมส์ แทนที่วัฒนธรรมแห่งความกลัวด้วยวัฒนธรรมการต่อต้าน เพื่อเสริมพลังและความสามัคคีในหมู่คณะ โดยหยิบยืมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมมาใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อต่อต้านการปราบปราม คือ บทบาทและอำนาจทางศีลธรรมของความเป็นแม่ในการดุด่าผู้นำของประเทศและเรียกร้องสังคมใหม่ที่เท่าเทียมและยุติธรรม

• การกระตุ้นให้เกิดการปราบปราม (provocation)

ผู้ชุมนุมควรกระตุ้นหรือยั่วยุให้เกิดการปราบปรามเพื่อทำให้เกิดผลสะท้อนในทางลบที่เป็นประโยชน์สำหรับการต่อต้านหรือไม่ เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน อย่างกรณีคลาสสิค คือ การเดินขบวนครั้งสำคัญที่เบอร์มิงแฮมปี 1963 ที่กลายเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของอเมริกัน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้านการจัดการเดินขบวนโดยนักเรียน คนหนุ่มสาว เพราะด้านหนึ่งเกรงว่าจะเกิดอันตราย แต่อีกด้านหนึ่งก็หวังผลสะท้อนกลับในเชิงลบ ท้ายที่สุด การประท้วงถูกตำรวจเข้าโจมตีด้วยการฉีดน้ำและสุนัขทำให้เกิด “โทสะทางศีลธรรม” และไปสู่การยกเลิกการแบ่งแยกโรงเรียนระหว่างคนผิวขาว-ดำ และเปิดบริการสาธารณะให้กับอเมริกันทุกคน

ทั้งนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการยั่วยุให้เกิดการปราบปรามนั้น เห็นว่าอำนาจของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงวางอยู่บนฐานความบริสุทธิ์ของวินัยแบบไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งขัดแย้งกันอย่างเด่นชัดกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของปราบปราม อันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเองที่ต้องการให้เห็นความแตกต่างระหว่างความมีวินัยอย่างเคร่งครัดของนักกิจกรรมและการปราบปรามกดขี่ของชนชั้นนำ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่ามีเส้นแบ่งที่คุลมเครือระหว่างการเตรียมพร้อมรับมือการปราบปรามเพื่อให้เกิดผลสะท้อนกลับและการกระตุ้นให้เกิดการปราบปรามจริง ๆ ขณะที่ จอร์จ เลคกี ได้เตือนว่าไม่ควรไปกระตุ้นให้เกิดการปราบปรามเพราะจะทำให้นักปฏิวัติแปลกแยกจากประชาชน ทำให้ตำรวจโหดร้ายป่าเถื่อนขึ้น กระทั่งทำให้การประท้วงเองโหดร้ายขึ้นด้วยเช่นกัน และเสี่ยงจะสร้างความไม่พอใจทั้งต่อสาธารณชนและผู้ปฏิบัติงานของขบวนการ

• ความสำคัญของการระดม (mobilization’s significance)

การระดมผู้เข้าร่วมได้จำนวนมากช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเคลื่อนไหว และการจัดการรับมือกับการปราบปรามจะสำเร็จได้จำเป็นต้องระดมผู้มีส่วนร่วม ประชาชนผู้เฝ้ามอง ผู้แปรพักตร์จากฝ่ายปราบปราม

เอริกา เชโนเวธ (Erica Chenoweth: บทที่ 2) พบว่าระดับการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยพื้นฐาน (prime factor) ที่มีผลต่อความสำเร็จของขบวนการ กำหนดหน้าตาของผลสะท้อนกลับ และต่อการปราบปรามเองอีกด้วย เพราะ 1) การมีส่วนร่วมที่กว้างขึ้น หมายถึง การเปิดโปงการปราบปรามมากขึ้น มีเครือข่ายของเหยื่อและสาธารณชนกว้างขวางขึ้นที่บันดาลโทสะกลายเป็นโกรธเคือง และ 2) การกระทำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งดึงดูดความสนใจของสื่อในประเทศมากขึ้น สามารถโอบรัดผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้หญิงและเด็ก ส่งผลให้ต้นทุนในการปราบปรามยิ่งสูงขึ้น 3) มากไปกว่านั้น เมื่อเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบ จะยิ่งระดมผู้คนเข้าร่วมและทำให้เกิดการแปรพักตร์ได้มากขึ้น พลวัตของการระดมและความย้อนแย้งนี้ ดอรอน ชอลท์ซิเนอร์ (Doron Shultziner: บทที่ 3) ได้ยกตัวอย่างให้เห็นในเหตุการณ์การสังหารเด็กนักเรียนผิวดำในโซเวโต (Soweto) แอฟริกาใต้ ปี 1976 และจับกุม โรซา พาร์คส์ (Rosa Parks) ในมอนต์โกเมอรี ปี 1955 ที่ได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางการเมืองอย่างรุนแรง เปลี่ยนแปลงผู้คนในขบวนการและสังคมในวงกว้าง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำการเคลื่อนไหว

• ปัจจัยภายนอก (External factors)

      แม้ว่างานจำนวนมากเน้นไปที่บทบาทความเป็นผู้กระทำของขบวนการเคลื่อนไหว แต่ผู้แสดงภายนอกยังคงมีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ผู้ชมของการต่อต้านไม่ได้จำกัดอยู่บนภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียง แต่ผู้แสดงหลักในความย้อนแย้งนี้มักจะอยู่ในส่วนอื่นของประเทศหรือแม้กระทั่งโลกนี้ การศึกษาข้อมูล 323 กรณีของเชโนเวธ ได้เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของพันธมิตรของระบอบและรายงานข่าวเหตุการณ์ปราบปรามในระดับระหว่างประเทศ และพบว่าเมื่อระบอบสูญเสียการสนับสนุนจากพันธมิตร โอกาสความสำเร็จของขบวนการรณรงค์ขนาดใหญ่จะเพิ่มขึ้นทบทวี เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงความภักดีของกองกำลังความมั่นคงและการถอนการสนับสนุนของชนชั้นนำภายในแล้ว โอกาสสำเร็จพุ่งสูงถึงประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์สำหรับการรณรงค์ขนาดเล็กที่สุด และ 85 เปอร์เซ็นต์สำหรับการรณรงค์ขนาดใหญ่ที่สุด

• การจัดการบริหารการปราบปรามกดขี่ในปริมณฑลวัฒนธรรม (Managing Repression in the Cultural Domain)

ผู้เขียนเสนอว่า ความย้อนแย้งของการปราบปรามเป็นเรื่องวัฒนธรรมมากพอกับการเมือง และบ่อยครั้งมากที่เป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมจะกำหนดรูปแบบการดำเนินการทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น ๆ อย่างเช่นมโนทัศน์ “เหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Event)” ของชอลท์ซิเนอร์ (บทที่ 3) เกิดขึ้นได้เพราะมีความสะท้อนลงรอยกับบริบททางวัฒนธรรม โดยทำการดัดแปลงและสร้างมันขึ้นมาใหม่ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในหมู่ประชาชนและสถาบันต่าง ๆ เป็นจังหวะทางวัฒนธรรมที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จากระบอบที่เคยถือว่ามีความชอบธรรมจะเปลี่ยนเป็นปีศาจผู้สังหารผู้บริสุทธิ์โดยทันที และสาธารณชนจะออกมาต่อต้าน  

บทความของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บทที่ 10) อธิบายการระเบิดออกของการต่อต้านแบบไร้ความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์ในประเทศไทย ปี 2010 ในฐานะการตอบสนองต่อการปราบปรามอย่างรุนแรง เพราะการปราบปรามได้สร้างพื้นที่สำหรับผู้นำของขบวนการใหม่ที่เข้าใจมิติทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อกลับมาใหม่ได้ โดยใช้อารมณ์ขันและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมช่วยให้ประชาชนเอาชนะความกลัวที่ระบอบการเมืองสร้างขึ้น ขณะที่ เลคกี (บทที่ 11) เน้นถึงความสำคัญของเรื่องเล่าที่นักกิจกรรมที่บอกกับตัวเองเพื่อออกจากความทุกข์ทรมานที่ได้รับจากน้ำมือของผู้มีอำนาจ ซึ่งมักเป็นการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณในจารีตวัฒนธรรมของพวกเขาเอง

• การขยายกรอบความเข้าใจการปราบปรามกดขี่ (Expanding Frameworks for Understanding Repression)

แม้มีการสร้างทฤษฎีและศึกษาการต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรงมาหลายทศวรรษ แต่การศึกษาผลสะท้อนกลับในทางลบยังคงจำกัดและไม่ได้พัฒนามากนัก นั่นคือ มักรวมการปราบปรามกดขี่ทุกรูปแบบให้อยู่ในประเภทเดียวกัน เพราะง่ายในด้านวิธีวิทยาสำหรับการศึกษารูปแบบการปราบปรามทางกายภาพที่โจ่งแจ้งและดึงดูความสนใจของรายงานข่าว ดังนั้น จำเป็นต้องปรับแต่งการศึกษาเสียใหม่เพื่อความก้าวหน้าในการวิจัย หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นเสนอโครงร่างเนื้อหาด้วยชนิดที่หลากหลายของขบวนการ ระบอบที่เป็นเป้าหมาย และการกระทำที่เป็นปฏิสัมพันธ์ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลาย รวมทั้งความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่

เจสสิก้า แอล. เบเยอร์ และ เจนนิเฟอร์ เอิร์ล (Jessica L. Beyer and Jennifer Earl: บทที่ 5) นำผู้อ่านเข้าไปสู่โลกแห่งการเคลื่อนไหวออนไลน์ที่กำลังขยายตัว ทำให้เห็นการต่อต้านออนไลน์ชนิดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เช่น การโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ (denial of service attack) ทำให้ใช้บริการไม่ได้ การโจมตีเครือข่ายและการแบ่งปันข้อมูล พร้อมกับรูปแบบการปราบปรามทางเลือกที่ถูกนำมาใช้กับกิจกรรมออนไลน์ การนำเสนอเส้นความต่อเนื่องของยุทธศาสตร์ทำลายการระดม (ในบทที่ 7) ที่ได้อธิบายมาแล้วก่อนหน้า ทำให้สร้างมโนทัศน์ปราบปรามที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ดาเลีย เซียดา (Dalia Ziada: บทที่ 9) ซึ่งศึกษายุทธศาสตร์ของทหารในการปฏิวัติอียิปต์ ยังเตือนให้เห็นให้ถึงความเป็นไปได้ของเป้าหมายการปราบปรามที่หลากหลาย รวมถึงการปราบปรามกดขี่ผู้แปรพักตร์และแนวต้านอื่น ๆ ด้วย

• มิติจิตวิทยาสังคม (Social Psychological Dimensions)

การสังเกตของแมคแนร์ว่า อำนาจเป็น “ประสบการณ์ทางจิตวิทยา” (บทที่ 4) กระตุกให้เห็นด้านที่เป็นจริงของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแต่มักถูกประเมินต่ำไป เช่นเดียวกับที่ชอลท์ซิเนอร์ (บทที่ 3) ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ปราบปรามที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในฐานะปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่วางอยู่ฐานการรับรู้ของมวลชน นอกจากนี้แมคแนร์ยังได้เน้นให้เห็นผลทางจิตวิทยาต่อผู้แทนผู้ทำการปราบปรามและความเป็นไปได้ของไม่เชื่อฟังคำสั่งหรือแปรพักตร์

ความกลัวเป็นหนึ่งในพลวัตเชิงจิตวิทยาที่แสดงบทบาทในการต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง ยีน ชาร์ป ในงานคลาสสิค การเมืองของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (The Politics of Nonviolent Action vol 3. 1973) กำหนดให้การเอาชนะความกลัวเป็นหลักการพื้นฐานของการต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง โดยตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วการปราบปรามไม่ใช่การทำให้เกิดการเชื่อฟัง และไม่มีระบอบใดสามารถปราบปรามกดขี่ประชาชนได้ทั้งหมดแต่เป็นภัยคุกคามของการกดขี่ (threat of repression) ที่ผู้คนกลัวซึ่งกีดกันพวกเขาจากการท้าทายความอยุติธรรม ดังนั้น การเอาชนะความกลัวส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการรับรู้   

• การสร้างกรอบโครงความคิดในการตีความและสื่อ (Framing and the Media)  

เนื่องจากธรรมชาติของความขัดแย้งที่เป็นปฏิสัมพันธ์ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผู้ก่อความไม่สงบและชนชั้นนำจึงต้องแข่งขันกันในการสร้างกรอบโครงความคิดในการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อระดมการสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ การแข่งขันในเรื่องนี้เชื่อมโยงกับสื่ออย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับที่พ้นไปจากท้องถิ่นซึ่งผู้คนไม่ได้สัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรง วิธีที่สื่อนำเสนอการตีความจะเป็นตัวกำหนดวาทกรรมของสาธารณชนในเรื่องนั้น ๆ

การศึกษา 323 การรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเชโนเวธเสนอว่า ขณะที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนการปราบปรามกดขี่ไปสู่ผลสะท้อนกลับในทางลบนั้น   ปัจจัยที่ส่งผลต่อการระดมการมีส่วนร่วมประการหนึ่ง โดยเฉพาะในระดับภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้น คือ การรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ ซึ่งสร้างความตระหนักรู้และกดดันให้พันธมิตรของระบอบถอนการสนับสนุน แต่แค่การรายงานข่าวยังไม่เพียงพอ วรรณกรรมที่กว้างออกไปเสนอว่า การนำเสนอกรอบการตีความ (Framing) ที่แข่งขันกันนำระหว่างชนชั้นนำและขบวนการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมวาทกรรมทางการเมืองจากกลุ่มชนชั้นนำไปสู่พันมิตรของขบวนการเคลื่อนไหว และเหตุการณ์การปราบปรามกดขี่เป็นพื้นที่ชี้ขาดสำหรับการแข่งขันในเรื่องนี้ การจัดการกับการปราบปรามเพื่อเพิ่มผลย้อนกลับในทางลบก็เช่นกันต้องการกรอบการตีความที่สะท้อนกับบรรทัดฐาน นิสัยใจคอและทัศนคติทางวัฒนธรรมที่มีอยู่


ภาคผนวก : โครงสร้างเนื้อหาแต่ละบทที่ประกอบเป็นหนังสือ

บทที่ 1 “Introduction: Nonviolent Strategy and Repression Management” โดย Lee A. Smithey และ Lester R. Kurtz บทนำว่าด้วยยุทธศาสตร์ไร้ความรุนแรงและการจัดการกับการปราบปรามของขบวนการเคลื่อนไหว แนะนำแนวความคิด/มโนทัศน์และรากฐานความคิดของความย้อนแย้ง

บทที่ 2 “Backfire in Action: Insights from Nonviolent Campaigns, 1946–2006” โดย Erica Chenoweth เป็นการศึกษาเชิงปริมาณแบบภาพกว้างมุมสูง (birds eye view) โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบชุดข้อมูลขนาดใหญ่ 323 กรณีการเคลื่อนไหวที่สำคัญทั่วโลก ระหว่างปี 1945-2006 (ทั้งที่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้ความรุนแรง) เพื่อประเมินว่าผลสะท้อนกลับในทางลบทำงานอย่างไรและการเคลื่อนไหวในลักษณะใดที่จะกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ และพบว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวกจากการปราบปราม คือ (1) การรักษาการมีส่วนร่วมให้อยู่ในระดับสูง (2) การละทิ้งความภักดีต่อระบอบของกองกำลังด้านความมั่นคงและผู้นำฝ่ายพลเรือน หรือการแปรพักตร์ และ (3) การถอนการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศ

บทที่ 3 “Transformative Events, Repression, and Regime Change: Theoretical and Psychological Aspects โดย Doron Shultziner  ใช้ 2 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ การลุกขึ้นสู้ของนักเรียนผิวดำที่เมืองโซเวโต (Soweto Uprising) ในแอฟริกาใต้ ปี 1976 และการคว่ำบาตรการโดยสารรถเมล์ของคนผิวดำในมอนต์กอเมอรี รัฐอลาบา​มา ในช่วงปี 1955-1956 อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการปราบปรามและผลสะท้อนกลับในทางลบ โดยเน้นไปผลกระทบทางจิตวิทยาสังคมของ “เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง (Transformative Events)” ที่ไปหยุดยั้งพฤติกรรมอันเคยชินและถือว่าปกติของมนุษย์ซึ่งอยู่เบื้องหลังการรักษาสถานภาพเดิมทางสังคม และเปิดโอกาสใหม่ให้กับการต่อต้าน  โดยเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำงานเป็นกลไกเชิงสาเหตุหรือเส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและผลลัพธ์ที่เป็นประชาธิปไตย

บทที่ 4 “The Psychology of Agents of Repression: The Paradox of Defection” โดย Rachel MacNair  พยายามตอบคำถามว่าการแปรพักตร์ในหมู่ตัวแทนผู้ทำการปราบปราม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเสนอมิติทางด้านจิตวิทยาของผู้ทำการปราบปรามเองที่นำไปสู่ “ความย้อนแย้งของการแปรพักตร์ (The Paradox of Defection)” คือ ความก้าวร้าวและความกลัว พร้อมโต้แย้งว่าผู้ทำการปราบปรามไม่เพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่พวกเขาต้องจ่อมจมอยู่กับพลวัตทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่จะทุกข์ทรมานจากการทำผิดใช้ความรุนแรง(perpetration) ของตนเอง ความเครียดที่เป็นบาดแผลทางจิตใจ (traumatic stress)นี้มีศักยภาพนำไปสู่การแปรพักตร์ได้

บทที่ 5 “Backfire Online: Studying Reactions to the Repression of Internet Activism” โดย Jessica L. Beyer และ Jennifer Earl นำผู้อ่านเข้าไปสู่ธรรมชาติของการต่อต้านแบบใหม่ในยุคที่อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการทางการเมือง คือ ศึกษาผลสะท้อนกลับในเชิงลบออนไลน์ (Backfire Online) กรณีการประท้วงในอียิปต์ ปี 2011 โดยนำเสนอวิธีการที่กิจกรรมออนไลน์และนักกิจกรรมผู้อยู่เบื้องหลังมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและส่วนอื่น ๆ รูปแบบที่หลากหลายของการปราบปรามออนไลน์ และแสดงให้เห็นว่าเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบกับชนชั้นนำอย่างไร

บทที่ 6 “Overcoming Fear to Overcome Repression” โดย Jenni Williams  ผู้เขียนซึ่งเป็นนักกิจกรรมใช้การเคลื่อนไหวของ Women of Zimbabwe Arise (WOZA) ที่เธอมีส่วนในการก่อตั้งเองเป็นกรณีศึกษา และเสนอว่า หากเป้าหมายของปราบปรามคือการสร้างความกลัวแล้ว สิ่งจะเอาชนะปราบปรามได้คือการเอาชนะความกลัว โดยขบวนการ WOZA ให้ความสำคัญกับการสถาปนาวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรงและการสร้างอำนาจให้กับตนเองผ่านการนำร่วมกันเป็นอันดับแรก การใช้วัฒนธรรมจารีตอย่างสร้างสรรค์ คือ บทบาทความเป็นแม่หรือความรักของแม่ ในการต้านทานและลดทอนพลังของการปราบปราม และโครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อเอาชนะวิธีการของตำรวจที่มาเผชิญหน้ากับผู้ประท้วง

บทที่ 7 “Culture and Repression Management” โดย Lee A. Smithey และ Lester R. Kurtz เน้นไปที่ด้านวัฒนธรรมของการปราบปรามและผลสะท้อนกลับในเชิงลบ มองการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงในฐานะการแข่งขันระหว่างผู้นำที่มีอำนาจและผู้ต่อต้าน ระบอบและผู้ก่อการกำเริบเสิบสาน เพื่อเสนอกรอบการสร้างความหมายต่อเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้น โดยสำรวจความพยายามของนักเคลื่อนไหวในการออกแบบปฏิบัติการที่ทำให้มั่นใจว่าจะนำไปสู่ผลสะท้อนกลับในเชิงลบโดยทำให้ความก้าวร้าวรุนแรงของผู้ทำการปราบปรามเห็นได้อย่างชัดเจน

บทที่ 8 “Smart” Repression” โดย Lee A. Smithey และ Lester R. Kurtz พยายามตอบข้อสงสัยว่าทำไมการปราบปรามกดขี่จึงไม่นำไปผลสู่สะท้อนกลับในทางลบเสมอไป โดยเข้าไปสำรวจด้านผู้ใช้ความรุนแรงหรือปราบรามซึ่งไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์ของชนชั้นนำว่าจะใช้การปราบปรามอย่างไร เพื่อลดทอนการระดมของขบวนการเคลื่อนไหว และบรรเทาหรือกำจัดผลสะท้อนกลับในเชิงลบ

บทที่ 9 “Egypt: Military Strategy and the 2011 Revolution” โดย Dalia Ziada เป็นการศึกษา “การปฏิวัติอียิปต์ (Egyptian revolution)” ปี 2011 จากมุมมองของผู้เขียนที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้โดยตรง (ร่วมกับการสัมภาษณ์ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง) โดยข้อค้นพบที่สำคัญและโดดเด่นมากที่สุดของการศึกษาคือ บทบาทของกองทัพ ที่บางครั้งเลือกไม่ใช้ความรุนแรงระหว่างการลุกขึ้นสู้ของประชาชน และจบลงด้วยการร่วมมือกับนักเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค  

บทที่ 10 “Repression Engendering Creative Nonviolent Action in Thailand” โดย Chaiwat Satha-Anand นำเสนอประสบการณ์จากประเทศไทย โดยศึกษาการเคลื่อนไหวหลังขบวนการเสื้อแดงถูกปราบปรามอย่างหนักและยุติบทบาทลงในปี 2010 และเสนอว่า การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลได้สร้างพื้นที่สำหรับผู้นำใหม่ของขบวนการและก่อให้เกิดการต่อต้านแบบไร้ความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์ โดยสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้พัฒนาชุดของ Flash Mob ในเชิงสัญลักษณ์และสร้างสรรค์ ที่มาจากประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนอย่างอารยะในสังคมไทยเอง

บทที่ 11 “Making Meaning of Pain and Fear: How Movements Assist Their Members to Overcome Repression” โดย George Lakey เป็นการนำเสนอความเข้าใจจากประสบการณ์ที่ยาวนานและบทสะท้อนกลับของผู้เขียนที่เป็นทั้งนักฝึกอบรม นักกิจกรรม และนักวิชาการ โดยอธิบายว่า นักกิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงได้สร้างเรื่องเล่าที่ให้ความหมายกับความเสี่ยง บาดแผล ความทุกข์และความสูญเสียที่พวกเขาได้รับ เปลี่ยนผ่านความเจ็บปวดและความกลัวไปสู่โอกาสในการระดมทรัพยากรแทน เรื่องเล่าเหล่านี้จะส่งผลต่อกลยุทธ์และยุทธ์ศาสตร์ที่พวกเขาเลือกใช้และลั่นไกให้เกิดความย้อนแย้ง โดยนักกิจกรรมใช้เรื่องเล่าเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ปราบปรามผ่านการฝึกอบรม และกำหนดรูปแบบการเผชิญหน้า

12. Rethinking Repression: Where Do We Go from Here? โดย Lee A. Smithey and Lester R. Kurtz เป็นการสรุปประเด็นสำคัญในการเข้าใจความย้อนแย้งและสำหรับการศึกษาในอนาคต


ประวัติผู้เขียน

อ.อุเชนทร์ เชียงเสน
อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสนใจทางวิชาการ : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย, ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม https://djrctu.com/