การพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย ถือว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะการดำเนินงานร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ หรืออาสาสมัครในพื้นที่เพื่อให้มีการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยโครงการแนวทางการพัฒนาโมเดลการปรึกษาหารือเพื่อขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคมแบบครอบคลุมมีความพยายามในการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมในประเทศไทย โดยเป็นการต่อยอดจากข้อค้นพบที่นำเสนอในหนังสือเรื่อง ความท้าทายของการนำนโยบายการคุ้มครองทางสังคมไปสู่การปฏิบัติ: มุมมองจากคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ข้อค้นพบสำคัญจากการวิเคราะห์สถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและบริการทางสังคมต่าง ๆ ของคนเปราะบาง ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก ความสามารถของหน่วยงานรัฐในการบริหารจัดการที่ไม่เพียงพอ และการขาดความไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับอาสาสมัครในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้คนในชุมชนมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอแนะให้นำแนวทางการทำงานแบบเครือข่ายมาใช้ปรับปรุงการดำเนินนโยบายและส่งมอบสวัสดิการและบริการทางสังคม เช่น การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นทางการอันประกอบด้วยภาครัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครหมู่บ้าน เป็นต้น การขับเคลื่อนงานแบบเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ แต่ยังอาจช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือในกระบวนการและความถูกต้องของข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ ด้วยการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการระบุตัวตนและการตรวจสอบและยืนยันประชาชนที่มีสิทธิ์ อีกทั้งความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยยกระดับความรับผิดชอบในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่ามีการกระจายทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างไม่ยุติธรรมในกลุ่มผู้มีสิทธิ์รับผลประโยชน์ ดังนั้น เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้การจัดการโครงการสวัสดิการสังคมเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่กลไกการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้นอีกด้วย
โครงการการประชุมเสวนา หัวข้อ แนวทางการพัฒนาโมเดลการปรึกษาหารือเพื่อขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคมแบบครอบคลุม จึงมุ่งเน้นไปที่ “การปรึกษาหารือร่วมกับประชาชน” เนื่องจากได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่รับประกันความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก การพิจารณาอย่างมีเหตุผล ช่วยปรับปรุงคุณภาพของธรรมาภิบาลโดยการทำให้มีส่วนร่วม โปร่งใส และตอบสนองต่อความต้องการและมุมมองของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาและดำเนินนโยบายการคุ้มครองทางสังคม โดยมีพื้นที่การปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการเพื่อดำเนินงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาชน/อาสาสมัครในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการคุ้มครองทางสังคม ต่อไป
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย จึงจัดการประชุมเสวนา หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาโมเดลการปรึกษาหารือเพื่อขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคมแบบครอบคลุม” ในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 – 13.30 น. ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ เพื่อหาข้อเสนอแนะและรูปแบบการปฏิบัติสำหรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทยเพื่อประโยชน์ของประชากรกลุ่มเปราะบางได้รับการพัฒนาโดยผู้มีบทบาทจากการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากนักวิชาการ หน่วยงานราชการ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาร่วมโครงการการประชุมเสวนาดังกล่าว