การทูตวัคซีนของจีนและชาติมหาอำนาจ

จีนใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือเพิ่ม soft power ด้วยการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากประเทศที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่ข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพ และการเข้าร่วมแข่งขันการทูตวัคซีนของมหาอำนาจจะทำให้จีนสูญเสียความได้เปรียบหรือไม่

จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถคิดค้นและผลิตวัคซีนโควิด-19 เองได้ วัคซีนที่จีนผลิตนั้นนอกจากจะถูกใช้ในด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันอาการรุนแรงจากโควิดแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทูตเพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากประเทศที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือยามโลกตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

จีนดำเนินกลยุทธ์การทูตวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ ภายใต้สถานการณ์ที่บรรดาชาติมหาอำนาจเกิดการแพร่ระบาดรุนแรง และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินรับมือ จนนำไปสู่การกักตุนวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนในประเทศก่อน จีนจึงได้เข้ามาปิดช่องว่างด้วยการบริจาคและขายวัคซีนให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้ได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน บทความนี้มุ่งทำความเข้าใจถึงการทูตวัคซีนของจีน และการตอบรับต่อนโยบายดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนเข้ามาดำเนินการทูตวัคซีน รวมถึงการที่ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ใช้การทูตวัคซีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเพิ่ม soft power

จีนกับการทูตวัคซีน

ความได้เปรียบของจีนคือสามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้รวดเร็วและมีศักยภาพการผลิตวัคซีนสูง จึงชิงข้อได้เปรียบนี้เหนือประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่กักตุนวัคซีน ทำให้เกิดความล่าช้าในการกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน จีนใช้โอกาสนี้เสนอแจกจ่ายวัคซีนที่จีนผลิตผ่านการบริจาคและการขายเป็นส่วนใหญ่ และยังเข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อแจกจ่ายวัคซีนให้แก่นานาประเทศ ทุกภาคส่วนของจีนทั้งสื่อ สถานทูต และนักวิชาการต่างก็ร่วมมือกันอย่างแข็งขันสร้างภาพลักษณ์และเสนอสิ่งเหล่านั้นออกไป เพื่อเพิ่มการรับรู้ต่อสาธารณะว่าจีนกำลังรับมือกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำให้วัคซีนของจีนเป็นสินค้าสาธารณะ (global public goods) ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ให้คำมั่นไว้ในสมัชชาที่ประชุมองค์การอนามัยโลก อันจะเป็นการฟื้นฟูชื่อเสียงของประเทศคืนกลับมาด้วย

ประเทศที่ได้รับวัคซีนจากจีนไป ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออกและแอฟริกาจะเป็นประเทศภายใต้โครงการ “สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)” ที่จีนได้เข้าไปและมีแผนจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ ดังนั้น การทูตวัคซีนจึงอาจช่วยเพิ่มข้อต่อรองให้จีนเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น และสานสัมพันธ์ เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคแทนที่กลุ่มชาติตะวันตกได้  

อย่างไรก็ตาม การยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับวัคซีนของจีนก็ไม่พ้นถูกวิจารณ์ว่ามีนัยยะแอบแฝงทางเศรษฐกิจและการเมือง มีข้อสังเกตว่าแต่ละประเทศไม่ได้รับการบริจาควัคซีนในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ลาวและกัมพูชาที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดและมีท่าทีสนับสนุนจีนในข้อพิพาททะเลจีนใต้ต่างก็ได้รับวัคซีนจากจีนกว่าล้านโดส ในขณะที่ประเทศยากจนที่อัตราการเข้าถึงวัคซีนที่ต่ำ เช่น ประเทศทางตอนใต้ของทะเลซาฮาราในแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) กลับได้รับวัคซีนจากจีนเฉลี่ยประเทศละเพียงแสนโดสเท่านั้น ยิ่งเน้นย้ำคำครหาของชาติมหาอำนาจว่าจีนดำเนินการทูตวัคซีนเพื่อประโยชน์ในเชิงนโยบายมากกว่าการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่นานาประเทศอย่างแท้จริง [1]

ท่าทีของอาเซียนต่อการทูตวัคซีนของจีน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ให้จีนได้เข้ามาดำเนินนโยบายการทูตวัคซีน นอกจากจะเป็นภูมิภาคที่จีนได้สานสัมพันธ์ มาอย่างช้านานแล้ว อาเซียนยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการ BRI การพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้านของกลุ่มประเทศอาเซียนยังต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก จีนจึงใช้โอกาสนี้ ดำเนินการทูตวัคซีน เพื่อขยาย soft power ของตน

ทุกประเทศในอาเซียน ต่างก็ได้รับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับวัคซีนจากจีน โดยเฉพาะลาวและกัมพูชาที่ยินดีต้อนรับความช่วยเหลือของจีนอย่างมาก โดยเฉพาะกัมพูชาที่ยืนหยัดเคียงข้างจีนตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาด จนเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนจากจีน หลังจากนั้นกัมพูชายังสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงกับจีนเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) ได้ หลังกัมพูชาถูกตัดสิทธิพิเศษที่ยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าสหภาพยุโรป จากสาเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลกัมพูชา

ไทย เมียนมาและฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาวัคซีนจากจีนก่อน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ระบาด ท่าทีของกลุ่มผู้นำประเทศทั้งสามเป็นไปในเชิงบวก แต่บางชาติยังมีความกังวลว่าการเสนอวัคซีนของจีนจะมาพร้อมการสร้างอิทธิพลในภูมิภาค [2] ในขณะที่เวียดนามได้ปฏิเสธข้อเสนอวัคซีนของจีนในตอนแรกโดยยืนยันจะรอรับวัคซีนผ่านโครงการ COVAX และจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเอง เพราะไม่ต้องการพึ่งพาจีนมากเกินไป เวียดนามเองก็ยังมีปัญหาขัดแย้งกับจีนเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่ทะเลจีนใต้ และประชาชนเวียดนามก็ยังมีความรู้สึกต่อต้านจีน แต่เพราะการระบาดระลอกใหม่ช่วงกลางปี 2564 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้เวียดนามต้องจำใจยอมรับวัคซีนที่จีนเสนอให้ [3] ส่วนอินโดนีเซียมีการทำข้อตกลงเป็นผู้ผลิตได้รับสิทธิแบ่งปันเทคโนโลยีและเป็นศูนย์กลางกระจายวัคซีนของจีนในภูมิภาค [4]

แล้วการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือการสานสัมพันธ์นั้นได้ผลแค่ไหนในอาเซียน ถ้าประเมินจากรายงานการสำรวจของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak Institute (ISEAS) โดยรวมในกลุ่มอาเซียนพบว่า ระดับความไม่ไว้วางจีนใจได้เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 51 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 60 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 63 ในปีนี้ [5] นั่นหมายความว่าไม่ว่าจีนจะดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขท่ามกลางโรคระบาดอย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือขนาดไหน แต่อาเซียนก็ยังหวาดระแวงอยู่ตลอดว่าจีนอาจหวังเพิ่มอำนาจตนเองในภูมิภาค ไม่ว่าจะต้องการเพิ่มความสนับสนุนเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐฯ ในพื้นที่ขัดแย้ง นัยยะสำคัญอีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าการทูตวัคซีนของจีนจะไปได้ดีในกลุ่มอาเซียน แต่ท่าทีแข็งกร้าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้กลับไม่ได้ลดลง การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างคนละขั้วและความกังวลที่ประเทศตนจะพึ่งพาจีนมากเกินเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจของอาเซียนที่มีต่อจีน

แต่การแพร่ระบาดที่เลวร้ายลงในอาเซียนอาจจะส่งผลเชิงลบกับชื่อเสียงของจีน เพราะอาเซียนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ซื้อและรับบริจาควัคซีนจากจีนมากที่สุด แต่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง วัคซีนของจีนที่ถูกกังขาเรื่องประสิทธิภาพอาจกลับกลายเป็นสิ่งลดทอนทั้งภาพลักษณ์และ soft power ที่จีนพยายามสร้างมา และเปิดช่องให้การทูตวัคซีนของชาติตะวันตกที่มาช้ากว่ากลับมามีบทบาทแทน แต่หากมองโดยรวมการทูตวัคซีนของจีนยังคงให้ประโยชน์ในด้านสาธารณสุขสำหรับอาเซียนอยู่ และจีนก็คงมุ่งหวังให้ความช่วยเหลือเหล่านั้นสร้างความดึงดูดใจเพื่อให้ประเทศที่รับความช่วยเหลือคล้อยตามจุดประสงค์ที่จีนมุ่งหวัง เหล่าอาเซียนต้องดำเนินนโยบายให้เหมาะสมและใช้โอกาสนี้ถ่วงดุลและสกัดกั้นไม่ให้ประเทศใดมีบทบาทมากเกินไปเพื่อความสมดุลและเสถียรภาพของอาเซียนเอง เรื่องที่น่าจับตามองคือถ้าประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ต่างเข้าร่วมสมรภูมิการทูตวัคซีนมากขึ้น ความพยายามของจีนที่จะใช้วัคซีนขยาย soft power ต้องเจอความท้าทายอีกมากมายและสถานการณ์ภายหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

การทูตวัคซีนของชาติมหาอำนาจอื่น ๆ

สหรัฐอเมริกา

บทบาทของสหรัฐฯ และกลุ่มมหาอำนาจตะวันตกต่อการแจกจ่ายวัคซีนไม่ได้ชัดเจนนักในช่วงแรก ถึงแม้จะเป็นประเทศแรก ๆ เช่นเดียวกับจีนที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ เพราะประเทศเหล่านี้ต้องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศก่อน ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ จึงถูกมองว่าเป็นผู้กักตุนวัคซีนและพึ่งพาไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

หลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้แล้ว สหรัฐฯ ก็รีบเข้ามาแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศและประกาศจะแจกจ่ายวัคซีนทันทีผ่านการเจรจาทวิภาคี และโครงการ COVAX แม้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนหลาย ๆ ประเทศจะได้รับวัคซีนจากจีนและผู้ผลิตประเทศอื่น ๆ มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรและยังคงรอวัคซีนที่คาดว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าจากสหรัฐฯ  

การทูตวัคซีนของสหรัฐฯ กำลังจะชิงความได้เปรียบเหนือชาติอื่น นอกจากจะกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายแล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ชูจุดเด่นให้ความมั่นใจว่าจะบริจาควัคซีนที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเท่านั้น และไม่มีเงื่อนไขใดแอบแฝง แม้ว่าเป้าหมายจริง ๆ จะต้องการถ่วงดุลกับจีนในทุกภูมิภาคก็ตาม เห็นได้จากการประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรม 7 ชาติ (G7) และกลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย) ซึ่งข้อสรุปที่ได้ต่างสอดแทรกไปด้วยความพยายามสกัดกั้นจีน

อินเดีย

อินเดียแจกจ่ายวัคซีน Covishield ผ่านแผนการทูตวัคซีนไมตรี (Vaccine Maitri) ที่อินเดียได้รับสิทธิถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายได้เองจากบริษัทอ็อกฟอร์ด แอสตร้า เซเนก้า (Oxford-Astrazeneca) [6]  กลุ่มประเทศที่ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียในเอเชียใต้ [7] ซึ่งก็เป็นภูมิภาคที่จีนต้องการแผ่อิทธิพลเช่นกัน จีนและอินเดียยังมีความขัดแย้งกันในเรื่องพรมแดน ทำให้การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสานสัมพันธ์เพื่อแผ่อิทธิพลระหว่างอินเดียและจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นในช่วงแรก

แม้แผนการทูตวัคซีนจะต้องระงับลงชั่วคราวเพราะเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในอินเดีย แต่การทูตวัคซีนของอินเดียก็อาจจะกลับมาอีกในภายหลัง เพราะ อินเดียมีข้อได้เปรียบจากการมีอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่ และใช้ประโยชน์จากการเป็นประเทศกำลังผงาดขึ้นมามีอำนาจในภูมิภาคแข่งกับจีนเพื่อให้ได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วย ถ้าหากอินเดียสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดในประเทศได้และกลับเข้าสู่เกมการทูตวัคซีน อินเดียอาจกลับมาชิงความได้เปรียบในภูมิภาคอีกครั้ง

การที่อินเดียห่างหายไปจากการทูตวัคซีนในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้เป็นผลดีกับทั้งอินเดียและ QUAD มากนัก เพราะจีนได้อาศัยช่องยื่นความช่วยเหลือทำคะแนนนำและแผ่อิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาค เช่นในบังกลาเทศที่เคยปฏิเสธไม่รับการบริจาควัคซีนจากจีน [8] แต่เมื่อการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ อินเดียไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ตามสัญญา ทำให้บังกลาเทศหันไปพึ่งวัคซีนจากจีนแทน หากอินเดียไม่สามารถกลับมาเล่นบทบาทผู้จัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้โดยเร็ว อินเดียและ QUAD อาจเสียเปรียบจีนในเอเชียใต้ที่เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญมาก

รัสเซีย

รัสเซียแสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์อันก้าวหน้าผ่านการวิจัยวัคซีน “สปุตนิก วี” (Sputnik V) ที่ใช้เวลาคิดค้นและผลิตออกมาได้ในเวลาอันสั้น กลุ่มประเทศที่รัสเซียเข้าไปเจรจาเกี่ยวกับวัคซีนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นภูมิภาคที่รัสเซียพยายามจะแผ่อิทธิพลเข้าไปอีกครั้ง และประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ที่รัสเซียพยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาค

ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนสำหรับรัสเซียคือ รัสเซียไม่มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตวัคซีนในประเทศให้ได้ในปริมาณมาก ๆ และการจัดส่งที่ล่าช้าในหลายประเทศ และยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นวัคซีนฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) [9] ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญหากรัสเซียต้องการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตแข่งกับชาติอื่น ซึ่งรัสเซียในขณะนี้กำลังร่วมมือกับจีน อินเดียและเกาหลีใต้เพื่อเพิ่มขีดกำลังการผลิต อีกทั้งกำลังพัฒนาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 2 ชนิด หากรัสเซียยังไม่สามารถแก้ข้อกังขาและเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย สปุตนิก วี อาจกลายเป็นเพียงแค่วัคซีนตัวหนึ่งที่ถูกเร่งพัฒนาให้สำเร็จก่อนชาติอื่น แต่กลับไม่สามารถใช้ได้จริง

ญี่ปุ่น

 แม้ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาหรือผลิตวัคซีนเอง ญี่ปุ่นเริ่มเกมการทูตวัคซีนด้วยการประกาศบริจาควัคซีนให้ไต้หวันและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็เป็นประเทศที่มีข้อขัดแย้งกับจีนอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ปฏิเสธการรับวัคซีนจากจีนโดยอ้างถึงความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการทดสอบวัคซีนก่อนจะยอมรับในภายหลังเพราะการระบาดระลอกที่ 4 ที่รุนแรงขึ้น [10] ส่วนไต้หวันก็แน่นอนว่าย่อมปฏิเสธวัคซีนจากจีน 

ล่าสุด ญี่ปุ่นได้บริจาควัคซีนให้ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศละ 1 ล้านโดส เตรียมจะมอบให้กัมพูชาและเวียดนามอีก 1 ล้านโดส นอกเหนือจากที่เคยจัดส่งให้เวียดนามแล้ว 2 ล้านโดส ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่สำคัญ ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีความกังวลใจเหมือนกันในเรื่องการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ และเกรงว่าจีนจะใช้การทูตวัคซีนมาบั่นทอนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนเพื่อหาพันธมิตรสนับสนุนต่อประเด็นขัดแย้งทั้งในพื้นที่แม่น้ำโขงและทะเลจีนใต้ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

บทสรุป

การทูตวัคซีนของจีนในหลายภูมิภาคถือว่าได้รับการตอบรับในทางที่ดี ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนต่างรู้สึกขอบคุณ และจีนได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นทั้งศักยภาพในการควบคุมโรคระบาดอย่างรวดเร็วซึ่งเกี่ยวโยงกับรูปแบบการปกครองของจีน ยังไม่รวมถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่แพ้ชาติตะวันตก  ส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของจีนโดยรวมดีขึ้นในบางประเทศ วัคซีนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพิ่ม soft power ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในโครงการ BRI ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยังเพิ่มโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศใหม่ ๆ อีกด้วย

แต่การตอบรับที่ดีต่อจีนนั้นอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ชาติตะวันตกเริ่มนโยบายการทูตวัคซีนช้ากว่าเท่านั้น จีนยังติดข้อกังขาในเรื่องประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของผลการทดลองวัคซีน ในระยะยาวถ้าจีนยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากลุ่มประเทศตะวันตก ผลลัพธ์ก็อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม รวมถึงท่าทีก้าวร้าวต่อผลประโยชน์ของจีนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ประเทศกลุ่มนี้แม้จะรู้สึกขอบคุณแต่ก็ยังคงหวาดระแวงจีนและหลีกเลี่ยงการพึ่งพาจีนมากเกินควร ทั้งนี้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็เปรียบเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในแผนการทูตวัคซีนเช่นกัน ที่ต้องเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะสมเพื่อเร่งยับยั้งการแพร่ระบาดในประเทศ ประเทศเหล่านี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องตอบรับต่อนโยบายการทูตวัคซีนที่เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ได้รับวัคซีนจำนวนมากพอและรวดเร็ว ถึงแม้จะได้รับบริจาคหรือสั่งซื้อวัคซีนจากจีนได้ง่ายดาย แต่เหล่าประเทศกำลังพัฒนาก็ยังคงมองหาวัคซีนคุณภาพสูงจากประเทศตะวันตกและหลาย ๆ ประเทศเพื่อไม่ต้องพึ่งพิงแต่วัคซีนจีนเท่านั้น และที่สำคัญคือต้องหาทางถ่วงดุลอำนาจกับจีนด้วยนั่นเอง


เชิงอรรถ

[1] Economist Intelligence Unit, “What next for vaccine diplomacy?” A report by The Economist Intelligence Unit, (2021) : 2, Accessed June 22, 2021, https://www.eiu.com/n/campaigns/q2-global-forecast-2021/

[2] Chheang Vannarith, “Fighting COVID-19: China’s Soft Power Opportunities in Mainland Southeast Asia,” ISEAS Perspective, 2021 no. 66. (May 2021) : Accessed June 21, 2021. https://www.iseas.edu.sg/posts/2021-66-fighting-covid-19-chinas-soft-power-opportunities-in-mainland-southeast-asia-by-chheang-vannarith/

[3] Sebastian Strangio, “Vietnam Approves Chinese COVID-19Vaccine, Reluctantly,” The Diplomat, Accessed June 23, 2021. https://thediplomat.com/2021/06/vietnam-approves-chinese-covid-19-vaccine-reluctantly/

[4] The Straits Times, “Indonesia signs agreement with Sinovac for Covid-19 vaccine,” The Straits Times, Accessed June 23, 2021. https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/indonesia-signs-agreement-with-sinovac-for-covid-19-vaccine

[5] Seah, et al., The State of Southeast Asia: 2021 Survey Report (Survey Report), (Singapore: ASEAN Studies Centre at ISEAS-Yusof Ishak Institute, 2021), 14-23.

[6] ไอลดา พิศสุวรรณ, “วัคซีนไมตรี เครื่องมือซอฟต์พาเวอร์แบบอินเดีย,” 29 มกราคม 2564, เวิร์คพอยท์ทูเดย์, สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2564, https://workpointtoday.com/vaccinemaitr-softpower/

[7] วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา, “เจาะสนามเกมการเมืองโลก เมื่อวัคซีนกลายเป็นอาวุธการทูต,” The101.world, สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2564, https://www.the101.world/world-politics-vaccine-diplomacy/

[8] Shishir Gupta, “Chinese vaccine trial in Dhaka fell through. Its state media blames New Delhi,” Hindustatntimes.com, Accessed July 21, 2021. https://www.hindustantimes.com/world-news/indian-meddling-torpedoed-china-s-vaccine-trials-in-bangladesh-chinese-media-101611737215412.html

[9] Reuters, “WHO cites concerns about Russian Sputnik V plant, which says issues resolved,” Reuters.com, Accessed July 8, 2021. https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-review-finds-issues-with-one-russian-sputnik-v-manufacturing-plant-2021-06-23/

[10] Sebastian Strangio, “Vietnam Approves Chinese COVID-19Vaccine, Reluctantly.”


บรรณานุกรม

ภาษาอังกฤษ

BBC. (11 August 2020). Coronavirus: Putin says vaccine has been approved for use. Retrieved July 8, 2021, from BBC News: https://www.bbc.com/news/world-europe-53735718

Bhattacharjee, N. (2021, May 18). China’s Warning to Bangladesh on the Quad. Retrieved July 21, 2021, from thediplomat.com: https://thediplomat.com/2021/05/chinas-warning-to-bangladesh-on-the-quad/

Chheang Vannarith. (10 May 2021). Fighting COVID-19: China’s Soft Power Opportunities in Mainland Southeast Asia. ISEAS Perspective, 66. Retrieved June 21, 2021, from https://www.iseas.edu.sg/posts/2021-66-fighting-covid-19-chinas-soft-power-opportunities-in-mainland-southeast-asia-by-chheang-vannarith/

Gupta, S. (2021, January 21). Chinese vaccine trial in Dhaka fell through. Its state media blames New Delhi. Retrieved July 21, 2021, from www.hindustantimes.com: https://www.hindustantimes.com/world-news/indian-meddling-torpedoed-china-s-vaccine-trials-in-bangladesh-chinese-media-101611737215412.html

Iwanek, K. (2021, May 24). Don’t Write Off Indian Vaccine Diplomacy Yet. Retrieved June 24, 2021, from The Diplomat: https://thediplomat.com/2021/05/dont-write-off-indian-vaccine-diplomacy-yet/

Joseph S. Nye, J. (2008, March). Public Diplomacy and Soft Power. The Annals of the American Academy of Political and Social Science, 616, 94-109. Retrieved June 23, 2021, from https://www.jstor.org/: https://www.jstor.org/stable/25097996?seq=1#metadata_info_tab_contents

Reuters. (2021, June 23). WHO cites concerns about Russian Sputnik V plant, which says issues resolved. Retrieved July 8, 2021, from www.reuters.com: https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-review-finds-issues-with-one-russian-sputnik-v-manufacturing-plant-2021-06-23/

Seymour, M. (2020, September 14). Analysis: The Problem with Soft Power. Retrieved June 28, 2021, from Foreign Policy Research Institute: https://www.fpri.org/article/2020/09/the-problem-with-soft-power/

Sharon Seah, H. T., & Melinda Martinus, P. T. (2021). The State of Southeast Asia: 2021 Survey Report. Singapore: the ASEAN Studies Centre at ISEAS-Yusof Ishak Institute. Retrieved June 24, 2021, from https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/01/The-State-of-SEA-2021-v2.pdf

Silverstein, R. (2021, February 20). Israel paying millions to supply COVID-19 doses to Syria. Retrieved July 20, 2021, from www.aljazeera.com: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/20/israel-paying-millions-to-supply-covid-19-doses-to-syria

Strangio, S. (2021, June 9). Vietnam Approves Chinese COVID-19 Vaccine, Reluctantly. Retrieved June 23, 2021, from The Diplomat: https://thediplomat.com/2021/06/vietnam-approves-chinese-covid-19-vaccine-reluctantly/

Times, T. S. (2020, August 22). Indonesia signs agreement with Sinovac for Covid-19 vaccine. Retrieved June 23, 2021, from The Straits Times: https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/01/The-State-of-SEA-2021-v2.pdf

Unit, T. E. (2021, April 28). What next for vaccine diplomacy? Retrieved June 22, 2021, from www.eiu.com: https://www.eiu.com/n/campaigns/q2-global-forecast-2021/

Watanabe, S. (2021, March 20). COVID-19 and Chinaʼs Belt and Road Initiative in Southeast Asia. Retrieved June 20, 2021, from https://www.jfir.or.jp/: https://www.jfir.or.jp/e/studygroup/2020/maritime/210320ws-en.pdf

ภาษาไทย

ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (19 มิถุนายน 2564). โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน. เรียกใช้เมื่อ 8 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.bbc.com/: https://www.bbc.com/thai/thailand-57536561

เดลินิวส์. (22 มิถุนายน 2564). สหรัฐเผยแผนแจกวัคซีนโควิดลอตสอง ไทยยังติดโผด้วย. เรียกใช้เมื่อ 24 มิถุนายน 2464 จาก เดลินิวส์: https://www.dailynews.co.th/foreign/851492/

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. (26 มกราคม 2564). เจาะสนามเกมการเมืองโลก เมื่อวัคซีนกลายเป็นอาวุธการทูต. เรียกใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2564 จาก The101.world: https://www.the101.world/world-politics-vaccine-diplomacy/

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. (29 มกราคม 2564). ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน. เรียกใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2564 จาก the101.world: https://www.the101.world/vaccine-diplomacy-six-regions/

โอเลก โบลเดอเรฟ. (11 กุมภาพันธ์ 2564). โควิด-19 : สปุตนิก วี จากวัคซีนที่โลกกังขา สู่เครื่องมือทางการทูตที่ช่วยส่งเสริมสถานะของรัสเซีย. เรียกใช้เมื่อ 8 กรกฎาคม 2564 จาก บีบีซีไทย: https://www.bbc.com/thai/international-56011524

ไอลดา พิศสุวรรณ. (29 มกราคม 2564). ‘วัคซีนไมตรี’ เครื่องมือการทูตซอฟต์พาวเวอร์แบบอินเดีย. เรียกใช้เมื่อ 24 มิถุนายน 2564 จาก เวิร์ตพอยท์ทูเดย์: https://workpointtoday.com/vaccinemaitr-softpower/


ประวัติผู้เขียน

สวรินทร์ เพชรพิสิฐพงศ์ (6103612021)
กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี สาขาการระหว่างประเทศคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยเฉพาะเพื่อทดแทนการฝึกงาน
ภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ความคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว